ลิตเติ้ลทรี : การสร้างจิตสำนึกอันดีงามให้แก่มนุษย์ในการเข้าใจโลกและธรรมชาติ
วรรณกรรมที่ดีและเหมาะสำหรับเยาวชนในเมืองไทยมีไม่มากนัก และที่สำคัญเยาวชนไทยที่สนใจอ่านวรรณกรรมทรงคุณค่าเหล่านี้มีจำนวนลดลง ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านในปัจจุบัน ถูกลดความสำคัญลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อสมัยใหม่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อเยาวชนมากขึ้นทุกที
ลิตเติ้ลทรี เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและน่าอ่านยิ่งเล่มหนึ่ง เพราะเรื่องราวและสาระที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของหนังสือควรค่าแก่การค้นหาและศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นวรรณกรรมเรื่อง ลิตเติ้ลทรี นี้ยังได้รับรางวัลแอบบี้ ในปี 2534 ด้วย ( ABBY Award Winner 1994 )
ลิตเติ้ลทรี เป็นเรื่องของเด็กน้อยเผ่าเชโรกีชื่อ ลิตเติ้ลทรี ( ต้นไม้น้อย ) ซึ่งกำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และได้อาศัยอยู่กับปู่และย่า พวกเขาเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นตลอดเรื่องผู้แต่งแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงความคิดและวิถีการดำรงชีวิตของชาวเผ่าเชโรกีที่แปลกแยกจากสังคมของคนผิวขาวอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกถึงความแปลกแยกและความเป็นอื่นของตนที่มีต่อสังคมรอบตัว แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแนวคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นไปตามความเจริญและความมีอารยธรรมของสังคมของคนผิวขาวเลย เพราะพวกเขาตระหนักตลอดเวลาว่าสังคมของคนผิวขาวนั้นเต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวงและมีแต่การแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น ในการเสนอ เรื่องราวและแนวคิดเหล่านี้ผู้แต่งมักจะนำเสนอออกมาโดยผ่านมุมมองและการบอกเล่าของปู่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งน้ำเสียงของปู่ขณะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นมักปรากฏออกมาในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์และ การเยาะเย้ยถากถางเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะขณะที่ปู่พูดถึงนักการเมืองผิวขาวให้ลิตเติ้ลทรีฟังว่า “ ปู่บอกว่ามีคนมากมายที่อยากได้อำนาจ มันก็เลยต้องต่อสู้กันวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ปู่บอกว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของกรุงวอชิงตันก็คือ มีนักการเมืองเลว ๆ อยู่ที่นั่นมากเกินไป ” ( หน้า 95 )
นอกจากเรื่องความแปลกแยกและความเป็นอื่นที่ผู้แต่งกล่าวถึงในเรื่องแล้ว ผู้แต่งยังนำเสนอเรื่องการเอารัดเอาเปรียบของคนผิวขาวที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ด้วย ผู้อ่านจะพบว่าทั้ง ๆ ที่ชาวเชโรกีนับว่าเป็นเจ้าของประเทศนี้ก่อนชนผิวขาวมานานนับศตวรรษ แต่กลับถูกรุกรานและขับไล่ออกจากถิ่นที่อยู่ของพวกเขาอย่างไร้ความเมตตา ความรู้สึกที่เกิดกับผู้อ่านขณะที่รับรู้โศกนาฏกรรมของชาวเชโรกีไปพร้อมกับ ลิตเติ้ลทรีนั้นก็ไม่ได้ต่างจากลิตเติ้ลทรีสักเท่าไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำเสียงและเรื่องราวที่ผ่านการบอกเล่าของย่านั้นผู้แต่งค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์และอารมณ์สะเทือนใจอย่างผสมกลมกลืนจนทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความโศกเศร้าที่ชนเผ่าเชโรกีได้รับอย่างไม่ยากนัก โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์ของการอพยพย้ายถิ่นของชาวเชโรกีที่บรรยายว่า ขณะที่พวกเขาเดินเท้าเป็นระยะทางอันยาวไกลไปทางทิศตะวันตกโดยมีทหาร รัฐบาลขี่ม้าถือปืนนำหน้า ขนาบข้างและประกบหลังนั้น ทำให้ชาวเชโรกีจำนวนไม่น้อยล้มตายไประหว่างการเดินทางซึ่งคนที่ตายส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นเด็กเล็ก คนแก่และคนป่วย ดังนั้นเมื่อจำนวนคนตายเพิ่มมากขึ้นทุกที ชาวเชโรกีเหลืออยู่ต้องอุ้มศพญาติพี่น้องของตนเดินทางต่อไป เพราะทหารอนุญาตให้ฝังศพเหล่านี้ ในทุก ๆ 3 วัน
“ เด็กชายตัวน้อยอุ้มศพน้องสาวของตน และหลับเคียงข้างเธอที่พื้นดินในยามค่ำ รุ่งเช้า
เขาก็อุ้มเธอขึ้นมา พาเธอเดินต่อไป
สามีอุ้มศพภรรยา ลูกชายอุ้มศพแม่ ศพพ่อ แม่อุ้มศพลูกน้อย พวกเขาแบกศพกันไป
ในอ้อมแขน เดินไป … ” ( หน้า 47 )
ยิ่งไปกว่านั้นผู้แต่งยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของลิตเติ้ลทรีทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณอย่างเป็นระบบ ในเรื่องที่เขาค่อย ๆ ซึมซับและวิถีของธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนท้ายที่สุดเขาสามารถบรรลุถึงขั้นสูงสุดในการดำเนินชีวิตอย่างสอดประสานเข้ากับธรรมชาติอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ความรู้และความเข้าใจธรรมชาติตามวิถีของเชโรกีนี้ลิตเติ้ลทรีได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดมาจากปู่และย่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้และทดสอบเพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของพืชพันธุ์ในฤดูกาลต่าง ๆ หรือการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของสัตว์จนกระทั่งสามารถรู้และเข้าใจถึงความหมายของอากัปกิริยาต่าง ๆที่สัตว์แสดงออกมาได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งวรรณกรรมเรื่องนี้มิได้เหมาะสำหรับเยาวชนเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับผู้อ่านทุกเพศทุกวัยอีกด้วย เนื่องจากผู้แต่งได้แทรกปรัชญาชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย โดยเฉพาะในเรื่องของธรรมชาตินั้นในวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้แต่งชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าการเข้าถึงธรรมชาติของชาวเชโรกีและลิตเติ้ลทรีนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับใหญ่ ๆ คือ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพาและไม่ทำลายธรรมชาติ เพราะ ชาวเชโรกีส่วนใหญ่ปลูกฝังลูกหลานของตนให้อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติรอบตัวด้วยความรัก ดังเช่นวิถีการดำเนินชีวิตที่ปู่ยึดถึงและปฏิบัติตลอดมา “ ความคิดปู่เป็นแบบอินเดียน … ที่อุทิศตนให้ธรรมชาติเหมือนอย่างที่ชาวอินเดียทำ ไม่พยายามที่จะอยู่เหนือธรรมชาติหรือนำธรรมชาติไปใช้ในทางที่ผิด แต่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ พวกเขาจึงรักความคิดแบบนี้ และการรักษาธรรมชาติทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ” ( หน้า 135 ) หรือการที่ชาวเชโรกีพยายามชี้ให้เห็นประโยชน์ของป่าเนื่องจากป่าเปรียบเสมือนบ้านที่แสนอบอุ่นของพวกเขา ซึ่งปู่ได้พยายามพร่ำสอนลิตเติ้ลทรีให้รู้ถึงประโยชน์ของป่าตลอดเวลา “ … ปู่บอกว่า ป่าจะเลี้ยงเรา ถ้าเรารู้จักอยู่ร่วมกับป่า แทนที่จะทำลายป่า อย่างไรก็ตามเรายังต้องมีความความรู้ในการอยู่กับป่า ” ( หน้า 113–114 )
นอกจากนี้ผู้แต่งยังเสนอให้ผู้อ่านเข้าถึงและตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติเพื่อมิให้ผู้อ่านทำลายธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องการล่าสัตว์ซึ่งตลอดเรื่องผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าลิตเติ้ลทรีซึงซับอยู่โดยตลอดว่า การล่าสัตว์นั้นจะต้องเบียดเบียนสัตว์ให้น้อยที่สุดและจะฆ่าสัตว์เฉพาะตัวที่ใช้ทำอาหารเท่านั้นซึ่งปู่สอนลิตเติ้ลทรีอยู่ตลอดว่า “ จงเอาเท่าที่จำเป็น เมื่อเจ้าล่ากวาง อย่าเลือกเอาตัวที่ดีที่สุด ให้เลือกตัวที่เล็กและเชื่องช้าเพื่อกวางเหล่านี้จะได้เติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีเนื้อให้เรากินอย่าสม่ำเสมอ เสือดำปาโก้รู้กฎข้อนี้ดี หลานเองก็จงจำเอาไว้ ” ( หน้า 11 ) แนวคิดเช่นนี้คล้ายกับแนวคิดเรื่อง “นิเวศน์สำนึก” ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเพิ่งเริ่มตระหนักและเพิ่งหันกลับมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้นหลักจากที่คนส่วนใหญ่ได้ทำลายและแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติมานานแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงธรรมชาติประการสุดท้ายนี้ยังพัฒนาไปถึงระดับจิตวิญญาณ ในที่นี้กุญแจสำคัญที่ช่วยให้ลิตเติ้ลทรีเข้าถึงธรรมชาติในระดับนี้ได้คือ ความเข้าใจและความรักในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะลิตเติ้ลทรีเชื่อว่า “ ความเข้าใจกับความรักเป็นสิ่งเดียวกัน เว้นแต่ว่าเรากระทำในสิ่งตรงกันข้ามบ่อยครั้งเกินไป โดยพยายามเสแสร้งว่าตนรักสิ่งนี้สิ่งนั้นทั้งที่ไม่เข้าใจสิ่งที่บอกว่ารัก ซึ่งอาจเป็นไปได้ ผมเข้าใจว่า ผมต้องพยายามเข้าใจทุกคนอย่างจริงจัง ” และเหตุที่ลิตเติ้ลทรีต้องพัฒนาจิตวิญญาณของเขาอย่างหนักเนื่องจากเขามั่นใจว่าเมื่อตายไปแล้ววิญญาณของเขาจะได้พบกับปู่ ย่าและอยู่ร่วมกันตลอดไปซึ่งเพื่อนพ้อง ชาวเชโรกีคนอื่น ๆ ก็เชื่อในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ย่าสอนลิตเติ้ลทรีในเรื่องนี้ “ ย่าบอกว่า ปู่ก็กำลังเข้าใกล้ความเข้าใจนี้โดยไม่รู้ตัวและพวกเขาจะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป เพราะจิตวิญญาณของพวกเขาจดจำกันและกันได้ ” ( หน้า 70 ) ความเชื่อในเรื่องที่จิตวิญญาณของคนจะพบกันหลังจากตายไปแล้วนั้นฝังแน่นอยู่ในจิตใจของย่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่านซึ่งผู้อ่านสามารถรับรู้ความคิดในเรื่องนี้ผ่านจดหมายฉบับสุดท้ายที่ย่าเขียนถึงลิตเติ้ลทรีว่า “ ลิตเติ้ลทรี ย่าต้องไปแล้ว เมื่อหลานเฝ้าฟังและสัมผัสป่า หลานจะสัมผัสเราด้วย เราจะรอหลาน ชีวิตหน้าต้องดีกว่านี้ ไม่ต้องห่วง ” ( หน้า 234 )
อนึ่งผู้แต่งยังเสนอและสอดแทรกแนวคิดปรัชญาที่ลุ่มลึกไว้ตลอดเรื่องซึ่งผู้อ่านสามารถสัมผัสและทำความเข้าใจแนวคิดเหล่านั้นได้ไม่ยากนัก เนื่องจากผู้แต่งบรรยายด้วยภาษาที่ง่าย พร้อมทั้งตัวอย่างที่ยกประกอบนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้อ่าน อีกทั้งมุมมองและแนวคิดต่าง ๆ ยังถูกถ่ายทอดโดยผ่านมุมมอง แนวคิดและคำพูดของปู่และย่าในขณะที่พวกเขาพูดคุยและสั่งสอนลิตเติ้ลทรีให้เข้าใจและตระหนักถึงความเป็นจริงในธรรมชาติ ดังเช่นการที่ปู่สอนลิตเติ้ลทรีถึงธรรมชาติของฤดูหนาวว่ามีไว้เพื่อชำระสิ่งต่าง ๆ ให้สะอาดและทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า “ ปู่บอกว่า ฤดูหนาวที่หนาวรุนแรงอย่างนี้มีความจำเป็นอยู่บ้างในบางครั้ง เป็นวิถี ธรรมชาติในการชำระสิ่งต่าง ๆ ให้สะอาดและทำให้สิ่งต่าง ๆ เติบโตได้ดีกว่าเดิม น้ำแข็งทำให้กิ่งไม้ที่อ่อนแอหักลง เหลือเพียงแต่กิ่งที่อ่อนแอเท่านั้นที่จะผ่านฤดูหนาวไปได้ ” ( หน้า 223 ) ซึ่งแนวคิดปรัชญาที่ผู้แต่งสอดแทรกไว้ตลอดเรื่องนี้ทำให้ลิตเติ้ลทรีสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกและสังคมได้อย่างเป็นสุข
กล่าวโดยสรุปวรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีเรื่องราวและความลึกลับเกี่ยวกับความเข้าใจโลก ชีวิตและธรรมชาติอีกมากมายให้ผู้อ่านเข้ามาค้นหา แสวงหาและสัมผัสด้วยตัวเอง นอกจากนั้นวรรณกรรมเรื่องนี้ยังช่วยเปิดโลกทัศน์และมุมมองที่ผู้อ่านอาจไม่เคยสนใจหรือเพิกเฉยที่จะเฝ้าดูหรือสัมผัสกับเรื่องเหล่านี้อย่าง ถ่องแท้เฉกเช่นลิตเติ้ลทรี ด้วยเหตุนี้เพียงไม่กี่หน้าที่ท่านเปิดอ่านท่านอาจสัมผัสถึงมุมมองและแนวคิดที่แปลกใหม่ แตกต่างและลุ่มลึกกว่าที่เคยพบ
เมื่ออ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จบลงผู้ที่จะเติบโตและพัฒนาทางปัญญา ร่างกายและจิตวิญญาณจึงมิน่าจะมีแค่เพียงลิตเติ้ลทรีเท่านั้น แต่ผู้อ่านอีกจำนวนไม่น้อยน่าที่จะเรียนรู้เรื่องราว อีกทั้งประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้และพัฒนาไปพร้อม ๆ กับลิตเติ้ลทรี
บททดสอบสุดท้ายที่ผู้แต่งทิ้งไว้ให้ลิตเติ้ลทรี คือให้เขาใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังคนเดียวโดยปราศจากปู่และย่าที่คอยเฝ้าดูและสั่งสอนอีกต่อไป บททดสอบนี้จึงอาจเป็นเสมือนบททดสอบสำหรับผู้อ่านด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงวิถีธรรมชาติอย่างถ่องแท้ในระดับหนึ่งแล้วนั้น ท่านสามารถนำความเข้าใจเหล่านั้นไปปรับใช้เพื่อดำรงชีวิตรวมกับธรรมชาติอย่างสงบสุขได้หรือไม่เพียงใด
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจโลก ชีวิตและธรรมชาติ เฉกเช่นลิตเติ้ลทรีให้ถือกำเนิดและเติบโตมากยิ่งขึ้น
----------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น