งามพรรณ เวชชาชีวะ เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่นักอ่านวรรณกรรมแปล แต่ ความสุขของกะทิ นับว่าเป็นได้งานเขียนชิ้นแรกที่เธอกล่าวว่ากลั่นกรองจากประสบการณ์และข้อสังเกตในชีวิตและโลกรอบตัว แม้ว่าผลงานชิ้นนี้จะตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 แต่กลับเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้อ่านชาวไทยมากขึ้นเมื่อวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียหรือซีไรต์ในปี 2549 ความสุขเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีหนังสือจำนวนมากให้ข้อคิดเกี่ยวกับวิธีดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข แต่ทัศนะเกี่ยวกับความสุขในงานวรรณกรรมอาจจะไม่ได้สื่อความอย่างตรงไปตรงมาและเป็นขั้นเป็นตอน ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมเรื่องนี้
คำพูดประโยคหนึ่งในเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้ก็คือ "ครั้งหนึ่งแม่เคยบอกว่า คนเราก็ไม่ต่างจากตัวละครในหนังสือที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตและเมื่อผ่านพ้นมาได้ก็จะมีความลุ่มลึกในเนื้ออารมณ์ เป็นคนเต็มคนมากขึ้นและมองทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป" (หน้า 120) คำพูดของแม่ประโยคนี้ อาจนับได้ว่าเป็นข้อสรุปของปรัชญาและมุมมองชีวิตของผู้แต่งที่ต้องการสื่อผ่านเรื่องราวของกะทิ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องผ่านบททดสอบสำคัญในชีวิตด้วยวัยเพียง 9 ขวบ จากเด็กหญิงที่มีชีวิตเรียบง่ายกับตายายที่บ้านริมคลอง กลับต้องเผชิญปัญหาอันเป็นดั่งคลื่นใต้น้ำที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางชีวิตอันสุขสงบของกะทิและคนรอบข้าง ผู้อ่านสามารถมองเห็นเงื่อนงำของปมปัญหาต่างๆได้จากประโยคอันเป็นเสมือนข้อความเกริ่นนำในแต่ละบท ซึ่งยิ่งอ่านผ่านไปมากเท่าใด เงื่อนงำเหล่านั้นก็ยิ่งแจ่มชัดและเปิดเผยแง่มุมของความคิดถึงและโหยหาแม่ที่ซ่อนเร้นในจิตใจของกะทิมากขึ้น เช่น "แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา" (หน้า 13) "ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่" (หน้า 22) "กะทิจำหน้าแม่ไม่ได้แล้ว" (หน้า 26) หรือ "อยากรู้ว่าแม่คิดถึงกะทิบ้างไหมนะ" (หน้า 36) นอกจากประโยคอันเป็นข้อความเกริ่นนำในแต่ละบทแล้ว ผู้เขียนยังคงสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ผ่านคำพูดและกิริยาท่าทางของตาและยายในบางครั้งด้วย เช่น "…ตาพูดลอยๆว่าอยู่ที่ไหนก็ดูพระจันทร์ดวงเดียวกัน กะทิรู้ได้เองว่า ตาหมายถึงใครคนหนึ่งที่กำลังมองดูดวงจันทร์บนฟ้าอยู่ตอนนี้เหมือนกัน ใครคนที่หัวใจของกะทิร้องเรียกหาอยู่ทุกลมหายใจ" (หน้า 34)
เหตุผลการจากไปของแม่ รวมทั้งเรื่องราวต่างๆของแม่ดูจะเป็นปริศนาที่ไม่ได้รับการเปิดเผยให้ปรากฏอยู่ในช่วงแรกของเรื่อง โดยเฉพาะในตอน "บ้านริมคลอง" เลย ปริศนาดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามในใจผู้อ่านว่า การจากไปของแม่นั้นเป็นการจากเป็นหรือจากตาย อีกทั้ง ความรู้สึกที่แฝงเร้นในจิตใจของกะทิสร้างให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสงสารอย่างมาก เนื่องจากตลอดเวลาที่กะทิแสดงออกให้คนรอบข้างเห็นว่ามีความสุขกับชีวิต แต่ลึกๆในจิตใจแล้วกลับมีแต่ความหม่นเศร้าและโหยหาแม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเหตุผลสำคัญที่กะทิไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตนออกมานั้นก็เพราะกะมิรู้สึกว่าการพูดถึงแม่นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบ้านหลังนี้
แต่เรื่องราวอันเป็นประดุจปริศนานี้ได้เผยตัวออกมาอย่างแจ่มชัดในตอนที่ 2 คือ "บ้านชายทะเล" ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายเหตุผล รวมทั้งความรู้สึกของแม่ที่จำเป็นต้องจากกะทิไป ทั้งๆที่ยังรักกะทิมากก็ตาม และกะทิเองก็นับเป็นสาเหตุอันสำคัญยิ่งที่ทำให้แม่ตัดสินใจที่จะจากไป โดยแม่ให้เหตุผลว่า "… ถ้าลูกปลอดภัย แม่จะไม่แตะต้องตัวลูกอีกเลย แม่จะไปให้ไกลจากลูก ไม่ทำให้ลูกต้องตกอยู่ในอันตรายอีกแล้ว" (หน้า 69-70) และเรื่องราวในตอนนี้ผู้เขียนสร้างเรื่องราวให้เกิดความเข้มข้นเชิงอารมณ์ของตัวละครสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องราวของแม่ทำให้ผู้อ่านร่วมร่วมเห็นใจและสงสารเธอที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันน่าเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับโรคร้าย คือ เอเอสแอล มานานกว่า 5 ปี อย่างมีสติและพร้อมจะยอมรับชะตากรรมของตน ดังตอนหนึ่งที่เธอบอกกับทุกคนว่า "…แม่โชคดีแล้วที่เลือกทางตายได้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายก็ไม่ได้ แต่กรณีของแม่ แม่ถือว่าขอใช้สิทธิเท่าที่ชะตาชีวิตเปิดช่องว่างให้ ขออย่าให้ใครขัดขวางเลย" (หน้า 77) ทั้งนี้ ผู้อ่านจะพบว่าแม่มีกะทิเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตที่สร้างความเข้มแข็งให้ต่อสู้กับโรคร้าย
เรื่องราวของแม่นับเป็นบททดสอบบทแรกที่กะทิต้องก้าวผ่าน และบททดสอบต่อไปที่แม่เตรียมไว้ให้กะทินั้นก็นับเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในชีวิตที่กะทิต้องตัดสินใจด้วยตนเอง คือ การส่งจดหมายของแม่ให้พ่อที่กะทิไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นหน้า แต่แม่มิได้ทอดทิ้งให้กะทิต้องกระทำสิ่งนี้โดยลำพัง เพราะแม่ได้เตรียมข้อมูลทุกอย่างไว้ให้กะทิศึกษาก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น ห้องที่เต็มไปด้วยลิ้นชักแห่งความทรงจำที่บรรจุเรื่องราวต่างๆตลอดทั้งชีวิตของแม่ไว้ หรือผ่านการบอกเล่าจากคนสนิทที่อยู่ใกล้ชิดแม่ทุกคน เช่น ลุงตอง น้ากานต์ และน้าฎา ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านเรื่องราวเหล่านี้ได้ในตอนที่ 3 คือ "บ้านกลางเมือง" อันเป็นเสมือนการแสดงพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ของกะทิที่เติบโตขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งเห็นได้จากที่กะทิได้เลือกสิ่งที่เธอคิดว่าเป็นความสุขที่สุดสำหรับชีวิตของตนเองแล้ว นั่นคือการเลือกบ้ายริมคลองแทนพ่อ โดยกะทิให้เหตุผลว่า "กะทิรักทุกอย่างที่บ้านหลังนี้ พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ และไม่มีชิ้นส่วนใดในชีวิตจะหล่นพลัดหายให้ต้องติดตามหาอีกแล้ว" (หน้า 121)
จะเห็นได้ว่า ความสุขของกะทิ จึงมีมิติทางปรัชญาที่น่าสนใจ คำถามที่ว่า “ความสุขของชีวิตคืออะไร” นั้นเป็นปริศนาที่นักปราชญ์ทุกยุคทุกสมัยของทุกวัฒนธรรมหมกมุ่นครุ่นคิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งก็มีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าท่าทีต่อ “ความตาย” อันเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับการให้ความหมายกับชีวิตด้วย จึงก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ก่อนตายมนุษย์ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ท่าทีที่ถูกต้องก็น่าจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าที่ความตายจะมาเยือน และจากกรอบวิถีพุทธที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่นั้น เห็นว่าแก่นแท้ของชีวิตก็คือความทุกข์ หนทางแห่งการดับทุกข์ประการหนึ่งก็คือ การมีสติหรือการดำเนินชีวิตในปัจจุบันขณะโดยไม่ประมาท หากหันไปมองปรัชญาตะวันตกบ้าง ก็จะพบว่ามีความเห็นที่ต่างกันไป นักปรัชญาบางคนเห็นว่าก่อนตายมนุษย์ควรจะทำสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่าให้สัมฤทธิ์ผล แต่ท่าทีเช่นนี้ดูจะผูกอยู่กับความคาดหวังถึงผลของการกระทำอยู่มาก อีกแนวทางหนึ่งก็คือ มนุษย์ควรจะทำในสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่าในปัจจุบันขณะ ท่าทีเช่นนี้ดูจะเอนเอียงไปทางพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ต่างกันที่อย่างหลังไม่มีมิติทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับแก่นแท้ของชีวิตว่าคือความทุกข์
ในวรรณกรรมเรื่อง ความสุขของกะทิ นั้น จะเห็นได้ว่าท่าทีต่อความตายของแม่นั้น ส่งผลต่อท่าทีของกะทิที่มีต่อชีวิตอย่างมาก ในอดีตก่อนที่แม่ของกะทิจะถูกโรคร้ายกัดกร่อนร่างกายนั้น เธอเป็นนักธุรกิจที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ อันเกิดจากวางแผนทุกอย่างในชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ลักษณะเช่นนี้ก็คงไม่ต่างจากค่านิยมในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก ใครที่มุ่งหวังความสำเร็จในหน้าที่การงานก็คงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดไปตามแบบแผนที่กำหนดไว้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ หลังจากที่เป็นโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาหายและต้องนอนรอวันตาย แม่ของกะทิเห็นว่าความสุขของชีวิตก็คือการใช้ชีวิตกับปัจจุบันขณะ และสร้างความสุขให้กับคนรอบข้าง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากก็ตามที และสิ่งนี้เองอาจเปรียบเสมือนมรดกที่ล้ำค่าที่สุดที่แม่ตั้งใจจะส่งมอบให้กับกะทิ และในตอนจบของเรื่องก็แสดงให้เห็นว่ากะทิรับมรดกอันนั้นมา คือ การที่กะทิต้องตัดสินใจที่จะส่งหรือไม่ส่งจดหมายไปถึงพ่อ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอ นวนิยายเรื่องนี้แม้จะมีความเข้มข้นเชิงปรัชญาความคิด แต่ในทางกลับกันก็มีข้อบกพร่องด้วยเช่นกัน เพราะการที่จะให้เด็กหญิงกะทิวัยเพียง 9 ขวบจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องที่ผู้ใหญ่บางคนไม่แม้แต่จะคิดหรือยากที่จะเข้าใจได้นั้น ก็คงต้องปูพื้นให้กะทิเป็นเด็กที่ชอบครุ่นคิดและช่างสงสัย แต่ผู้แต่งก็ไม่ได้ให้ภาพตัวละครนี้ในลักษณะดังกล่าวตั้งแต่ต้น เพราะภาพของกะทิที่สื่อออกมานั้นมักจะเป็นภาพของเด็กสนุกสานและร่าเริง ดังนั้น การทิตัดสินใจส่งจดหมายของกะทิในตอนท้ายเรื่องซึ่งดูฉลาดเฉลียวเกินวัยนั้น จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเหลือเชื่อ
นอกจากกะทิที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว การที่ผู้แต่งต้องการสร้างตัวละครตากับยายที่เป็นคนเมืองที่มีการศึกษาดี มีสถานะภาพทางสังคมสูง และเป็นบุคคลที่เป็นที่นับถือของคนทั่วไปในสังคม ให้ละทิ้งชีวิตแบบคนเมืองมาใช้ชีวิตในบั้นปลายอันสงบสุขที่ชนบท แต่คุณตาก็ยังไม่อาจทิ้งความเป็นคนเมืองได้ ดังจะเห็นได้จากการที่คุณตากล่าวถึงศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ และการใช้ความเปรียบตอนที่กะทิตากผ้าว่าทำท่าราวกับวาทยกรในเรื่อง แฟนตาซี ซึ่งต่างจากคุณยายที่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชนบทได้ดีกว่า และผู้แต่งก็ได้ยืนยันในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “แน่นอนว่ายายไม่ใช่แม่บ้านมาทั้งชีวิต ตาบอกว่ายายตีบทแตกในช่วงไม่กี่ปี ไม่เหลือร่องรายเลขาฯนายใหญ่โรงแรมห้าดาวเลยสิน่า” (หน้า 36) ทั้งที่ภาพชีวิตและฉากในชนบทเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญกำหนดให้เป็นทั้งฉากเปิดและปิดเรื่อง และยังเป็นทางเลือกที่กะทิเห็นว่าที่นี่คือความสุขของชีวิต แต่การให้น้ำหนักกับค่านิยมแบบเมืองมากเกินไปก็ทำให้ขาดเสน่ห์ของกลิ่นอายที่แท้จริงของความเป็นชนบทไปอย่างน่าเสียดาย
โลกของความสุขมิได้เกิดขึ้นได้แต่เพียงกับกะทิเท่านั้น แต่ผู้อ่านทุกคนสามารถสร้างและสัมผัสกับโลกแห่งความสุขได้เช่นกัน หากผู้เอ่านเข้าใจและรู้จักนำมรดกอันล้ำค่าที่แม่ส่งมอบให้กะทิมาปรับใช้ในชีวิตของตนเองด้วย และถึงแม้ว่าคำโปรยบนปกหน้าของหนังสือจะระบุว่า ความสุขของกะทิ เป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็จะเห็นว่า วรรณกรรมเรื่องนี้แม้จะมีกะทิเด็กหญิงวัย 9 ขวบเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่สารอันหนักหน่วงที่แฝงอยู่ในเรื่องสามารถสื่อกับผู้อ่านทุกวัยได้ ภาพความสุขของกะทิในใจของผู้อ่านแต่ละคนและแต่ละวัยก็อาจต่างกันไป แต่ภาพความสุขอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนปรารถนาที่จะส่งมอบให้ผู้อ่านตระหนักก็คือ “ความสุขของคนรอบข้างคือความสุขของเราด้วย”
-------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น