วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลิตเติ้ลทรี






ลิตเติ้ลทรี   :  การสร้างจิตสำนึกอันดีงามให้แก่มนุษย์ในการเข้าใจโลกและธรรมชาติ

            วรรณกรรมที่ดีและเหมาะสำหรับเยาวชนในเมืองไทยมีไม่มากนัก  และที่สำคัญเยาวชนไทยที่สนใจอ่านวรรณกรรมทรงคุณค่าเหล่านี้มีจำนวนลดลง  ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านในปัจจุบัน     ถูกลดความสำคัญลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อสมัยใหม่ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ  โทรทัศน์  ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อเยาวชนมากขึ้นทุกที
            ลิตเติ้ลทรี  เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและน่าอ่านยิ่งเล่มหนึ่ง  เพราะเรื่องราวและสาระที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของหนังสือควรค่าแก่การค้นหาและศึกษาเป็นอย่างยิ่ง   ยิ่งไปกว่านั้นวรรณกรรมเรื่อง ลิตเติ้ลทรี นี้ยังได้รับรางวัลแอบบี้  ในปี  2534  ด้วย ( ABBY  Award Winner  1994  )
            ลิตเติ้ลทรี เป็นเรื่องของเด็กน้อยเผ่าเชโรกีชื่อ  ลิตเติ้ลทรี  ( ต้นไม้น้อย )  ซึ่งกำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ  และได้อาศัยอยู่กับปู่และย่า   พวกเขาเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศสหรัฐอเมริกา  ดังนั้นตลอดเรื่องผู้แต่งแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงความคิดและวิถีการดำรงชีวิตของชาวเผ่าเชโรกีที่แปลกแยกจากสังคมของคนผิวขาวอย่างสิ้นเชิง  ถึงแม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกถึงความแปลกแยกและความเป็นอื่นของตนที่มีต่อสังคมรอบตัว  แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแนวคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นไปตามความเจริญและความมีอารยธรรมของสังคมของคนผิวขาวเลย  เพราะพวกเขาตระหนักตลอดเวลาว่าสังคมของคนผิวขาวนั้นเต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวงและมีแต่การแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น  ในการเสนอ    เรื่องราวและแนวคิดเหล่านี้ผู้แต่งมักจะนำเสนอออกมาโดยผ่านมุมมองและการบอกเล่าของปู่อยู่ตลอดเวลา  ซึ่งน้ำเสียงของปู่ขณะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นมักปรากฏออกมาในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์และ     การเยาะเย้ยถากถางเสียเป็นส่วนใหญ่  โดยเฉพาะขณะที่ปู่พูดถึงนักการเมืองผิวขาวให้ลิตเติ้ลทรีฟังว่า  ปู่บอกว่ามีคนมากมายที่อยากได้อำนาจ  มันก็เลยต้องต่อสู้กันวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา  ปู่บอกว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของกรุงวอชิงตันก็คือ  มีนักการเมืองเลว ๆ อยู่ที่นั่นมากเกินไป ( หน้า  95 ) 
            นอกจากเรื่องความแปลกแยกและความเป็นอื่นที่ผู้แต่งกล่าวถึงในเรื่องแล้ว  ผู้แต่งยังนำเสนอเรื่องการเอารัดเอาเปรียบของคนผิวขาวที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ด้วย  ผู้อ่านจะพบว่าทั้ง ๆ ที่ชาวเชโรกีนับว่าเป็นเจ้าของประเทศนี้ก่อนชนผิวขาวมานานนับศตวรรษ   แต่กลับถูกรุกรานและขับไล่ออกจากถิ่นที่อยู่ของพวกเขาอย่างไร้ความเมตตา  ความรู้สึกที่เกิดกับผู้อ่านขณะที่รับรู้โศกนาฏกรรมของชาวเชโรกีไปพร้อมกับ  ลิตเติ้ลทรีนั้นก็ไม่ได้ต่างจากลิตเติ้ลทรีสักเท่าไร  ที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำเสียงและเรื่องราวที่ผ่านการบอกเล่าของย่านั้นผู้แต่งค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์และอารมณ์สะเทือนใจอย่างผสมกลมกลืนจนทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความโศกเศร้าที่ชนเผ่าเชโรกีได้รับอย่างไม่ยากนัก    โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์ของการอพยพย้ายถิ่นของชาวเชโรกีที่บรรยายว่า  ขณะที่พวกเขาเดินเท้าเป็นระยะทางอันยาวไกลไปทางทิศตะวันตกโดยมีทหาร    รัฐบาลขี่ม้าถือปืนนำหน้า  ขนาบข้างและประกบหลังนั้น  ทำให้ชาวเชโรกีจำนวนไม่น้อยล้มตายไประหว่างการเดินทางซึ่งคนที่ตายส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นเด็กเล็ก  คนแก่และคนป่วย  ดังนั้นเมื่อจำนวนคนตายเพิ่มมากขึ้นทุกที  ชาวเชโรกีเหลืออยู่ต้องอุ้มศพญาติพี่น้องของตนเดินทางต่อไป  เพราะทหารอนุญาตให้ฝังศพเหล่านี้   ในทุก ๆ 3 วัน

                            เด็กชายตัวน้อยอุ้มศพน้องสาวของตน  และหลับเคียงข้างเธอที่พื้นดินในยามค่ำ รุ่งเช้า
เขาก็อุ้มเธอขึ้นมา  พาเธอเดินต่อไป
                        สามีอุ้มศพภรรยา  ลูกชายอุ้มศพแม่  ศพพ่อ  แม่อุ้มศพลูกน้อย  พวกเขาแบกศพกันไป
ในอ้อมแขน  เดินไป … ”    ( หน้า 47 )

            ยิ่งไปกว่านั้นผู้แต่งยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของลิตเติ้ลทรีทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณอย่างเป็นระบบ  ในเรื่องที่เขาค่อย ๆ ซึมซับและวิถีของธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป  จนท้ายที่สุดเขาสามารถบรรลุถึงขั้นสูงสุดในการดำเนินชีวิตอย่างสอดประสานเข้ากับธรรมชาติอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน  ความรู้และความเข้าใจธรรมชาติตามวิถีของเชโรกีนี้ลิตเติ้ลทรีได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดมาจากปู่และย่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา  เขาได้เรียนรู้และทดสอบเพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของพืชพันธุ์ในฤดูกาลต่าง ๆ  หรือการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของสัตว์จนกระทั่งสามารถรู้และเข้าใจถึงความหมายของอากัปกิริยาต่าง ๆที่สัตว์แสดงออกมาได้เป็นอย่างดี 
            อีกทั้งวรรณกรรมเรื่องนี้มิได้เหมาะสำหรับเยาวชนเท่านั้น  แต่ยังเหมาะสำหรับผู้อ่านทุกเพศทุกวัยอีกด้วย  เนื่องจากผู้แต่งได้แทรกปรัชญาชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย  โดยเฉพาะในเรื่องของธรรมชาตินั้นในวรรณกรรมเรื่องนี้  ผู้แต่งชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าการเข้าถึงธรรมชาติของชาวเชโรกีและลิตเติ้ลทรีนั้นสามารถแบ่งได้เป็น  3  ระดับใหญ่ ๆ คือ  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพาและไม่ทำลายธรรมชาติ  เพราะ      ชาวเชโรกีส่วนใหญ่ปลูกฝังลูกหลานของตนให้อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติรอบตัวด้วยความรัก  ดังเช่นวิถีการดำเนินชีวิตที่ปู่ยึดถึงและปฏิบัติตลอดมา ความคิดปู่เป็นแบบอินเดียนที่อุทิศตนให้ธรรมชาติเหมือนอย่างที่ชาวอินเดียทำ  ไม่พยายามที่จะอยู่เหนือธรรมชาติหรือนำธรรมชาติไปใช้ในทางที่ผิด  แต่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ  พวกเขาจึงรักความคิดแบบนี้  และการรักษาธรรมชาติทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ( หน้า 135 )  หรือการที่ชาวเชโรกีพยายามชี้ให้เห็นประโยชน์ของป่าเนื่องจากป่าเปรียบเสมือนบ้านที่แสนอบอุ่นของพวกเขา  ซึ่งปู่ได้พยายามพร่ำสอนลิตเติ้ลทรีให้รู้ถึงประโยชน์ของป่าตลอดเวลา “ … ปู่บอกว่า  ป่าจะเลี้ยงเรา  ถ้าเรารู้จักอยู่ร่วมกับป่า  แทนที่จะทำลายป่า  อย่างไรก็ตามเรายังต้องมีความความรู้ในการอยู่กับป่า   ( หน้า 113–114 )
            นอกจากนี้ผู้แต่งยังเสนอให้ผู้อ่านเข้าถึงและตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติเพื่อมิให้ผู้อ่านทำลายธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องการล่าสัตว์ซึ่งตลอดเรื่องผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าลิตเติ้ลทรีซึงซับอยู่โดยตลอดว่า  การล่าสัตว์นั้นจะต้องเบียดเบียนสัตว์ให้น้อยที่สุดและจะฆ่าสัตว์เฉพาะตัวที่ใช้ทำอาหารเท่านั้นซึ่งปู่สอนลิตเติ้ลทรีอยู่ตลอดว่า จงเอาเท่าที่จำเป็น  เมื่อเจ้าล่ากวาง  อย่าเลือกเอาตัวที่ดีที่สุด  ให้เลือกตัวที่เล็กและเชื่องช้าเพื่อกวางเหล่านี้จะได้เติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ   และมีเนื้อให้เรากินอย่าสม่ำเสมอ  เสือดำปาโก้รู้กฎข้อนี้ดี  หลานเองก็จงจำเอาไว้  ( หน้า 11 )  แนวคิดเช่นนี้คล้ายกับแนวคิดเรื่องนิเวศน์สำนึกที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเพิ่งเริ่มตระหนักและเพิ่งหันกลับมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้นหลักจากที่คนส่วนใหญ่ได้ทำลายและแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติมานานแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงธรรมชาติประการสุดท้ายนี้ยังพัฒนาไปถึงระดับจิตวิญญาณ ในที่นี้กุญแจสำคัญที่ช่วยให้ลิตเติ้ลทรีเข้าถึงธรรมชาติในระดับนี้ได้คือ  ความเข้าใจและความรักในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ  ทั้งนี้เพราะลิตเติ้ลทรีเชื่อว่า ความเข้าใจกับความรักเป็นสิ่งเดียวกัน  เว้นแต่ว่าเรากระทำในสิ่งตรงกันข้ามบ่อยครั้งเกินไป  โดยพยายามเสแสร้งว่าตนรักสิ่งนี้สิ่งนั้นทั้งที่ไม่เข้าใจสิ่งที่บอกว่ารัก  ซึ่งอาจเป็นไปได้  ผมเข้าใจว่า  ผมต้องพยายามเข้าใจทุกคนอย่างจริงจัง  และเหตุที่ลิตเติ้ลทรีต้องพัฒนาจิตวิญญาณของเขาอย่างหนักเนื่องจากเขามั่นใจว่าเมื่อตายไปแล้ววิญญาณของเขาจะได้พบกับปู่ ย่าและอยู่ร่วมกันตลอดไปซึ่งเพื่อนพ้อง ชาวเชโรกีคนอื่น ๆ ก็เชื่อในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน  ย่าสอนลิตเติ้ลทรีในเรื่องนี้  ย่าบอกว่า  ปู่ก็กำลังเข้าใกล้ความเข้าใจนี้โดยไม่รู้ตัวและพวกเขาจะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป  เพราะจิตวิญญาณของพวกเขาจดจำกันและกันได้     ( หน้า 70 )    ความเชื่อในเรื่องที่จิตวิญญาณของคนจะพบกันหลังจากตายไปแล้วนั้นฝังแน่นอยู่ในจิตใจของย่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่านซึ่งผู้อ่านสามารถรับรู้ความคิดในเรื่องนี้ผ่านจดหมายฉบับสุดท้ายที่ย่าเขียนถึงลิตเติ้ลทรีว่า  ลิตเติ้ลทรี  ย่าต้องไปแล้ว  เมื่อหลานเฝ้าฟังและสัมผัสป่า  หลานจะสัมผัสเราด้วย   เราจะรอหลาน  ชีวิตหน้าต้องดีกว่านี้  ไม่ต้องห่วง  ( หน้า 234 )
อนึ่งผู้แต่งยังเสนอและสอดแทรกแนวคิดปรัชญาที่ลุ่มลึกไว้ตลอดเรื่องซึ่งผู้อ่านสามารถสัมผัสและทำความเข้าใจแนวคิดเหล่านั้นได้ไม่ยากนัก  เนื่องจากผู้แต่งบรรยายด้วยภาษาที่ง่าย  พร้อมทั้งตัวอย่างที่ยกประกอบนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้อ่าน  อีกทั้งมุมมองและแนวคิดต่าง ๆ ยังถูกถ่ายทอดโดยผ่านมุมมอง แนวคิดและคำพูดของปู่และย่าในขณะที่พวกเขาพูดคุยและสั่งสอนลิตเติ้ลทรีให้เข้าใจและตระหนักถึงความเป็นจริงในธรรมชาติ  ดังเช่นการที่ปู่สอนลิตเติ้ลทรีถึงธรรมชาติของฤดูหนาวว่ามีไว้เพื่อชำระสิ่งต่าง ๆ ให้สะอาดและทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า  ปู่บอกว่า  ฤดูหนาวที่หนาวรุนแรงอย่างนี้มีความจำเป็นอยู่บ้างในบางครั้ง  เป็นวิถี  ธรรมชาติในการชำระสิ่งต่าง ๆ ให้สะอาดและทำให้สิ่งต่าง ๆ เติบโตได้ดีกว่าเดิม น้ำแข็งทำให้กิ่งไม้ที่อ่อนแอหักลง เหลือเพียงแต่กิ่งที่อ่อนแอเท่านั้นที่จะผ่านฤดูหนาวไปได้( หน้า 223 ) ซึ่งแนวคิดปรัชญาที่ผู้แต่งสอดแทรกไว้ตลอดเรื่องนี้ทำให้ลิตเติ้ลทรีสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกและสังคมได้อย่างเป็นสุข
            กล่าวโดยสรุปวรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีเรื่องราวและความลึกลับเกี่ยวกับความเข้าใจโลก  ชีวิตและธรรมชาติอีกมากมายให้ผู้อ่านเข้ามาค้นหา  แสวงหาและสัมผัสด้วยตัวเอง  นอกจากนั้นวรรณกรรมเรื่องนี้ยังช่วยเปิดโลกทัศน์และมุมมองที่ผู้อ่านอาจไม่เคยสนใจหรือเพิกเฉยที่จะเฝ้าดูหรือสัมผัสกับเรื่องเหล่านี้อย่าง ถ่องแท้เฉกเช่นลิตเติ้ลทรี  ด้วยเหตุนี้เพียงไม่กี่หน้าที่ท่านเปิดอ่านท่านอาจสัมผัสถึงมุมมองและแนวคิดที่แปลกใหม่  แตกต่างและลุ่มลึกกว่าที่เคยพบ
            เมื่ออ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จบลงผู้ที่จะเติบโตและพัฒนาทางปัญญา  ร่างกายและจิตวิญญาณจึงมิน่าจะมีแค่เพียงลิตเติ้ลทรีเท่านั้น    แต่ผู้อ่านอีกจำนวนไม่น้อยน่าที่จะเรียนรู้เรื่องราว  อีกทั้งประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้และพัฒนาไปพร้อม ๆ กับลิตเติ้ลทรี
            บททดสอบสุดท้ายที่ผู้แต่งทิ้งไว้ให้ลิตเติ้ลทรี คือให้เขาใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังคนเดียวโดยปราศจากปู่และย่าที่คอยเฝ้าดูและสั่งสอนอีกต่อไป  บททดสอบนี้จึงอาจเป็นเสมือนบททดสอบสำหรับผู้อ่านด้วยเช่นกัน   เพราะเมื่อผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงวิถีธรรมชาติอย่างถ่องแท้ในระดับหนึ่งแล้วนั้น  ท่านสามารถนำความเข้าใจเหล่านั้นไปปรับใช้เพื่อดำรงชีวิตรวมกับธรรมชาติอย่างสงบสุขได้หรือไม่เพียงใด
            ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจโลก ชีวิตและธรรมชาติ   เฉกเช่นลิตเติ้ลทรีให้ถือกำเนิดและเติบโตมากยิ่งขึ้น

----------------------

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ใบไม้ร่วงสู่ราก






ใบไม้ร่วงสู่ราก  : นวนิยายแห่งการแสวงหาการยอมรับของผู้หญิงคนหนึ่ง


            ใบไม้ร่วงสู่ราก (Falling leave) นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติของแอเดอลีน  เหยียน มาห์ นักเขียนผู้หญิงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เกิดโตมาในครอบครัวของเธอที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมืองของจีน นับตั้งแต่ยุคจักรพรรดิองค์สุดท้ายถึงประเทศจีนยุคปัจจุบัน  แปลเป็นภาษาไทยโดย ปวีณา    วิริยประไพกิจ
นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นภาพชีวิตและครอบครัวของผู้หญิงคนหนึ่งแอเดอลีน      เหยียน มาห์  ผู้ที่ถูกกระทำทั้งจากครอบครัวและจากสังคมรอบด้าน  ทั้งยังต้องต่อสู้กับอุปสรรค อคติต่างๆรอบตัวมาตลอดชีวิตเพื่อต้องการให้คนในครอบครัวยอมรับในความสำเร็จของเธอ แต่เธอไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อชะตากรรมต่างๆที่โหมกระหน่ำใส่เธอ   ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นภาพความอยุติธรรมต่างๆที่แอเดอลีนได้รับ  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากเหตุผลประการสำคัญคือเธอเป็นผู้หญิง  ทัศนคติและมุมมองในสังคมชาวจีนแผ่นดินใหญ่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว เธอจึงเป็นเสมือนผู้ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา  เธอถูกกลั่นแกล้งและไม่เป็นที่ยอมรับแม้ในหมู่พี่น้องของเธอเอง และเธอเองก็ตระหนักในความอยุติธรรมต่างๆเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะเธอยอมรับในตอนหนึ่งว่า "ฉันรู้ตัวดีว่าฉันเป็นลูกที่คุณพ่อรักน้อยที่สุด  เพราะฉันเป็นเด็กผู้หญิง  และที่สำคัญเพราะคุณแม่ต้องมาเสียชีวิตลงเพราะคลอดฉัน  ไม่ว่าฉันจะทำอะไรก็ไม่เป็นที่ถูกใจของคุณพ่อ เหนียง หรือพี่ๆน้องๆ ของฉันแม้แต่นิด แต่ฉันก็ไม่เคยหยุดเชื่อว่า  หากฉันพยายามอย่างที่สุดโดยไม่ท้อถอย  สักวันหนึ่งคุณพ่อ เหนียง และทุกคนในครอบครัวก็จะภูมิใจในตัวฉัน" (หน้า 85) นอกจากนี้ เหนียง แม่เลี้ยงของเธอเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้ชีวิตของเธอประสบกับความทุกข์มากขึ้น เนื่องจากเหนียงพยายามสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องของเธอเพื่อที่จะให้ปกครองได้ง่ายขึ้น  ประกอบกับเหนียงรักลูกของตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะลูกชาย ซึ่งการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างลูกของตนและลูกเลี้ยงของเหนียงสร้างรอยแผลที่กว้างขึ้นและลึกขึ้นในจิตใจของแอเดอลีนตลอดมา แม้ว่าแอเดอลีนจะพยายามทำดีต่อเหนียงเพียงใดก็ไม่อาจลบความเกลียดชังที่เหนียงมีต่อเธอได้เลยสักครั้ง  จนกระทั่งเหนียงตายจากไปเธอก็นำความเกลียดที่มีต่อแอเดอลีนไปพร้อมกับเธอด้วย 
ความอยุติธรรมต่างๆที่เธอได้รับนั้นมิได้มีเฉพาะแต่ในครอบครัวเธอและในสังคมของชาวจีนเท่านั้น  แต่เมื่อเธอเดินทางไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษ  ความอยุติธรรมต่างๆก็ไม่ได้หายไปจากชีวิตของเธอ  เธอก็ต้องเผชิญกับความเกลียดชัง และความไม่เท่าเทียมกันอีก ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงและมาจากจีน ซึ่งเธอได้ระบายความรู้สึกในเรื่องนี้ว่า "การเหยียดสีผิวยังปรากฏอยู่ทั่วไปในช่วงทศวรรษที่ 1950 ในประเทศอังกฤษ  เพื่อนนักเรียนอังกฤษไม่ค่อยสุงสิงกับฉันนัก บางคนอึดอัด ในขณะที่บางคนถึงกับแสดงอาการดูถูกอย่างโจ่งแจ้งมันยากที่ฉันจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อการดูหมิ่นทางเพศและทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง…" (หน้า 164-165)
ตลอดทั้งเรื่องผู้อ่านจะพบว่าแอเดอร์ลีนพยายามที่จะเรียนหนังสืออย่างหนัก เนื่องจากเธอถูกปลูกฝังโดยเหยียเยี่ย(ปู่) และป้าบาบาให้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเหยียเยี่ยมักจะสอนอยู่ตลอดเวลาว่า "หลานมีชีวิตอยู่ข้างหน้าอีกทั้งชีวิต  จงเป็นคนฉลาด ตั้งใจเรียนหนังสือให้ดี และจงเป็นอิสระไม่พึ่งใคร อย่าจบลงด้วยการถูกจับแต่งงานอย่างลิเดีย  หลานต้องเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง  ไม่ว่าใครจะขโมยอะไรจากเจ้าได้  แต่ก็ไม่มีใครสามารถเอาความรู้ไปได้  โลกเราได้เปลี่ยนไปแล้ว  หลานต้องสร้างชีวิตของตนเองภายนอกบ้านนะ" (หน้า 143-144) ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเกิดความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าการศึกษาจะช่วยให้เธอได้รับการยอมรับทั้งจากคนในครอบครัว และรวมไปถึงคนรอบข้างด้วย  เพราะเธอเชื่อว่าการศึกษาคือทางเดียวที่จะช่วยให้เธอหนีไปจากความอยุติธรรมต่างๆไปสู่ อิสรภาพและความสำเร็จ เธอจึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งเรียนสำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์จากประเทศอังกฤษ และเดินทางไปทำงาน มีครอบครัวและตั้งรกรากที่อเมริกาในเวลาต่อมา  แม้ว่าเธอจะประสบความสำเร็จในการศึกษา อาชีพการงานและครอบครัว หากเธอก็ไม่อาจได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริงคือการยอมรับของคนในครอบครัวของเธอ ดังตอนหนึ่งที่เธอสารภาพว่า   "สำหรับฉันแล้ว  สิ่งที่ฉันอยากได้ไม่ใช่เงินทองเลย  เพราะทั้งบ๊อบและฉันเองก็มีอาชีพที่มั่นคง  มีรายได้ดีและสวัสดิการที่ดีอยู่แล้ว  แต่ความต้องการของฉันเป็นความต้องการพื้นฐานมากกว่านั้นคือ  ความอยากจะเป็นที่ยอมรับ  ความต้องการที่สุดที่จะมีตัวตนชัดเจนในครอบครัวเป็นการเรียกร้องจากก้นบึ้งของหัวใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา  ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกปฏิเสธมาตั้งแต่วัยเด็ก  มันคือความต้องการที่มีรากฝังแน่นที่อยากให้พวกเราทุกคนได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน ฉันทนความคิดที่ว่าฉันหรือใครบางคนจะต้องถูกกีดกันออกมา  จะด้วยเพราะความลำเอียงหรือความไม่แยแสก็ตาม แม้ตัวฉันจะรู้ดีว่าเหนียงไม่ใช่คนดีหรือใจดีอะไร แต่ฉันก็ยังโหยหาการยอมรับจากท่าน  เหมือนกับที่ฉันเคยอยากได้ความภูมิใจและการสนับสนุนจากคุณพ่อ ซึ่งในแง่นี้นั้นคุณพ่อและเหนียงถือเป็นบุคคลเดียวกันสำหรับฉัน" (หน้า 312 -313)  แต่ความพยายามของเธอเกือบจะไร้ค่า เพราะท้ายที่สุดแล้วเธอก็ถูกตัดออกจากกองมรดกและไม่ได้รับการยอมรับอย่างจริงใจจากครอบครัวของเธออยู่ดี  หากแต่การค้นพบพินัยกรรมของพ่อในตอนท้ายเรื่องกลับเป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำและหล่อเลี้ยงความรู้สึกของเธอให้ดีขึ้น  หลังจากที่ถูกทุกคนในครอบครัวปฏิเสธ เธอก็ค้นพบว่าอย่างน้อยก็ยังมีพ่อที่ยังยอมรับเธอเป็นลูกและยังไม่ได้ตัดเธอการกองมรดก การยอมรับของพ่อมีค่าอย่างที่สุดในความรู้สึกของเธอ เพราะมันเท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะต่อสิ่งที่เธอต่อสู้และต้องเผชิญมาตลอดชีวิต  แม้ว่าสิ่งที่เธอได้รับจากพ่อจะเป็นเพียงกระดาษ ไม่มีเงินทองที่เป็นมรดกจริงๆเหลืออยู่แล้วก็ตาม  แต่กระดาษแผ่นเดียวนี่แหละที่ทรงคุณค่าและมีมูลค่าต่อจิตใจของเธอมากกว่ามรดกที่พี่น้องของเธอกำลังได้รับอยู่ในขณะนี้เสียอีก   เธอเล่าว่า  "บ๊อบและฉันนั่งลงบนขอบเตียงของเหนียง  และอ่านพินัยกรรมของคุณพ่อทวนครั้งแล้วครั้งเล่า  ฉันรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงคุณพ่ออีกครั้ง  ความรู้สึกนี้เป็นเสมือนว่าท่านได้ลุกขึ้นจากหลุมฟังศพมาโอบกอดฉันโดยเฉพาะ  ความประสงค์ของท่านทั้งหมดได้บรรเทาความปวดร้าวในใจทีเดียวฉันกอดสามีฉันแน่น  ในมือยังกำพินัยกรรมของคุณพ่อไม่ปล่อย  นี่คือสั่งที่มีความหมายสำหรับฉัน  อย่างน้อยที่สุดท่านก็ไม่ได้ละเว้นฉันไว้  บางทีท่านอาจรักฉันจริงๆก็ได้…" (หน้า 333-334)
นวนิยายเรื่องนี้ นอกจากจะสะท้อนภาพชีวิตของแอเดอลีนแล้ว ยังถ่ายทอดให้ผู้อ่านเห็นและเข้าใจทัศนคติและมุมมองของคนจีนและสังคมจีน ไม่ว่าในเรื่องของการให้ความสำคัญกับเพศชายและการเหยียดเพศหญิงได้เป็นอย่างดี ซึ่งตลอดทั้งเรื่องทัศนคติและมุมมองเหล่านั้นถูกเน้นย้ำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้อ่านตระหนักถึงความเชื่อการปลูกฝังความคิดดังกล่าวถูกถ่ายทอดมาในสังคมชาวจีนอย่างหนักแน่นและยาวนาน  เช่นตอนหนึ่งที่ย่าเล็กกล่าวถึงประเพณีการรัดเท้าของชาวจีนว่า "ตั้งแต่คุณย่าอายุเพียงสามปี  ท่านก็ถูกรัดเท้าด้วยผ้าหนาแคบผืนยาวที่รัดตรึง  เพื่อฝืนนิ้วทั้งสี่ลงใต้ฝ่าเท้า  เหลือแต่นิ้วโป้งโผล่ออกมา  ผ้านี้จะถูกดึงให้แน่นทุกวันๆ นานนับสิบๆปี  กดนิ้วบีดเท้าให้ม้วนลงอย่างแสนเจ็บปวด  ทำให้การเติบโตของเท้าหยุดชะงัก  เพื่อให้ผลลัพธ์เป็นเท้าเล็กๆ อันเป็นสุดยอดปรารถนาของบรรดาหนุ่มชาวจีน  ผู้หญิงทั้งหลายจึง 'พิการ' และลักษณะการย่างเดินแบบนวยนาดอ่อนช้อยเกิดเพราะเจ็บ  เป็นสัญลักษณ์ของทั้งความจำยอม และความมั่งคั่งของตระกูล…" (หน้า 28) นอกจากนี้ ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ความสำคัญของครอบครัว และการยอมรับของคนในครอบครัว นับเป็นแนวคิดของขงจื้อที่คนจีนยึดถือเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังตอนหนึ่งที่ว่า "ตลอดมานี้เหนียงได้ใช้ความคิดอ่านดั้งเดิมของขงจื้อเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดรและเรื่องการแตกกิ่งก้านสาขาของครอบครัวออกไป  ซึ่งถือเป็นกำลังใจสำคัญที่ตรึงคนจีนกับรากเหง้าของตนเองนั้นเพื่อแผ่อิทธิพลของตน…" (หน้า 313)
ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแอเดอลีนและครอบครัวของเธอยังช่วยสะท้อนให้ผู้อ่านมองเห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของจีนมากขึ้น  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากสมัยจักรพรรดิองค์สุดท้ายไปสู่ยุคคอมมิวนิสต์ ซึ่งประวัติศาสตร์ในช่วงต่างๆถูกเล่าและถ่ายทอดจากมุมมองของตัวละครต่างๆในเรื่อง นับตั้งแต่ชีวิตและเรื่องราวของคุณย่าเล็กที่เกิดและเติบโตผ่านยุคต่างๆตั้งแต่จักรพรรดิองค์สุดท้าย สงครามฝิ่น และความเจริญรุ่งเรื่องของเซี้ยงไฮ้ ต่อมาในยุคของพ่อก็พบความเปลี่ยนแปลงต่างๆในประเทศจีนนับตั้งแต่ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้พ่อและครอบครัวของเธอตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกง ในขณะที่ป้าบาบายังคงอยู่ในประเทศจีนในยุคคอมมิวนิสต์ ภาพความเปลี่ยนแปลงต่างๆในประเทศจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมถูกสะท้อนผ่านจากมุมมองและเรื่องเล่าที่ป้าบาบาเล่าให้แอเดอลีนฟัง  นอกจากนี้ในยุคสุดท้ายของพ่อ และยุคของเจมส์พี่ชายคนที่สาม เป็นประวัติศาสตร์ในช่วงที่อังกฤษกำลังจะคืนฮ่องกงให้กับจีน ทำให้ผู้มีอันจะกินในฮ่องกงต่างขอโอนสัญชาติและเตรียมย้ายถิ่นฐานจากฮ่องกงไปยังอังกฤษหรือแคนาดาด้วยเหตุนี้ ขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ผู้อ่านจึงไม่ได้รับรู้เฉพาะข้อมูลทางประวัติศาสตร์แต่เพียงถ่ายเดียว หากเป็นการรับรู้ประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองและความคิดของคนจีนซึ่งได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นโดยตรง ซึ่งมุมมองและทัศนคติของชาวจีนต่อความเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจวิธีคิดและวิถีการดำรงชีวิตของคนจีนในช่วงนั้นมากขึ้น
ความน่าสนใจอีกประการในนวนิยายเรื่องนี้ที่มิอาจละเลยไปได้คือ  นอกจากผู้เขียนจะนำปรัชญาการดำเนินชีวิตของคนจีนมาเป็นชื่อของบทต่างๆในเรื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเน้นย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดของแอเดอลีนในแต่ละบทให้ชัดเจนขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดที่แฝงไว้ในคำคมต่างๆได้ชัดเจนขึ้นด้วย  ข้อคิด คำคม และปรัชญามิได้มีปรากฏเฉพาะในชื่อบทเท่านั้น  หากแฝงและสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ราวกับสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำรงชีวิตของคนจีนจนไม่อาจแยกกันออก ปรัชญา คติ ความเชื่อและคำสอนต่างๆเหล่านี้นอกจากจะสื่อผ่านภาษาที่งดงามแล้ว  ความแหลมคมของความคิดที่สอดแทรกอยู่ก็ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความลุ่มลึกปัญญามากขึ้น หากนำข้อคิดที่ได้รับกลับไปทบทวนและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตนต่อไป     เพราะแนวคิดที่ปรากฏในเรื่องมีความสากลพอ แม้ว่าผู้อ่านที่อยู่ต่างสังคมหรือต่างวัฒนธรรมก็สามารถเข้าใจและเข้าถึงแก่นความคิดเหล่านั้นได้  อาทิ การอธิบายความหมายของคำว่า "เริ่น" (อดทน) ของเหยียเยี่ยว่า   "แบ่งตัวอักษร เริ่น เป็นสองส่วน คือบนและล่าง ส่วนบน เตา แปลว่ามีด แต่มีเส้นคาดเป็นปลอกหุ้มอยู่บนใบมีด ส่วนท่อนล่าง ซิน ซึ่งแปลว่า หัวใจ เมื่อเรารวมทั้งสองส่วนด้วยกัน คำนี้ก็กำลังบอกเรื่องราวหนึ่งแก่เรา แม้ลูกชายพ่อจะทำให้พ่อเจ็บปวดร้าวใจ แต่พ่อก็จะปกปิดความเจ็บปวดนั้นไว้และอยู่ต่อไป สำหรับพ่อแล้ว คำว่า เริ่น หรืออดทนนี้ แสดงถึงบทสรุปของวัฒนธรรมและความเจริญของจีนนั่นเอง" (หน้า 105)
ผู้แต่งมิได้จงใจจะให้ผู้อ่านสัมผัสและรับรู้เฉพาะความทุกข์ทนและความอยุติธรรมต่างๆที่แอเดอลีนได้รับเท่านั้น  แต่ความอดทน ความพยายาม ความกล้าหาญ และความเข้มแข็งของเธอซึ่งนับว่าเป็นพลังสำคัญที่ผลักดันให้เธอต่อสู้และก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่ท้อถอยและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆอันเป็นแก่นแท้หรือเป็นกุญแจสำคัญที่ผู้แต่งต้องการสื่อไปยังผู้อ่านเพื่อนำไปปรับใช้กับตนเมื่อจำต้องประสบกับอุปสรรคและปัญหาต่างๆอีกมากมายในชีวิตต่อไป อารมณ์ชำระใจ(catharsis)  ที่ผู้เขียนชดเชยให้กับผู้อ่านในตอนท้ายของเรื่อง ขณะที่แอเดอลีนดูแลป้าบาบาที่ป่วยและกำลังใกล้ตาย เธอได้มีโอกาสฟังนิทานของป้าบาบา ซึ่งนิทานของท่านมิได้กระตุ้นให้เธอมองเห็นและเชื่อมั่นในคุณค่าของเธอเท่านั้น หากเป็นเสมือนมนต์วิเศษที่เข้ามาชุบใจ ทั้งยังนำมาซึ่งความผาสุกและที่พักพิงทางใจของเธอจริงๆด้วย  คุณค่าของบทเรียน การตระหนักรู้ และความสุขสงบเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในหัวใจของเธอเท่านั้น  แต่มันได้แผ่กระจายออกมาปกคลุมในหัวใจผู้อ่านทุกดวงที่ร่วมอ่าน เติบโต และทบทวนมันไปพร้อมๆกับเธอด้วย

------------------------------------------

ความสุขของกะทิ

          

         งามพรรณ  เวชชาชีวะ เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่นักอ่านวรรณกรรมแปล  แต่ ความสุขของกะทิ  นับว่าเป็นได้งานเขียนชิ้นแรกที่เธอกล่าวว่ากลั่นกรองจากประสบการณ์และข้อสังเกตในชีวิตและโลกรอบตัว  แม้ว่าผลงานชิ้นนี้จะตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546  แต่กลับเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้อ่านชาวไทยมากขึ้นเมื่อวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียหรือซีไรต์ในปี 2549  ความสุขเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีหนังสือจำนวนมากให้ข้อคิดเกี่ยวกับวิธีดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข แต่ทัศนะเกี่ยวกับความสุขในงานวรรณกรรมอาจจะไม่ได้สื่อความอย่างตรงไปตรงมาและเป็นขั้นเป็นตอน ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมเรื่องนี้
คำพูดประโยคหนึ่งในเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้ก็คือ "ครั้งหนึ่งแม่เคยบอกว่า คนเราก็ไม่ต่างจากตัวละครในหนังสือที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตและเมื่อผ่านพ้นมาได้ก็จะมีความลุ่มลึกในเนื้ออารมณ์  เป็นคนเต็มคนมากขึ้นและมองทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป" (หน้า 120)  คำพูดของแม่ประโยคนี้ อาจนับได้ว่าเป็นข้อสรุปของปรัชญาและมุมมองชีวิตของผู้แต่งที่ต้องการสื่อผ่านเรื่องราวของกะทิ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องผ่านบททดสอบสำคัญในชีวิตด้วยวัยเพียง 9 ขวบ จากเด็กหญิงที่มีชีวิตเรียบง่ายกับตายายที่บ้านริมคลอง  กลับต้องเผชิญปัญหาอันเป็นดั่งคลื่นใต้น้ำที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางชีวิตอันสุขสงบของกะทิและคนรอบข้าง  ผู้อ่านสามารถมองเห็นเงื่อนงำของปมปัญหาต่างๆได้จากประโยคอันเป็นเสมือนข้อความเกริ่นนำในแต่ละบท ซึ่งยิ่งอ่านผ่านไปมากเท่าใด  เงื่อนงำเหล่านั้นก็ยิ่งแจ่มชัดและเปิดเผยแง่มุมของความคิดถึงและโหยหาแม่ที่ซ่อนเร้นในจิตใจของกะทิมากขึ้น  เช่น "แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา" (หน้า 13)  "ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่" (หน้า 22) "กะทิจำหน้าแม่ไม่ได้แล้ว" (หน้า 26) หรือ "อยากรู้ว่าแม่คิดถึงกะทิบ้างไหมนะ" (หน้า 36)  นอกจากประโยคอันเป็นข้อความเกริ่นนำในแต่ละบทแล้ว  ผู้เขียนยังคงสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ผ่านคำพูดและกิริยาท่าทางของตาและยายในบางครั้งด้วย เช่น  "…ตาพูดลอยๆว่าอยู่ที่ไหนก็ดูพระจันทร์ดวงเดียวกัน กะทิรู้ได้เองว่า ตาหมายถึงใครคนหนึ่งที่กำลังมองดูดวงจันทร์บนฟ้าอยู่ตอนนี้เหมือนกัน  ใครคนที่หัวใจของกะทิร้องเรียกหาอยู่ทุกลมหายใจ" (หน้า 34)
เหตุผลการจากไปของแม่ รวมทั้งเรื่องราวต่างๆของแม่ดูจะเป็นปริศนาที่ไม่ได้รับการเปิดเผยให้ปรากฏอยู่ในช่วงแรกของเรื่อง โดยเฉพาะในตอน "บ้านริมคลอง" เลย  ปริศนาดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามในใจผู้อ่านว่า การจากไปของแม่นั้นเป็นการจากเป็นหรือจากตาย  อีกทั้ง ความรู้สึกที่แฝงเร้นในจิตใจของกะทิสร้างให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสงสารอย่างมาก เนื่องจากตลอดเวลาที่กะทิแสดงออกให้คนรอบข้างเห็นว่ามีความสุขกับชีวิต  แต่ลึกๆในจิตใจแล้วกลับมีแต่ความหม่นเศร้าและโหยหาแม่อยู่ตลอดเวลา  ซึ่งเหตุผลสำคัญที่กะทิไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตนออกมานั้นก็เพราะกะมิรู้สึกว่าการพูดถึงแม่นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบ้านหลังนี้
          แต่เรื่องราวอันเป็นประดุจปริศนานี้ได้เผยตัวออกมาอย่างแจ่มชัดในตอนที่ 2 คือ "บ้านชายทะเล" ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายเหตุผล รวมทั้งความรู้สึกของแม่ที่จำเป็นต้องจากกะทิไป  ทั้งๆที่ยังรักกะทิมากก็ตาม และกะทิเองก็นับเป็นสาเหตุอันสำคัญยิ่งที่ทำให้แม่ตัดสินใจที่จะจากไป โดยแม่ให้เหตุผลว่า "… ถ้าลูกปลอดภัย แม่จะไม่แตะต้องตัวลูกอีกเลย แม่จะไปให้ไกลจากลูก ไม่ทำให้ลูกต้องตกอยู่ในอันตรายอีกแล้ว" (หน้า 69-70)  และเรื่องราวในตอนนี้ผู้เขียนสร้างเรื่องราวให้เกิดความเข้มข้นเชิงอารมณ์ของตัวละครสูงมาก  โดยเฉพาะเรื่องราวของแม่ทำให้ผู้อ่านร่วมร่วมเห็นใจและสงสารเธอที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันน่าเศร้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับโรคร้าย คือ เอเอสแอล มานานกว่า 5 ปี อย่างมีสติและพร้อมจะยอมรับชะตากรรมของตน ดังตอนหนึ่งที่เธอบอกกับทุกคนว่า "…แม่โชคดีแล้วที่เลือกทางตายได้  คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายก็ไม่ได้ แต่กรณีของแม่  แม่ถือว่าขอใช้สิทธิเท่าที่ชะตาชีวิตเปิดช่องว่างให้  ขออย่าให้ใครขัดขวางเลย" (หน้า 77)  ทั้งนี้ ผู้อ่านจะพบว่าแม่มีกะทิเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตที่สร้างความเข้มแข็งให้ต่อสู้กับโรคร้าย
          เรื่องราวของแม่นับเป็นบททดสอบบทแรกที่กะทิต้องก้าวผ่าน  และบททดสอบต่อไปที่แม่เตรียมไว้ให้กะทินั้นก็นับเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในชีวิตที่กะทิต้องตัดสินใจด้วยตนเอง  คือ การส่งจดหมายของแม่ให้พ่อที่กะทิไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นหน้า  แต่แม่มิได้ทอดทิ้งให้กะทิต้องกระทำสิ่งนี้โดยลำพัง  เพราะแม่ได้เตรียมข้อมูลทุกอย่างไว้ให้กะทิศึกษาก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น ห้องที่เต็มไปด้วยลิ้นชักแห่งความทรงจำที่บรรจุเรื่องราวต่างๆตลอดทั้งชีวิตของแม่ไว้ หรือผ่านการบอกเล่าจากคนสนิทที่อยู่ใกล้ชิดแม่ทุกคน เช่น ลุงตอง น้ากานต์ และน้าฎา ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านเรื่องราวเหล่านี้ได้ในตอนที่ 3 คือ "บ้านกลางเมือง" อันเป็นเสมือนการแสดงพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ของกะทิที่เติบโตขึ้นอย่างแท้จริง  ซึ่งเห็นได้จากที่กะทิได้เลือกสิ่งที่เธอคิดว่าเป็นความสุขที่สุดสำหรับชีวิตของตนเองแล้ว นั่นคือการเลือกบ้ายริมคลองแทนพ่อ โดยกะทิให้เหตุผลว่า "กะทิรักทุกอย่างที่บ้านหลังนี้ พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ และไม่มีชิ้นส่วนใดในชีวิตจะหล่นพลัดหายให้ต้องติดตามหาอีกแล้ว" (หน้า 121)  
จะเห็นได้ว่า ความสุขของกะทิ จึงมีมิติทางปรัชญาที่น่าสนใจ คำถามที่ว่า ความสุขของชีวิตคืออะไรนั้นเป็นปริศนาที่นักปราชญ์ทุกยุคทุกสมัยของทุกวัฒนธรรมหมกมุ่นครุ่นคิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งก็มีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าท่าทีต่อ ความตายอันเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับการให้ความหมายกับชีวิตด้วย จึงก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ก่อนตายมนุษย์ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ท่าทีที่ถูกต้องก็น่าจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าที่ความตายจะมาเยือน และจากกรอบวิถีพุทธที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่นั้น เห็นว่าแก่นแท้ของชีวิตก็คือความทุกข์ หนทางแห่งการดับทุกข์ประการหนึ่งก็คือ การมีสติหรือการดำเนินชีวิตในปัจจุบันขณะโดยไม่ประมาท หากหันไปมองปรัชญาตะวันตกบ้าง ก็จะพบว่ามีความเห็นที่ต่างกันไป นักปรัชญาบางคนเห็นว่าก่อนตายมนุษย์ควรจะทำสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่าให้สัมฤทธิ์ผล แต่ท่าทีเช่นนี้ดูจะผูกอยู่กับความคาดหวังถึงผลของการกระทำอยู่มาก อีกแนวทางหนึ่งก็คือ มนุษย์ควรจะทำในสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่าในปัจจุบันขณะ ท่าทีเช่นนี้ดูจะเอนเอียงไปทางพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ต่างกันที่อย่างหลังไม่มีมิติทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับแก่นแท้ของชีวิตว่าคือความทุกข์
          ในวรรณกรรมเรื่อง ความสุขของกะทิ นั้น จะเห็นได้ว่าท่าทีต่อความตายของแม่นั้น ส่งผลต่อท่าทีของกะทิที่มีต่อชีวิตอย่างมาก ในอดีตก่อนที่แม่ของกะทิจะถูกโรคร้ายกัดกร่อนร่างกายนั้น เธอเป็นนักธุรกิจที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ อันเกิดจากวางแผนทุกอย่างในชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ลักษณะเช่นนี้ก็คงไม่ต่างจากค่านิยมในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก ใครที่มุ่งหวังความสำเร็จในหน้าที่การงานก็คงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดไปตามแบบแผนที่กำหนดไว้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ หลังจากที่เป็นโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาหายและต้องนอนรอวันตาย แม่ของกะทิเห็นว่าความสุขของชีวิตก็คือการใช้ชีวิตกับปัจจุบันขณะ และสร้างความสุขให้กับคนรอบข้าง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากก็ตามที และสิ่งนี้เองอาจเปรียบเสมือนมรดกที่ล้ำค่าที่สุดที่แม่ตั้งใจจะส่งมอบให้กับกะทิ และในตอนจบของเรื่องก็แสดงให้เห็นว่ากะทิรับมรดกอันนั้นมา คือ การที่กะทิต้องตัดสินใจที่จะส่งหรือไม่ส่งจดหมายไปถึงพ่อ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอ นวนิยายเรื่องนี้แม้จะมีความเข้มข้นเชิงปรัชญาความคิด แต่ในทางกลับกันก็มีข้อบกพร่องด้วยเช่นกัน  เพราะการที่จะให้เด็กหญิงกะทิวัยเพียง 9 ขวบจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องที่ผู้ใหญ่บางคนไม่แม้แต่จะคิดหรือยากที่จะเข้าใจได้นั้น ก็คงต้องปูพื้นให้กะทิเป็นเด็กที่ชอบครุ่นคิดและช่างสงสัย แต่ผู้แต่งก็ไม่ได้ให้ภาพตัวละครนี้ในลักษณะดังกล่าวตั้งแต่ต้น เพราะภาพของกะทิที่สื่อออกมานั้นมักจะเป็นภาพของเด็กสนุกสานและร่าเริง ดังนั้น การทิตัดสินใจส่งจดหมายของกะทิในตอนท้ายเรื่องซึ่งดูฉลาดเฉลียวเกินวัยนั้น จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเหลือเชื่อ
          นอกจากกะทิที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว การที่ผู้แต่งต้องการสร้างตัวละครตากับยายที่เป็นคนเมืองที่มีการศึกษาดี มีสถานะภาพทางสังคมสูง  และเป็นบุคคลที่เป็นที่นับถือของคนทั่วไปในสังคม ให้ละทิ้งชีวิตแบบคนเมืองมาใช้ชีวิตในบั้นปลายอันสงบสุขที่ชนบท  แต่คุณตาก็ยังไม่อาจทิ้งความเป็นคนเมืองได้  ดังจะเห็นได้จากการที่คุณตากล่าวถึงศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ และการใช้ความเปรียบตอนที่กะทิตากผ้าว่าทำท่าราวกับวาทยกรในเรื่อง แฟนตาซี  ซึ่งต่างจากคุณยายที่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชนบทได้ดีกว่า และผู้แต่งก็ได้ยืนยันในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า แน่นอนว่ายายไม่ใช่แม่บ้านมาทั้งชีวิต ตาบอกว่ายายตีบทแตกในช่วงไม่กี่ปี ไม่เหลือร่องรายเลขาฯนายใหญ่โรงแรมห้าดาวเลยสิน่า  (หน้า 36)  ทั้งที่ภาพชีวิตและฉากในชนบทเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญกำหนดให้เป็นทั้งฉากเปิดและปิดเรื่อง และยังเป็นทางเลือกที่กะทิเห็นว่าที่นี่คือความสุขของชีวิต  แต่การให้น้ำหนักกับค่านิยมแบบเมืองมากเกินไปก็ทำให้ขาดเสน่ห์ของกลิ่นอายที่แท้จริงของความเป็นชนบทไปอย่างน่าเสียดาย   
          โลกของความสุขมิได้เกิดขึ้นได้แต่เพียงกับกะทิเท่านั้น  แต่ผู้อ่านทุกคนสามารถสร้างและสัมผัสกับโลกแห่งความสุขได้เช่นกัน  หากผู้เอ่านเข้าใจและรู้จักนำมรดกอันล้ำค่าที่แม่ส่งมอบให้กะทิมาปรับใช้ในชีวิตของตนเองด้วย และถึงแม้ว่าคำโปรยบนปกหน้าของหนังสือจะระบุว่า ความสุขของกะทิ เป็นวรรณกรรมเยาวชน  แต่จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็จะเห็นว่า  วรรณกรรมเรื่องนี้แม้จะมีกะทิเด็กหญิงวัย 9 ขวบเป็นตัวดำเนินเรื่อง   แต่สารอันหนักหน่วงที่แฝงอยู่ในเรื่องสามารถสื่อกับผู้อ่านทุกวัยได้  ภาพความสุขของกะทิในใจของผู้อ่านแต่ละคนและแต่ละวัยก็อาจต่างกันไป  แต่ภาพความสุขอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนปรารถนาที่จะส่งมอบให้ผู้อ่านตระหนักก็คือ ความสุขของคนรอบข้างคือความสุขของเราด้วย

-------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก : เหตุใดจึงเป็นนวนิยายขายดี (Bestseller)


           

                                                                                                
วิถีชีวิตคนในสังคมปัจจุบันผูกพันและใกล้ชิดกับระบบประกันคุณภาพมากขึ้น นับตั้งแต่การประกันคุณภาพการศึกษา การทำงาน และอาจรวมไปถึงการประกันคุณภาพหนังสือในรูปแบบของการให้รางวัลวรรณกรรม ในปัจจุบันสำนักพิมพ์ต่างๆได้นำความคิดในเรื่องการประกันคุณภาพดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในลักษณะของการให้คำรับรองคุณภาพหนังสือ โดยประทับคำว่า  "ขายดีที่สุด" หรือ "Bestseller" ไว้บนปกหนังสือ เพื่อดึงดูดใจให้ผู้อ่านเลือกซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ  แต่เราต้องไม่ลืมว่า "หนังสือขายดี" ให้ความสำคัญที่ปริมาณของผู้อ่าน (quantity)  มากกว่าคุณภาพของตัวงาน (quality)  และเมื่อพิจารณากันอย่างจริงจังจะพบว่า  ในท้ายที่สุดแล้วคำโฆษณาดังกล่าวก็มิได้เป็นหลักประกันคุณภาพของหนังสือทุกเล่มได้จริง  หนังสือบางเล่มอาจได้มาตรฐาน  บางเล่มอาจไม่ถึงระดับมาตรฐาน ดังนั้น หนังสือที่ขายดีอาจมิใช่หนังสือที่ดีเสมอไปก็ได้
            หนังสือที่กำลังจะพูดถึงต่อไปก็เป็นหนังสือที่เข้าข่ายการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากเราปิดกั้นโอกาสโดยไม่ลองอ่านหนังสือในลักษณะนี้เลย  ก็คงจะพลาดโอกาสอ่านหนังสือบางเล่มที่น่าสนใจไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุนี้  ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเลือกอ่านหนังสือที่มีการพิมพ์คำว่า "Bestseller" ที่หน้าปกเพื่อพิสูจน์และพิจารณาคำโฆษณาที่ปรากฏว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร
            นวนิยายแปลเรื่อง สาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก (Shopaholic Abroad) ซึ่งภาคต่อของหนังสือเรื่อง คำสารภาพของสาวนักช็อปฯ  (The Secret Dreamworld of the shopaholic) เป็นบทประพันธ์ของโซฟี  คินเซลลา (Sophie Kinsella) และแปลเป็นภาษาไทยโดย พลอย  จริยะเวช หนังสือเล่มนี้เป็นนับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากชาวต่างประเทศมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และนักอ่านชาวไทยก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีเช่นกัน
 ในครึ่งแรกของเรื่องสาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก    ก็ให้น้ำหนักไปที่การช็อปปิ้งอันไร้สาระของรีเบคคา (เหมือนในภาคแรก)  แต่เพิ่มการเสนอภาพชีวิตรักอันหวานชื่นระหว่างเธอกับลุค (คนรักของเธอ)ทั้งในประเทศอังกฤษและในนิวยอร์กในช่วงสั้นๆ       ในเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ได้เขียนให้ภาพชีวิตของรีเบคคาที่มีแต่ความสนุกสนาน ไร้สาระ หรือเน้นเฉพาะเรื่องการช็อปปิ้งเหมือนในภาคแรกเนื่องจากในภาคนี้  ผู้เขียนสร้างให้รีเบคคาหลุดออกจากโลกแห่งเทพนิยาย (ชีวิตที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการงานและความรัก) โดยให้เผชิญกับโลกแห่งความจริงที่มีทั้งความรัก ความสุข ความเศร้า ความผิดหวัง และการความสมหวัง ทั้งนี้ ในช่วงครั้งหลังของเรื่องผู้เขียนได้ให้เธอต้องเผชิญกันมรสุมชีวิตครั้งใหญ่  นั่นคือการเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกครั้ง  ซึ่งการเป็นหนี้ครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเธอมากกว่าในภาคแรก  เนื่องจากทำให้เธอเสียชื่อเสียง เสียงาน และสูญเสียคนรักจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
เหตุการณ์ที่รีเบคคาต้องเผชิญในครั้งนี้เป็นเสมือนบทเรียนที่ผู้เขียนจงใจสอดแทรกเข้ามาเพื่อเป็นข้อคิดและคติเตือนใจโดยเฉพาะเรื่องการเป็นหนี้บัตรเครดิต เราจะพบว่าตั้งแต่อ่านเรื่องราวชีวิตของรีเบคคามาตั้งแต่ภาคแรกจนมาถึงภาคนี้  นับว่าเป็นครั้งแรกที่เธอยอมรับออกมาตรงๆว่าพฤติกรรมการชอปปิ้งอันไร้สาระของเธอเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เช่นในตอนที่เธอกล่าวว่า "ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียน  ของพวกนั้นดูจะจำเป็นตอนซื้อ  ของพวกนั้นที่ทำให้ฉันตื่นเต้นตอนนี้มันดูเหมือนถุงขยะกองใหญ่ ฉันบอกไม่ได้ว่าถุงไหนใส่อะไรอยู่  มันเป็นเพียงของ  ข้าวของเป็นกองๆ  ลุคปิดตู้ไม่พูดสักคำ  ส่วนฉันรู้สึกละอาย" (หน้า 235)    
แม้ว่าผู้เขียนจะสร้างให้รีเบคคามีนิสัยประหนึ่งผู้ที่ขาดความรับผิดชอบ  ชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆไปเสียทุกเรื่อง  แต่เมื่อเธอต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักขึ้นในการเป็นหนี้ครั้งนี้ เธอกลับไม่หนีเหมือนทุกครั้ง  แต่กลับกล้าเผชิญหน้ากับความจริง เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้รีเบคคายืนหยัดและมีกำลังใจต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาคือ ความรัก ความเข้าใจ และกำลังใจจากพ่อแม่และเพื่อนๆของเธอไม่ว่าจะเป็นซูส หรือทราวิส ดังตอนหนึ่งที่รีเบคคาคำนึงถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ฉันอยากจะบอกลุคทั้งหมดนี้ ฉันอยากเล่าให้เขาฟังทั้งหมด อยากให้เขากอดปลอบฉันโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ บอกกับฉันว่าคนพวกนั้นต่างหากเป็นฝ่ายเสียโอกาส  ไม่ใช่ฉัน อย่างที่พ่อแม่ฉันพูด อย่างที่ซูสพูด…. " (หน้า 236 -237)
นอกจากนี้  เธอยังมีศักดิ์ศรีในตัวเอง  เธอไม่ใช้วิธีการง่ายๆในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ นั้นคือ การยืมเงินซูสหรือทราวิส ทั้งๆที่ทั้งสองคนพร้อมและเต็มใจที่จะให้เธอยืมเงินไปใช้หนี้  แต่รีเบคคา กลับเลือกทางแก้ปัญหาโดยการยืนหยัดขึ้นต่อสู้ด้วยตัวของเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อชี้แจงและขอผ่อนผันการชำระหนี้  การพยายามหางานทำ ดังตอนหนึ่งที่ว่า "ขณะเราเดินกลับบ้าน  ฉันรู้สึกถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้า  ฉันจะทำให้เขาเห็น  ฉันจะทำให้จอห์น  กาวินเห็น  ทำให้ทุกคนในโลกทั้งโลกเห็น  ฉันจะจ่ายหนี้ให้หมด  ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร  อาจจะไปหางานเสิร์ฟอาหารเพิ่มอีกงาน  หรือนั่งทำงาน เขียนหนังสือเซลฟ์-เฮลพ์ให้เสร็จ  ฉันจะหาเงินให้มากที่สุด  ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ …" (หน้า 255) ท้ายที่สุดคือการยอมทำใจขายเสื้อผ้าและสิ่งของทั้งหมดที่เธอซื้อมาด้วยความรัก จนเธอสามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ทั้งหมด  การที่ผู้เขียนเลือกให้รีเบคคาตัดสินใจหาเงินชำระหนี้ด้วยการขายเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เธอเป็นหนี้และประสบปัญหาในครั้งนี้  เพื่อตอกย้ำให้ผู้อ่านเห็นว่ารีเบคคาตระหนัก เรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมอันไร้สาระของตนอย่างแท้จริงแล้ว และพร้อมที่จะเติบโตและก้าวต่อไปในชีวิต 
นอกจากประเด็นเรื่องโทษของการช้อปปิ้งแล้ว  เรื่องของความรักก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้เขียนให้ความสำคัญ  ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าความรักมิใช่ปัจจัยสำคัญเพียงประการที่จะช่วยสร้าง ถนอม  รักษา และพัฒนาความสัมพันธ์และความรักระหว่างคนสองคน  แต่ความเคารพเชื่อใจ  ความเข้าใจ และการเป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆก็นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก  ในเรื่องนี้  ผู้เขียนได้ใช้ความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างรีเบคคาและลุคเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นเข้าใจและมองเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้และการยอมรับในความผิดพลาดและความไม่เข้าใจกันของพวกเขาทั้งคู่ ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ความรักที่คงทนและมั่นคงมากขึ้นในตอนท้ายของเรื่อง
            เรื่องราวที่เกิดขึ้นรีเบคคานั้นอาจเป็นตลกร้ายสำหรับผู้ที่หลงใหลการช็อปปิ้งและประสบปัญหาเช่นเดียวกับเธอ นั่นคือการเป็นหนี้บัตรเครดิต การซื้อของแบบไร้เหตุผลอาจเป็นเสมือนกระจกสะท้อนภาพของผู้ที่ชื่นชอบการช็อปปิ้ง หรืออาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้อ่านที่ชื่นชอบการช็อปปิ้งได้เช่นกัน   ขณะเดียวกับสำหรับผู้ที่ไม่ชอบหรือเห็นว่าการช็อปปิ้งเป็นเรื่องไร้สาระอาจเข้าใจทัศนคติ ความคิด และมุมมองของคนกลุ่มนี้มากขึ้นก็เป็นได้   ในยุคบริโภคนิยมและวัตถุนิยมในสังคมปัจจุบัน นวนิยายเรื่องนี้ยังช่วยให้ผู้อ่านตระหนักถึงกลยุทธ์ทางการตลาดและธุรกิจที่สินค้าแต่ละยี่ห้อต่างพยายามที่จะสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดหรือล่อใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ อาทิ sample sale การสะสมคะแนนเพื่อรับของสมนาคุณ หรือสินค้าลดราคา เป็นต้น
            สาเหตุประการหนึ่งที่ทำหนังสือเล่มนี้ขายดีทั้งในอังกฤษและประเทศไทย  คือนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาคต่อจากนวนิยายเรื่อง คำสารภาพของสาวนักช็อปฯ  (The Secret Dreamworld of the shopaholic) ผู้อ่านส่วนหนึ่งที่ชื่นชอบและสนุกไปกับเรื่องราวการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของรีเบคคาจากเรื่อง คำสารภาพของสาวนักช็อปฯ  ต่างให้ความสนใจและติดตามอ่านนวนิยายภาคต่อมาของเธอจากเรื่อง สาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก ด้วย
นอกจากนี้ การที่ผู้เขียนเคยเป็นอดีตคอลัมนิสต์ทางด้านการเงินจึงสามารถที่จะถ่ายทอดมุมมอง ความคิด รวมทั้งคำแนะนำต่างๆเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์การเงินที่เกิดขึ้นผ่านนางเอกของเรื่องได้อย่างมีสมเหตุสมผลและมีหลักการ  อีกทั้งความสามารถในการเขียนและการสร้างตัวละครช่วยทำให้รีเบคคามีชีวิตและโลดแล่นไปทั้งในนวนิยายและในใจผู้อ่านได้  ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนสามารถสร้างจังหวะของการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลื่นไหลทำให้เรื่องมีสีสัน ไม่ว่าจะเป็นการแทรกมุขตลก  มุมมองเกี่ยวกับความรัก มิตรภาพ ความสนุกสนาน และความโศกเศร้าต่างๆที่ตัวละคร   ความสามารถดังกล่าวของผู้เขียนส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปพร้อมๆกับตัวละคร  และบางครั้งก็เผลอรู้สึกว่ารีเบคคาคือเพื่อนสนิทที่มาปรับทุกข์และถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่เธอประสบในชีวิตให้ฟัง  จนทำให้เรารู้สึกสนุก ขบขัน และโศกเศร้าไปพร้อมๆกับเธอ
            นอกจากการผูกเรื่องและการสร้างตัวละครของผู้เขียนแล้ว  สำนวนภาษาและการแปลของพลอย  จริยะเวชก็นับว่ามีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมจากคนอ่านในประเทศไทย เพราะเธอแปลเป็นภาษาไทยอย่างลื่นไหล  จนผู้อ่านไม่รู้สึกสะดุดว่ากำลังอ่านนวนิยายแปลอยู่  เพราะศัพท์  สำนวนและภาษาที่ใช้เป็นสิ่งที่เราคุ้นชินกันเป็นประจำอยู่แล้ว   เช่น   "ขอบคุณพระเจ้า พนักงานขายกลับมาพร้อมรองเท้าแตะสีม่วงอ่อนของฉันใส่มาในกล่อง  ทันทีที่เห็นมันหัวใจเต้นตูมเล็กน้อย กรี๊ด สวยสุดแสน งามหรู ดูประณีตเนี้ยบ มีสายรัดและมีลูกแบล็คเบอร์รีลูกจิ๋วอยู่ตรงปลายเท้า  ฉันตกหลุมรักทันทีที่เห็น …" (หน้า 28) ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้แปลเคยมีประสบการณ์ทำงานในสถาบันการเงินและชื่นชอบการช็อปปิ้ง ทำให้เข้าใจและถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครเอกได้เป็นอย่างดี
            นวนิยายโรแมนติกคอมะดี้ (romantic comady) เรื่องนี้  มิได้ให้เฉพาะแค่ความบันเทิงเท่านั้น  แต่สาระ ข้อคิดบางประการที่ผู้เขียนบรรจงสอดแทรกไว้โดยตลอดเรื่องก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มิอาจละเลยได้  เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นอุทาหรณ์ ตัวอย่าง และข้อคิดแก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ผลเสียของการใช้บัตรเครดิตโดยไม่คิด การสร้างมุมมองให้ผู้อ่านรับรู้ เข้าใจ และเท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของการขายสินค้าต่างๆ อาทิ sample sale การลดราคา การแจกของแถม หรือแม้แต่การสะสมคะแนนเพื่อรับของสมนาคุณ  ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าการถนอม รักษา และพัฒนาความสัมพันธ์และความรักให้มั่นคงยืนยาวได้นั้น นอกเหนือไปจากความรักแล้ว ปัจจัยอื่นๆที่มีส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นเวลา ความเข้าใจ ความจริงใจ ความเอื้ออาทรความเห็นใจซึ่งกันและกัน ดังความรักระหว่างรีเบคคากับลุค  มิตรภาพระหว่างเพื่อนและความรักจากครอบครัวนับเป็นแรงสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้ผู้ที่ดำเนินชีวิตผิดพลาดสามารถที่จะลุกขึ้นยืนหยัด  ต่อสู้ และกลับมาดำเนินชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง
            อย่างไรก็ตาม แม้บทเรียนและความผิดพลาดของรีเบคคา  บลูมวูดจะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม  แต่เรื่องที่ผู้เขียนเลือกใช้ก็เป็นเพียงแค่กรณีตัวอย่างเพื่อเตือนใจ มิใช่เพื่อการ "ตรึงใจ" อย่างแนบแน่น  เพราะความสนุกขบขันและเสนออารมณ์โรแมนติกของเรื่องทำให้การชี้ปัญหาอ่อนลงอย่างน่าเสียดาย


---------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชั่วฟ้าดินสลาย


             

            

              ในวาระที่ปีนี้เป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของครูมาลัย  ชูพินิจ  จึงอยากจะนำผลงานของท่านที่ได้อ่านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเล่าให้ฟัง   ขณะเดียวกันก็อยากชวนให้ลองไปอ่านผลงานชั้นครูของท่านเรื่องหนึ่ง คือ   ชั่วฟ้าดินสลาย  ซึ่งใช้นามปากกาในขณะเขียนว่า เรียมเอง  เรื่องนี้นับเป็นนิยายขนาดสั้นมีความยาวเพียง  ๗๔  หน้า  มีตัวละครหลักๆ แค่  ๔ ตัว  แต่เรื่องกลับมีความเข้มข้นชวนติดตามจนยากที่จะวางหนังสือลงได้    นิยายเรื่องนี้นำเสนอความรักสาวเส้าระหว่างพะโป้ คหบดีผู้ร่ำรวยวัยห้าสิบปลายๆ   ส่างหม่อง  หลานชายวัย ๒๓ ปี  และยุพดี  ภรรยาสาวคราวลูกอายุเพิ่งจะ ๒๐  ซึ่งมีทิพย์ผู้จัดการป่าไม้เป็นผู้เล่าและถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ออกมา
                ความเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่นางเอก  คือ ยุพดี  สาวที่ฉลาดเกินอายุ ชอบอ่านหนังสือ   เธอจึงเป็นคนล้ำสมัย  และมีอุดมคติความรักที่ต่างไปจากคนในยุคเดียวกัน เพราะเธอต้องการ “ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระเสรี  โดยปราศจากข้อผูกพันจากขนบประเพณีและสังคม  เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องกีดกั้นขวางความเป็นไทของมนุษย์”  จึงไม่แปลกที่เธอจะลุกขึ้นมาเป็นขบถและท้าทายต่อกรอบประเพณีต่างๆ ของสังคม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัดรึงให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในกรอบของสังคมชายเป็นใหญ่    ดังนั้น  เมื่ออุดมคติของเธอเป็นเช่นนี้   เธอจึงกล้าที่จะเลือกดำเนินชีวิตของเธอไปจนสุดทางที่เธอเลือก  แม้ว่าการกระทำนั้นจะขัดกับหลักศีลธรรมที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยึดถือก็ตาม  แม้ว่าเธอจะต้องทรยศต่อความรักที่พะโป้มอบให้เธอในฐานะภรรยา และหันไปเป็นชู้กับส่างหม่องหลานชายของพะโป้ที่มีวัยใกล้เคียงกับเธอแทน    และเมื่อถูกจับได้  เธอก็ยังกล้าเผชิญหน้ากับความจริงและยอมรับในสั่งที่เธอทำอย่างกล้าหาญ   ซึ่งท้ายที่สุดเธอก็เลือกจบชีวิตด้วยมือของตน  เนื่องจากเห็นว่าตายเป็นหนทางที่จะได้เดินทางไปสู่ชีวิตใหม่ที่เธอปรารถนา
                ความน่าสนใจของเรื่องอีกประการคือ ผู้เขียนเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเป็นผู้พิพากษาความผิดของตัวละครเหล่านี้เองว่าจะเลือกตัดสินให้ใครเป็นผู้ผิด  เพราะแม้ว่าพะโป้ดูจะเป็นคนที่น่าสงสารที่สุด เพราะถูกทรยศจากทั้งภรรยาและหลานชายสุดที่รัก  แต่การลงโทษที่เขากระทำก็ดูจะโหดร้ายและเลือดเย็นเป็นที่สุด  ยุพดีที่แม้ว่าจะผิดเพราะเธอเลือกที่จะเป็นชู้กับส่างหม่อง  แต่นั่นก็เป็นว่าเธอทำตามใจตนเอง  โดยไม่ทรยศต่อความปรารถนาของตน  แม้ว่าสิ่งนั้นจะขัดกับขนบประเพณีหรือวคามเชื่อของสังคมก็ตาม  เช่นเดียวกับส่าวหม่องที่ดูว่าน่าสงสารในตอนแรกที่อ่อนด้อยประสบการณ์ในเรื่องความรัก  จึงหลงผิดได้ง่าย  แต่ในตอนหลังเมื่อเขาเผยความเกรี้ยวกราด  ขี้โมโห และความเห็นแก่ตัวออกมา  โดยโทษว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของยุพดีแต่เพียงผู้เดียว   ความเห็นใจที่ผู้อ่านเคยมีให้เขาก็ลดลง   และกลับไปเพิ่มความน่าสงสารให้ยุพดีแทน  เพราะเธอต้องกลายเป็นผู้แบกรับความผิดบาปของเรื่องทั้งหมดเพียงลำพัง
                นอกจากนี้  คำว่า “ชั่วฟ้าดินสลาย”  บังนับเป็นคำสำคัญในเรื่องที่ชวนให้ผู้อ่านตีความคำนี้ได้ในหลายนัย  นับตั้งแต่เป็นเครื่องแสดงเห็นถึงความรักที่ยุพดีและส่างหม่องมีต่อกัน  เพราะตลอดเวลาที่เขาและเธอลักลอบพบกันลับหลังพะโป้  คนทั้งสองก็จะพร่ำบอกว่าจะอยากจะอยู่ด้วยกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย  ขณะเดียวกัน  พะโป้ก็ใช้คำว่า “ชั่วฟ้าดินสลาย” นี้มาเป็นข้อกำหนดในการลงโทษสำหรับการทรยศหักหลังของคนทั้งคู่  เพราะเขาลั่นกุญแจคนทั้งคู่ให้อยู่ติดกันและเพื่อจะไม่ต้องแยกจากกันตราบชั่วฟ้าดินสลายเช่นกัน  แม้ว่าเมื่อยุพดีตายแล้ว  เขาก็ยังไม่ไขกุญแจเพื่อนำศพเธอไป แต่ยังให้ส่างหม่อนต้องผูกติดอยู่กับศพของเธออย่างนั้น   ในความหมายที่กว้างออกจากตัวเรื่องไป  คือคำๆ นี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงขนบประเพณีและที่ยังคงครอบสังคมไทยอยู่นั้น  ว่าสิ่งนี้อาจะเป็นกำแพงที่ยากจะมีผู้ท้าทายคนใดที่จะสามารถก้าวผ่านข้ามไปได้ใช่หรือไม่  และสิ่งนี้จะเป็นกรอบครอบความเป็นไทไปตลอดตราบ “ชั่วฟ้าดินสลาย”  หรือเปล่า  ก็เป็นคำถามที่น่าคิดเช่นกัน
                ยิ่งไปกว่านั้น  การเขียนด้วยประโยคเรียบง่าย   แต่แฝงไปด้วยความงดงามคงมีอยู่อย่างพร้อมมูลในเรื่อง  ทั้งในด้านของกรบรรยายฉาก  โดยเฉพาะภาพของป่าไม้และความงามของธรรมชาติ  ขณะเดียวกันก็ยังแฝงคำพูดคมๆ ไว้เป็นระยะๆ เพื่อทิ้งให้ติดค้างในความทรงจำของคนอ่าน  นอกจากนี้  ศิลปะการแต่งที่มีทั้งเร่งจังหวะเพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นให้กับเรื่อง  ขณะเดียวกันก็มีการดึงจังหวะในบางตอน  เพื่อกระตุ้นเร้าให้ผู้อ่านกระวนกระวายอยากทราบเรื่องราวตอนต่อไปว่าว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด   อีกทั้งยังมีการหลอกล่อให้ผู้อ่านคาดเดาเรื่องไปล่วงหน้า  ก่อนที่จะเฉลยต่อมาว่าผู้อ่านเดินหลงทางไป และจากนั้นก็ต้องกลับมาอ่านตามแนวทางที่ผู้เขียนปรารถนาต่อไป 
                นิยายเรื่องนี้แม้ว่าจะเขียนมานานกว่าครึ่งศตวรรษแต่ก็ยังมีเสน่ห์ชวนให้อ่านและขบคิดได้อยู่  ขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวอย่างงานเขียนที่ดี    เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจะเป็นนักเขียนต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาศิลปะการประพันธ์ในแง่มุมต่างๆ  เพราะมีความแพราวพราวและชั้นเชิงการเขียนในระดับครูอย่างแท้จริง

---------------------------

เปิดบ้าน


  

       บล็อกนี้สร้า้งขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับแบ่งปันประสบการณ์การอ่านที่มีร่วมกับผู้ที่รักการอ่านทุกคน  ขณะเดียวกันก็อยากจะเปิดมุมเล็กๆ สำหรับการวิจารณ์หนังสือขึ้นด้วย  เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าการวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดมุมมองของการอ่านที่หลากหลาย  และการถกเถียง  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นก็นับเป็นหนทางที่จะก็ช่วยพัฒนาความคิดให้งอกงามขึ้น  จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมกันสร้างมุมของการวิจารณ์ขึ้นมาร่วมกัน