วิถีชีวิตคนในสังคมปัจจุบันผูกพันและใกล้ชิดกับระบบประกันคุณภาพมากขึ้น นับตั้งแต่การประกันคุณภาพการศึกษา การทำงาน และอาจรวมไปถึงการประกันคุณภาพหนังสือในรูปแบบของการให้รางวัลวรรณกรรม ในปัจจุบันสำนักพิมพ์ต่างๆได้นำความคิดในเรื่องการประกันคุณภาพดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในลักษณะของการให้คำรับรองคุณภาพหนังสือ โดยประทับคำว่า "ขายดีที่สุด" หรือ "Bestseller" ไว้บนปกหนังสือ เพื่อดึงดูดใจให้ผู้อ่านเลือกซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่า "หนังสือขายดี" ให้ความสำคัญที่ปริมาณของผู้อ่าน (quantity) มากกว่าคุณภาพของตัวงาน (quality) และเมื่อพิจารณากันอย่างจริงจังจะพบว่า ในท้ายที่สุดแล้วคำโฆษณาดังกล่าวก็มิได้เป็นหลักประกันคุณภาพของหนังสือทุกเล่มได้จริง หนังสือบางเล่มอาจได้มาตรฐาน บางเล่มอาจไม่ถึงระดับมาตรฐาน ดังนั้น หนังสือที่ขายดีอาจมิใช่หนังสือที่ดีเสมอไปก็ได้
หนังสือที่กำลังจะพูดถึงต่อไปก็เป็นหนังสือที่เข้าข่ายการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากเราปิดกั้นโอกาสโดยไม่ลองอ่านหนังสือในลักษณะนี้เลย ก็คงจะพลาดโอกาสอ่านหนังสือบางเล่มที่น่าสนใจไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเลือกอ่านหนังสือที่มีการพิมพ์คำว่า "Bestseller" ที่หน้าปกเพื่อพิสูจน์และพิจารณาคำโฆษณาที่ปรากฏว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร
นวนิยายแปลเรื่อง สาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก (Shopaholic Abroad) ซึ่งภาคต่อของหนังสือเรื่อง คำสารภาพของสาวนักช็อปฯ (The Secret Dreamworld of the shopaholic) เป็นบทประพันธ์ของโซฟี คินเซลลา (Sophie Kinsella) และแปลเป็นภาษาไทยโดย พลอย จริยะเวช หนังสือเล่มนี้เป็นนับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากชาวต่างประเทศมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และนักอ่านชาวไทยก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีเช่นกัน
ในครึ่งแรกของเรื่องสาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก ก็ให้น้ำหนักไปที่การช็อปปิ้งอันไร้สาระของรีเบคคา (เหมือนในภาคแรก) แต่เพิ่มการเสนอภาพชีวิตรักอันหวานชื่นระหว่างเธอกับลุค (คนรักของเธอ)ทั้งในประเทศอังกฤษและในนิวยอร์กในช่วงสั้นๆ ในเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ได้เขียนให้ภาพชีวิตของรีเบคคาที่มีแต่ความสนุกสนาน ไร้สาระ หรือเน้นเฉพาะเรื่องการช็อปปิ้งเหมือนในภาคแรกเนื่องจากในภาคนี้ ผู้เขียนสร้างให้รีเบคคาหลุดออกจากโลกแห่งเทพนิยาย (ชีวิตที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการงานและความรัก) โดยให้เผชิญกับโลกแห่งความจริงที่มีทั้งความรัก ความสุข ความเศร้า ความผิดหวัง และการความสมหวัง ทั้งนี้ ในช่วงครั้งหลังของเรื่องผู้เขียนได้ให้เธอต้องเผชิญกันมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ นั่นคือการเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกครั้ง ซึ่งการเป็นหนี้ครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเธอมากกว่าในภาคแรก เนื่องจากทำให้เธอเสียชื่อเสียง เสียงาน และสูญเสียคนรักจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
เหตุการณ์ที่รีเบคคาต้องเผชิญในครั้งนี้เป็นเสมือนบทเรียนที่ผู้เขียนจงใจสอดแทรกเข้ามาเพื่อเป็นข้อคิดและคติเตือนใจโดยเฉพาะเรื่องการเป็นหนี้บัตรเครดิต เราจะพบว่าตั้งแต่อ่านเรื่องราวชีวิตของรีเบคคามาตั้งแต่ภาคแรกจนมาถึงภาคนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกที่เธอยอมรับออกมาตรงๆว่าพฤติกรรมการชอปปิ้งอันไร้สาระของเธอเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เช่นในตอนที่เธอกล่าวว่า "ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียน ของพวกนั้นดูจะจำเป็นตอนซื้อ ของพวกนั้นที่ทำให้ฉันตื่นเต้น…ตอนนี้มันดูเหมือนถุงขยะกองใหญ่ ฉันบอกไม่ได้ว่าถุงไหนใส่อะไรอยู่ มันเป็นเพียง…ของ ข้าวของเป็นกองๆ ลุคปิดตู้ไม่พูดสักคำ ส่วนฉันรู้สึกละอาย" (หน้า 235)
แม้ว่าผู้เขียนจะสร้างให้รีเบคคามีนิสัยประหนึ่งผู้ที่ขาดความรับผิดชอบ ชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆไปเสียทุกเรื่อง แต่เมื่อเธอต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักขึ้นในการเป็นหนี้ครั้งนี้ เธอกลับไม่หนีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับกล้าเผชิญหน้ากับความจริง เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้รีเบคคายืนหยัดและมีกำลังใจต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาคือ ความรัก ความเข้าใจ และกำลังใจจากพ่อแม่และเพื่อนๆของเธอไม่ว่าจะเป็นซูส หรือทราวิส ดังตอนหนึ่งที่รีเบคคาคำนึงถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ฉันอยากจะบอกลุคทั้งหมดนี้ ฉันอยากเล่าให้เขาฟังทั้งหมด อยากให้เขากอดปลอบฉันโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ บอกกับฉันว่าคนพวกนั้นต่างหากเป็นฝ่ายเสียโอกาส ไม่ใช่ฉัน อย่างที่พ่อแม่ฉันพูด อย่างที่ซูสพูด…. " (หน้า 236 -237)
นอกจากนี้ เธอยังมีศักดิ์ศรีในตัวเอง เธอไม่ใช้วิธีการง่ายๆในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ นั้นคือ การยืมเงินซูสหรือทราวิส ทั้งๆที่ทั้งสองคนพร้อมและเต็มใจที่จะให้เธอยืมเงินไปใช้หนี้ แต่รีเบคคา กลับเลือกทางแก้ปัญหาโดยการยืนหยัดขึ้นต่อสู้ด้วยตัวของเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อชี้แจงและขอผ่อนผันการชำระหนี้ การพยายามหางานทำ ดังตอนหนึ่งที่ว่า "ขณะเราเดินกลับบ้าน ฉันรู้สึกถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ฉันจะทำให้เขาเห็น ฉันจะทำให้จอห์น กาวินเห็น ทำให้ทุกคนในโลกทั้งโลกเห็น ฉันจะจ่ายหนี้ให้หมด ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร อาจจะไปหางานเสิร์ฟอาหารเพิ่มอีกงาน หรือนั่งทำงาน เขียนหนังสือเซลฟ์-เฮลพ์ให้เสร็จ ฉันจะหาเงินให้มากที่สุด ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ …" (หน้า 255) ท้ายที่สุดคือการยอมทำใจขายเสื้อผ้าและสิ่งของทั้งหมดที่เธอซื้อมาด้วยความรัก จนเธอสามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ทั้งหมด การที่ผู้เขียนเลือกให้รีเบคคาตัดสินใจหาเงินชำระหนี้ด้วยการขายเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เธอเป็นหนี้และประสบปัญหาในครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำให้ผู้อ่านเห็นว่ารีเบคคาตระหนัก เรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมอันไร้สาระของตนอย่างแท้จริงแล้ว และพร้อมที่จะเติบโตและก้าวต่อไปในชีวิต
นอกจากประเด็นเรื่องโทษของการช้อปปิ้งแล้ว เรื่องของความรักก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้เขียนให้ความสำคัญ ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าความรักมิใช่ปัจจัยสำคัญเพียงประการที่จะช่วยสร้าง ถนอม รักษา และพัฒนาความสัมพันธ์และความรักระหว่างคนสองคน แต่ความเคารพเชื่อใจ ความเข้าใจ และการเป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆก็นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ใช้ความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างรีเบคคาและลุคเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นเข้าใจและมองเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้และการยอมรับในความผิดพลาดและความไม่เข้าใจกันของพวกเขาทั้งคู่ ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ความรักที่คงทนและมั่นคงมากขึ้นในตอนท้ายของเรื่อง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นรีเบคคานั้นอาจเป็นตลกร้ายสำหรับผู้ที่หลงใหลการช็อปปิ้งและประสบปัญหาเช่นเดียวกับเธอ นั่นคือการเป็นหนี้บัตรเครดิต การซื้อของแบบไร้เหตุผลอาจเป็นเสมือนกระจกสะท้อนภาพของผู้ที่ชื่นชอบการช็อปปิ้ง หรืออาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้อ่านที่ชื่นชอบการช็อปปิ้งได้เช่นกัน ขณะเดียวกับสำหรับผู้ที่ไม่ชอบหรือเห็นว่าการช็อปปิ้งเป็นเรื่องไร้สาระอาจเข้าใจทัศนคติ ความคิด และมุมมองของคนกลุ่มนี้มากขึ้นก็เป็นได้ ในยุคบริโภคนิยมและวัตถุนิยมในสังคมปัจจุบัน นวนิยายเรื่องนี้ยังช่วยให้ผู้อ่านตระหนักถึงกลยุทธ์ทางการตลาดและธุรกิจที่สินค้าแต่ละยี่ห้อต่างพยายามที่จะสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดหรือล่อใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ อาทิ sample sale การสะสมคะแนนเพื่อรับของสมนาคุณ หรือสินค้าลดราคา เป็นต้น
สาเหตุประการหนึ่งที่ทำหนังสือเล่มนี้ขายดีทั้งในอังกฤษและประเทศไทย คือนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาคต่อจากนวนิยายเรื่อง คำสารภาพของสาวนักช็อปฯ (The Secret Dreamworld of the shopaholic) ผู้อ่านส่วนหนึ่งที่ชื่นชอบและสนุกไปกับเรื่องราวการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของรีเบคคาจากเรื่อง คำสารภาพของสาวนักช็อปฯ ต่างให้ความสนใจและติดตามอ่านนวนิยายภาคต่อมาของเธอจากเรื่อง สาวนักช็อปฯตลุยนิวยอร์ก ด้วย
นอกจากนี้ การที่ผู้เขียนเคยเป็นอดีตคอลัมนิสต์ทางด้านการเงินจึงสามารถที่จะถ่ายทอดมุมมอง ความคิด รวมทั้งคำแนะนำต่างๆเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์การเงินที่เกิดขึ้นผ่านนางเอกของเรื่องได้อย่างมีสมเหตุสมผลและมีหลักการ อีกทั้งความสามารถในการเขียนและการสร้างตัวละครช่วยทำให้รีเบคคามีชีวิตและโลดแล่นไปทั้งในนวนิยายและในใจผู้อ่านได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนสามารถสร้างจังหวะของการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลื่นไหลทำให้เรื่องมีสีสัน ไม่ว่าจะเป็นการแทรกมุขตลก มุมมองเกี่ยวกับความรัก มิตรภาพ ความสนุกสนาน และความโศกเศร้าต่างๆที่ตัวละคร ความสามารถดังกล่าวของผู้เขียนส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปพร้อมๆกับตัวละคร และบางครั้งก็เผลอรู้สึกว่ารีเบคคาคือเพื่อนสนิทที่มาปรับทุกข์และถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่เธอประสบในชีวิตให้ฟัง จนทำให้เรารู้สึกสนุก ขบขัน และโศกเศร้าไปพร้อมๆกับเธอ
นอกจากการผูกเรื่องและการสร้างตัวละครของผู้เขียนแล้ว สำนวนภาษาและการแปลของพลอย จริยะเวชก็นับว่ามีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมจากคนอ่านในประเทศไทย เพราะเธอแปลเป็นภาษาไทยอย่างลื่นไหล จนผู้อ่านไม่รู้สึกสะดุดว่ากำลังอ่านนวนิยายแปลอยู่ เพราะศัพท์ สำนวนและภาษาที่ใช้เป็นสิ่งที่เราคุ้นชินกันเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น "ขอบคุณพระเจ้า พนักงานขายกลับมาพร้อมรองเท้าแตะสีม่วงอ่อนของฉันใส่มาในกล่อง ทันทีที่เห็นมันหัวใจเต้นตูมเล็กน้อย กรี๊ด สวยสุดแสน งามหรู ดูประณีตเนี้ยบ มีสายรัดและมีลูกแบล็คเบอร์รีลูกจิ๋วอยู่ตรงปลายเท้า ฉันตกหลุมรักทันทีที่เห็น …" (หน้า 28) ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้แปลเคยมีประสบการณ์ทำงานในสถาบันการเงินและชื่นชอบการช็อปปิ้ง ทำให้เข้าใจและถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครเอกได้เป็นอย่างดี
นวนิยายโรแมนติกคอมะดี้ (romantic comady) เรื่องนี้ มิได้ให้เฉพาะแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่สาระ ข้อคิดบางประการที่ผู้เขียนบรรจงสอดแทรกไว้โดยตลอดเรื่องก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มิอาจละเลยได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นอุทาหรณ์ ตัวอย่าง และข้อคิดแก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ผลเสียของการใช้บัตรเครดิตโดยไม่คิด การสร้างมุมมองให้ผู้อ่านรับรู้ เข้าใจ และเท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของการขายสินค้าต่างๆ อาทิ sample sale การลดราคา การแจกของแถม หรือแม้แต่การสะสมคะแนนเพื่อรับของสมนาคุณ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าการถนอม รักษา และพัฒนาความสัมพันธ์และความรักให้มั่นคงยืนยาวได้นั้น นอกเหนือไปจากความรักแล้ว ปัจจัยอื่นๆที่มีส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นเวลา ความเข้าใจ ความจริงใจ ความเอื้ออาทรความเห็นใจซึ่งกันและกัน ดังความรักระหว่างรีเบคคากับลุค มิตรภาพระหว่างเพื่อนและความรักจากครอบครัวนับเป็นแรงสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้ผู้ที่ดำเนินชีวิตผิดพลาดสามารถที่จะลุกขึ้นยืนหยัด ต่อสู้ และกลับมาดำเนินชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้บทเรียนและความผิดพลาดของรีเบคคา บลูมวูดจะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม แต่เรื่องที่ผู้เขียนเลือกใช้ก็เป็นเพียงแค่กรณีตัวอย่างเพื่อเตือนใจ มิใช่เพื่อการ "ตรึงใจ" อย่างแนบแน่น เพราะความสนุกขบขันและเสนออารมณ์โรแมนติกของเรื่องทำให้การชี้ปัญหาอ่อนลงอย่างน่าเสียดาย
---------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น