วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชั่วฟ้าดินสลาย


             

            

              ในวาระที่ปีนี้เป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของครูมาลัย  ชูพินิจ  จึงอยากจะนำผลงานของท่านที่ได้อ่านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเล่าให้ฟัง   ขณะเดียวกันก็อยากชวนให้ลองไปอ่านผลงานชั้นครูของท่านเรื่องหนึ่ง คือ   ชั่วฟ้าดินสลาย  ซึ่งใช้นามปากกาในขณะเขียนว่า เรียมเอง  เรื่องนี้นับเป็นนิยายขนาดสั้นมีความยาวเพียง  ๗๔  หน้า  มีตัวละครหลักๆ แค่  ๔ ตัว  แต่เรื่องกลับมีความเข้มข้นชวนติดตามจนยากที่จะวางหนังสือลงได้    นิยายเรื่องนี้นำเสนอความรักสาวเส้าระหว่างพะโป้ คหบดีผู้ร่ำรวยวัยห้าสิบปลายๆ   ส่างหม่อง  หลานชายวัย ๒๓ ปี  และยุพดี  ภรรยาสาวคราวลูกอายุเพิ่งจะ ๒๐  ซึ่งมีทิพย์ผู้จัดการป่าไม้เป็นผู้เล่าและถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ออกมา
                ความเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่นางเอก  คือ ยุพดี  สาวที่ฉลาดเกินอายุ ชอบอ่านหนังสือ   เธอจึงเป็นคนล้ำสมัย  และมีอุดมคติความรักที่ต่างไปจากคนในยุคเดียวกัน เพราะเธอต้องการ “ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระเสรี  โดยปราศจากข้อผูกพันจากขนบประเพณีและสังคม  เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องกีดกั้นขวางความเป็นไทของมนุษย์”  จึงไม่แปลกที่เธอจะลุกขึ้นมาเป็นขบถและท้าทายต่อกรอบประเพณีต่างๆ ของสังคม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัดรึงให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในกรอบของสังคมชายเป็นใหญ่    ดังนั้น  เมื่ออุดมคติของเธอเป็นเช่นนี้   เธอจึงกล้าที่จะเลือกดำเนินชีวิตของเธอไปจนสุดทางที่เธอเลือก  แม้ว่าการกระทำนั้นจะขัดกับหลักศีลธรรมที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยึดถือก็ตาม  แม้ว่าเธอจะต้องทรยศต่อความรักที่พะโป้มอบให้เธอในฐานะภรรยา และหันไปเป็นชู้กับส่างหม่องหลานชายของพะโป้ที่มีวัยใกล้เคียงกับเธอแทน    และเมื่อถูกจับได้  เธอก็ยังกล้าเผชิญหน้ากับความจริงและยอมรับในสั่งที่เธอทำอย่างกล้าหาญ   ซึ่งท้ายที่สุดเธอก็เลือกจบชีวิตด้วยมือของตน  เนื่องจากเห็นว่าตายเป็นหนทางที่จะได้เดินทางไปสู่ชีวิตใหม่ที่เธอปรารถนา
                ความน่าสนใจของเรื่องอีกประการคือ ผู้เขียนเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเป็นผู้พิพากษาความผิดของตัวละครเหล่านี้เองว่าจะเลือกตัดสินให้ใครเป็นผู้ผิด  เพราะแม้ว่าพะโป้ดูจะเป็นคนที่น่าสงสารที่สุด เพราะถูกทรยศจากทั้งภรรยาและหลานชายสุดที่รัก  แต่การลงโทษที่เขากระทำก็ดูจะโหดร้ายและเลือดเย็นเป็นที่สุด  ยุพดีที่แม้ว่าจะผิดเพราะเธอเลือกที่จะเป็นชู้กับส่างหม่อง  แต่นั่นก็เป็นว่าเธอทำตามใจตนเอง  โดยไม่ทรยศต่อความปรารถนาของตน  แม้ว่าสิ่งนั้นจะขัดกับขนบประเพณีหรือวคามเชื่อของสังคมก็ตาม  เช่นเดียวกับส่าวหม่องที่ดูว่าน่าสงสารในตอนแรกที่อ่อนด้อยประสบการณ์ในเรื่องความรัก  จึงหลงผิดได้ง่าย  แต่ในตอนหลังเมื่อเขาเผยความเกรี้ยวกราด  ขี้โมโห และความเห็นแก่ตัวออกมา  โดยโทษว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของยุพดีแต่เพียงผู้เดียว   ความเห็นใจที่ผู้อ่านเคยมีให้เขาก็ลดลง   และกลับไปเพิ่มความน่าสงสารให้ยุพดีแทน  เพราะเธอต้องกลายเป็นผู้แบกรับความผิดบาปของเรื่องทั้งหมดเพียงลำพัง
                นอกจากนี้  คำว่า “ชั่วฟ้าดินสลาย”  บังนับเป็นคำสำคัญในเรื่องที่ชวนให้ผู้อ่านตีความคำนี้ได้ในหลายนัย  นับตั้งแต่เป็นเครื่องแสดงเห็นถึงความรักที่ยุพดีและส่างหม่องมีต่อกัน  เพราะตลอดเวลาที่เขาและเธอลักลอบพบกันลับหลังพะโป้  คนทั้งสองก็จะพร่ำบอกว่าจะอยากจะอยู่ด้วยกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย  ขณะเดียวกัน  พะโป้ก็ใช้คำว่า “ชั่วฟ้าดินสลาย” นี้มาเป็นข้อกำหนดในการลงโทษสำหรับการทรยศหักหลังของคนทั้งคู่  เพราะเขาลั่นกุญแจคนทั้งคู่ให้อยู่ติดกันและเพื่อจะไม่ต้องแยกจากกันตราบชั่วฟ้าดินสลายเช่นกัน  แม้ว่าเมื่อยุพดีตายแล้ว  เขาก็ยังไม่ไขกุญแจเพื่อนำศพเธอไป แต่ยังให้ส่างหม่อนต้องผูกติดอยู่กับศพของเธออย่างนั้น   ในความหมายที่กว้างออกจากตัวเรื่องไป  คือคำๆ นี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงขนบประเพณีและที่ยังคงครอบสังคมไทยอยู่นั้น  ว่าสิ่งนี้อาจะเป็นกำแพงที่ยากจะมีผู้ท้าทายคนใดที่จะสามารถก้าวผ่านข้ามไปได้ใช่หรือไม่  และสิ่งนี้จะเป็นกรอบครอบความเป็นไทไปตลอดตราบ “ชั่วฟ้าดินสลาย”  หรือเปล่า  ก็เป็นคำถามที่น่าคิดเช่นกัน
                ยิ่งไปกว่านั้น  การเขียนด้วยประโยคเรียบง่าย   แต่แฝงไปด้วยความงดงามคงมีอยู่อย่างพร้อมมูลในเรื่อง  ทั้งในด้านของกรบรรยายฉาก  โดยเฉพาะภาพของป่าไม้และความงามของธรรมชาติ  ขณะเดียวกันก็ยังแฝงคำพูดคมๆ ไว้เป็นระยะๆ เพื่อทิ้งให้ติดค้างในความทรงจำของคนอ่าน  นอกจากนี้  ศิลปะการแต่งที่มีทั้งเร่งจังหวะเพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นให้กับเรื่อง  ขณะเดียวกันก็มีการดึงจังหวะในบางตอน  เพื่อกระตุ้นเร้าให้ผู้อ่านกระวนกระวายอยากทราบเรื่องราวตอนต่อไปว่าว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด   อีกทั้งยังมีการหลอกล่อให้ผู้อ่านคาดเดาเรื่องไปล่วงหน้า  ก่อนที่จะเฉลยต่อมาว่าผู้อ่านเดินหลงทางไป และจากนั้นก็ต้องกลับมาอ่านตามแนวทางที่ผู้เขียนปรารถนาต่อไป 
                นิยายเรื่องนี้แม้ว่าจะเขียนมานานกว่าครึ่งศตวรรษแต่ก็ยังมีเสน่ห์ชวนให้อ่านและขบคิดได้อยู่  ขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวอย่างงานเขียนที่ดี    เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจะเป็นนักเขียนต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาศิลปะการประพันธ์ในแง่มุมต่างๆ  เพราะมีความแพราวพราวและชั้นเชิงการเขียนในระดับครูอย่างแท้จริง

---------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น