วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จินตนาการไม่รู้จบ (The Neverending Story)



 
The Neverending Story:  จุดเริ่มต้นแห่งการแสวงหาตำนานไม่รู้จบ

            ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคอมพิวเตอร์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างภาพเสมือนจริงในสื่อสมัยใหม่  ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกม  นับเป็นหนทางหนึ่งที่บั่นทอนการสร้างจินตนาการของคน  จนอาจเป็นเหตุให้คนส่วนหนึ่งละความสนใจที่จะอ่านงานวรรณกรรม  ประเด็นปัญหานี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง The Neverending Story ของ มิฆาเอ็ล  เอ็นเด้ (Michael  Ende)  วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความนิยมและแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยในชื่อ จินตนาการไม่รู้จบ  แปลโดย  รัตนา  รัตนดิลกชัย  ตั้งแต่ปี 2537 และได้รับความนิยมจนมีการพิมพ์ซ้ำกว่า 5 ครั้ง
มิฆาเอ็ล  เอ็นเด้ เป็นนักเขียนชาวเยอรมันที่มีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเป็นที่รู้จักทั้งในวงวรรณกรรมไทยและนานาชาติหลายเรื่อง  เช่น โมโม่ (Momo), จิม กระดุม กับลูคัส คนขับหัวรถจักร (Jim Knopf and Lukas the Engine Drive), จิมกระดุม กับ 13 ป่าเถื่อน (Jim Knopf und die Wilde 13), Juggler’s Tale Mirror in The Mirror และ Ophelia’s Shadow Theater  นอกจากเขาจะเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนแล้ว  เอ็นเด้ยังเป็นนักแสดง  นักเขียนบทละคร  ผู้จัดการโรงละคร ในเมืองมิวนิค  และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของบริษัท Bavarian Broadcasting เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 65 ปี  หลังจากที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งมาเป็นเวลานาน
จินตนาการไม่รู้จบ  เป็นเรื่องราวการผจญภัยของบาสเตียน  บัทธาซาร์  บูกซ์  เด็กชายวัยสิบขวบ  ร่างอ้วน  อ่อนแอ และขี้ขลาด  ผู้ที่คิดว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการของใคร  ไม่ว่าจะเป็นพ่อผู้ซึมเศร้าและหมกมุ่นอยู่กับงานตั้งแต่แม่เสียชีวิตไป  ครู หรือเพื่อน  การผจญภัยของเขาเริ่มต้นตั้งแต่เขาได้อ่านหนังสือเรื่อง ตำนานไม่รู้จบ  ที่ขโมยมาจากร้านหนังสือแห่งหนึ่ง  ในตอนแรกเขารู้สึกเหมือนกำลังอ่านตำนานการผจญภัยของอันเทรอู  เด็กชายผู้กล้าหาญที่ได้รับภารกิจสำคัญในการตามหาวิธีการรักษาอาการประชวรของยุวจักรพรรดินี  แต่ต่อมาบาสเตียนได้กลายเป็นตัวละครสำคัญที่โลกเล่นอยู่ในเรื่องเพื่อช่วยอาณาจักรจินตนาการไม่ให้ล่มสลาย
ในวรรณกรรมเรื่องนี้  เอ็นเด้  กระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงความมหัศจรรย์ในการอ่านหนังสือนับตั้งแต่เปิดเรื่อง  เขาชี้ให้เห็นว่าการอ่านหนังสือเป็นเสมือนการเปิดไปสู่โลกที่แปลกและแตกต่างออกไป  ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งความจริงหรือโลกแห่งจินตนาการ  สำหรับเอ็นเด้นั้น  โลกทั้งสองนี้ไม่ต่างกันสักเท่าใด  โดยเขาชี้ให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแห่งจินตนาการนั้นบางมากจนบางครั้งก็สามารถข้ามไปถึงกันหรือเชื่อมต่อกันได้  ดังเช่นที่บาสเตียนได้ข้ามจากโลกความจริงไปสู่โลกจินตนาการมาแล้ว  จากการที่เอ็นเด้เชื่อว่าโลกทั้งสองจะต้องดำเนินไปคู่กัน  ส่งผลสะท้อนซึ่งกันและกัน  ทำให้เขาทำนายผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นหากคนในปัจจุบันขาดจินตนาการและไม่เชื่อว่ามีอาณาจักรแห่งจินตนาการอยู่  ยิ่งมนุษย์ทำลายล้างจินตนาการมากเท่าใด  ความเท็จก็ยิ่งหลั่งไหลสู่โลกมนุษย์มากเท่านั้น  เพราะมนุษย์ไม่สามารถแยกแยะความจริงกับความลวงออกจากกันได้
อีกทั้งโลกจินตนาการในเรื่องนี้มิได้เป็นเพียงการประกอบขึ้นจากตัวละครและสถานที่อันแปลกประหลาดเพื่อสร้างความน่าสนใจและน่าตื่นเต้นให้กับผู้อ่านเท่านั้น  แต่ตัวละครที่โลกแล่นในโลกจินตนาการยังสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมและลักษณะนิสัยอันหลากหลายของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันด้วย  เมื่อเป็นเช่นนี้  การผจญภัยในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการแสวงหาผู้ที่จะช่วยเหลืออาณาจักรจินตนาการของอัทเทรอู  หรือการเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับบาสเตียนเท่านั้น  แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมายังช่วยสอนให้พวกเขาเข้าใจผู้คน  เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ดีขึ้น  ด้วยความสามารถในการมองเห็นตัวเองและคนอื่นๆ ด้วยสายตาใหม่ที่เกิดขึ้นนี้เองที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนตัวตนของพวกเขาไปพร้อมกัน   ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางานความคิดและจิตวิญญาณด้วย  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวละครเท่านั้น  แต่ส่งผลต่อผู้อ่านด้วย  จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางเพื่อแสวงหาโลกภายในทั้งของตัวละครและผู้อ่าน  โดยที่แต่ละคนก็อาจะมีจุดมุ่งหมายในการแสวงหาที่ต่างกันออกไป
นอกจากนี้  ความคิดและประสบการณ์ที่อัทเทรอูและบาสเตียนผ่านพบตลอดทั้งเรื่อง  ยังสามารถที่จะตีความได้ในหลายระดับขึ้นอยู่กับวัยวุฒิและวุฒิภาวะของผู้อ่านเป็นสำคัญ  ผู้อ่านวัยเยาว์อาจจะได้รับเพียงแค่ความสนุกสนานและตื่นเต้นไปกับโลกจินตนาการ  อันรวมถึงสัตว์และสถานที่แปลกๆ  อาทิ  ภูตเรืองแสง  ยักษ์เขมือบหิน  ทะเลทรายแห่งสีสัน  และอารามดาว  นอกจากนี้ยังได้เห็นความกล้าหาญ  มุ่งมั่นและมีน้ำใจของอัทเทรอู  พร้อมทั้งอาจนำความผิดพลาดของบาสเตียนมาเป็นบทเรียนของตน  ในขณะที่ผู้อ่านสูงวัยอาจจะเข้าถึงปรัชญาความคิดอันลุ่มลึกที่เอ็นเด้แฝงไว้โดยตลอดทั้งเรื่อง  เช่น  ความตายของสิงโตโกรกราแมนทุกคืนก่อให้เกิดเพอริลินป่าแห่งราตรีกาล  แฝงปรัชญาอันลุ่มลึกที่ว่า ความตายก่อให้เกิดชีวิต  และในขณะเดียวกันชีวิตก็ก่อให้เกิดความตายด้วย  หรือน้ำตาของอคาริสเผ่าพันธุ์ที่อัปลักษณ์ที่สุดก่อให้เกิดเมืองอมาร์แก็นท์ที่สวยงามที่สุดในอาณาจักรก็ช่วยทำให้ผู้อ่านตระหนักว่าความอัปลักษณ์ช่วยสร้างสรรค์สิ่งสวยงามได้  ด้วยเหตุนี้  วรรณกรรมเรื่องนี้จึงมิได้เหมาะสมสำหรับเด็กเท่านั้น  หากแต่เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกเพศทุกวัยด้วย
วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง The Neverending Story  ยังเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางไปสู่ตำนานอันไม่รู้จบให้แก่ผู้อ่านทุกคน  โดยมีหนังสือและจินตนาการเป็นหนทางหรือสะพานเชื่อม  ดังที่คุณโคเรแอนเดอร์เจ้าของร้านขายหนังสือพูดกับบาสเตียนในตอนท้ายเรื่องว่า

“เรื่องอันแท้จริงทุกเรื่องก็คือตำนานไม่รู้จบ ... มีประตูไปสู่อาณาจักรจินตนาการมากมายหลายบานนักเจ้าหนูยังมีหนังสือวิเศษอื่นๆ อีกมากเหลือเกิน  คนส่วนใหญ่อ่านผ่านมันไปโดยไม่สังเกตเห็น  มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนอ่านหนังสือเล่มนั้นต่างหาก ... ตำนานไม่รู้จบก็ต่างกันไปตามความสามารถความแตกต่างของแต่ละคน...  อีกอย่างหนึ่ง  มันก็ไม่ใช่แค่หนังสือด้วย  มันเป็นหนทางหนึ่งในการไปและกลับอาณาจักรจินตนาการ” (หน้า 547)

            เมื่ออาณาจักรแห่งจินตนาการกำลังรอคอยการแสวงหาอยู่แล้ว  เพียงแต่คุณกล้าที่จะหยิบหนังสือเล่มต่อไปขึ้นมาเพื่อเปิดประตูและท่องไปสู่โลกแห่งจินตนาการตามแต่ใจปรารถนา  แล้วคุณก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่สร้างตำนานไม่รู้จบอย่างที่บาสเตียนได้กระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว

------------------------------

       


วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลองสังกะสี (Tin Drum)





กลองสังกะสี  (Tin Drum)
เครื่องมือในการประท้วงและเยียวยาสังคมของ กรึนเทอร์  กราสส์

            กลองสังกะสี (Tin Drum) วรรณกรรมชิ้นเอกของกรึนเทอร์  กราสส์  (Günter Grass) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมชาวเยอรมัน  ในปี ค.ศ. 1999  กลองสังกะสีเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกในชุดไตรภาคดานซิกของกราสส์  อันประกอบด้วยวรรณกรรมอีกสองเรื่องคือ แมวกับหนู (Cat and Mouse) และ ปีของหมา (Dog Years) วรรณกรรมทั้งสามเรื่องต่างใช้ฉากและนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองดานซิก  ประเทศโปแลนด์  ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นกับชื่อเมืองดานซิกนัก  แต่จะรู้จักเมืองนี้ในฐานะ “ฉนวนโปแลนด์” ที่เป็นเหตุให้ฮิตเลอร์รุกรานโปแลนด์เพื่อที่จะนำ“เสรีนครดานซิก”กลับมารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีตามเหตุผลที่อ้างว่า “เชื้อชาติเดียวกันควรอยู่ร่วมกัน  และคนเยอรมันในนครดานซิกก็ต้องการจะกลับไปรวมกับประเทศของตนตามเดิม”
            กลองสังกะสี  แปลจากวรรณกรรมต้นฉบับภาษาเยอรมันชื่อ Die Blechtrommel  โดย  อรัญญา  โรเซนเบิร์ก  พรหมนอก  นฤมล  ง้าวสุวรรณ  และ ผสุดี  ศรีเขียว  วรรณกรรมเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในนวนิยายชุดไตรภาคนี้   นวนิยายเรื่องนี้เป็นเสมือนบันทึกชีวิตของออสคาร์  มัทเซราท  ซึ่งขณะที่บันทึกนั้น  เขาใช้ชีวิตเป็นผู้ป่วยในสถาบันบำบัดและฟื้นฟูสภาพจิต  โดยเขาเล่าย้อนกลับไปถึงประวัติครอบครัวก่อนที่ออสคาร์เกิด  ซึ่งบันทึกเริ่มเปิดเรื่องตั้งแต่ยายพบกับตาขณะทำไร่มันฝรั่ง  และจบลงด้วยเหตุผลที่เขาต้องมาอยู่ในสถาบันแห่งนี้    โดยตลอดเรื่องนอกจากที่ผู้อ่านจะได้รู้ เห็น และเข้าใจวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของออสคาร์อย่างละเอียดแล้ว  ผู้เขียนยังบรรยายให้เห็นถึงภาพความยุ่งเหยิงของสังคม  ความฟอนแฟะ ความโหดเหี้ยมและการเสื่อมศีลธรรมของคนทั้งในเมืองดานซิก  โปแลนด์ และเยอรมนีในช่วงก่อนเกิดสงคราม  ช่วงสงคราม และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ทั้วความรุ่งเรืองและหมดอำนาจของฮิตเลอร์ผ่านสายตาของออสคาร์  และตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง
            ออสคาร์  มัทเซราท  เด็กชายชาวเมืองดานซิกที่ปฏิเสธการเติบโตของตน   เขาตัดสินใจที่จะหยุดการเติบโตทางร่างกายของตัวเองไว้ในวัย 3 ขวบ  แต่จิตใจและความคิดของเขายังเติบโตขึ้นตามอายุที่เปลี่ยนไป  เหตุผลสำคัญในการปฏิเสธการเติบโตของออสคาร์คือ เขาไม่ต้องการอยากเป็นผู้สืบทอดมรดกเป็นเจ้าของร้านค้าซึ่งเป็นของขวัญจากพ่อ  แต่เขาอยากได้กลองสังกะสีที่เป็นของขวัญจากแม่มากกว่า  นัยสำคัญในเรื่องนี้ที่กราสส์ต้องการเสนอคือ ออสคาร์ปฏิเสธที่จะเป็นทายาทของเยอรมันหรือฮิตเลอร์ตามฝ่ายพ่อ แต่เขาต้องการเป็นทายาทของโปแลนด์ตามฝ่ายแม่มากกว่า  นั่นเท่ากับเป็นการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของเขาต่อสังคมอันเลวร้ายและฟอนแฟะที่เกิดขึ้นนี้ด้วย  ตลอดเวลาที่เป็นคนแคระเขามีกลองสังกะสี  คือกลองเด็กเล่นเป็นเพื่อนที่เขาจะนำติดตัวและตีกลองใบนั้นเกือบตลอดทั้งเรื่อง  เราจะพบว่าในช่วงแรกๆ ออสคาร์ใช้กลองสังกะสีเป็นเสมือนเครื่องมือในการประท้วงและตีแผ่ความเลวร้ายต่างๆ ในสังคม  ด้วยเหตุนี้  ภาพของออสคาร์คนแคระและการตีกลองจึงนับเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 2  และความเลวร้ายของสังคมอย่างเป็นรูปธรรมของกราสส์  ซึ่งลักษณะทั่งสองจะปรากฏให้เห็นเกือบตลอดทั้งเรื่องก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านด้วยเช่นกัน
            ในตอนท้ายเรื่องเมื่อสงครามยุติและเป็นช่วงเวลาที่ออสคาร์ตัดสินใจที่จะเติบโตตามปกติแล้ว  การเติบโตของเขากลับไม่เป็นอย่างที่เขาต้องการ  เพราะเมื่อเขาตัดสินใจที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อทำหน้าที่ปกป้องภรรยาและบุตรของตน  และยอมรับอัลเฟรด  มัทเซราทเป็นพ่อ  แม้ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะปฏิเสธมาโดยตลอด  นั่นเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเป็นลูกหลานของชาวเยอรมัน  ดังนั้น  ร่างกายของเขาจึงเติบโตอย่างผิดปกติ  โดยมีโหนกงอกออกมาจากหลัง  สิ่งนี้นับเป็นสัญลักษณ์ของความเลวร้ายของสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์  ซึ่งถือว่าเป็นบาปขั้นมหันต์ที่ออสคาร์และชาวเยอรมันต้องแบกรับตลอดไป  แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ก่อสงครามหรือไม่ก็ตาม  ในขณะที่ร่างกายของออสคาร์เติบโตผิดปกตินั้น  ช่วงแรกๆ เขาไม่สามารถที่จะตีกลองได้  ต่อมาเมื่อเขาตีกลองได้อีกครั้ง  กลองของเขาก็มิได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องประท้วงสังคมอีกต่อไป  เสียงเพลงจากกลองของเขากลับกลายเป็นการทำหน้าที่ประหนึ่งการชำระใจ (catharsis) หรือการเยียวยาชาวเยอรมันที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดและบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงคราม
            กราสส์ไม่ได้วิพากษ์และนำเสนอแต่เฉพาะความโหดเหี้ยมและความเลวร้ายของมนุษย์  และสังคมในช่วงสงครามเท่านั้น  แต่เขายังได้ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์และท้าทายต่อแนวคิดและความเชื่อทางคริสต์ศาสนาเป็นระยะๆ  ไปโดยตลอดเรื่องด้วย  การทำเช่นนี้ของกราสส์ดูประหนึ่งเป็นความต้องการที่เขาจะตอกย้ำความคิดเรื่อง “พระเจ้าตายแล้ว” ของนิชเชอร์ (Nietzsche)  นักปรัชญาชาวเยอรมัน ให้หนักแน่นขึ้น  ทั้งนี้  กราสส์ได้ให้ออสคาร์วิพากษ์และท้าทายแนวคิดทางคริสต์ศาสนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระเยซูที่ว่าพระองค์เพิกเฉยต่อสังคมที่วุ่นวาย  ต่อสงครามและต่อโลกที่โหดเหี้ยม  เพราะแม้ว่าออสคาร์จะนำกลองไปให้พระองค์ท่านตีเพื่อประท้วงสังคมและสงครามเหมือนที่เขาทำ  แต่พระองค์ยังเพิกเฉย  ดังตอนหนึ่งที่ว่า
“... ก่อนอื่นผมได้เอาไม้ตีกลองสอดใส่มือของพระเยซูที่มีช่องทำไว้ขนาดพอเหมาะตั้งตารอให้เกิดสิ่งอัศจรรย์  ท่านจะตีกลองไหม  หรือท่านสามารถตีกลองได้ไหม  หรือท่านได้รับอนุญาตให้ตีกลองไหม  ถ้าท่านไม่ตีกลอง  ท่านก็ไม่ใช่พระเยซูแท้จริง  และหากท่านไม่ตีกลอง  ออสคาร์ก็จะเป็นพระเยซูแท้จริงยิ่งกว่าเขาเสียอีก” (หน้า 210-211)
            ด้วยความหนาของตัวเล่มและความหนักแน่นของสารที่อัดแน่นในงานวรรณกรรมเล่มนี้  ประกอบกับการนำเสนอของกราสส์ที่ให้รายละเอียดในเรื่องของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านเวลาและสถานที่  ด้วยเหตุนี้  ผู้อ่านที่จะเข้าใจเรื่องราวโดยตลอดทั้งเรื่องต้องมีพื้นความรู้ ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของโปแลนด์  เยอรมนี และยุโรป  ทั้งในช่วงก่อนสงคราม  ช่วงสงคราม  และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างดี  นอกจากนี้  ผู้อ่านยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุโรปด้วยเพื่อที่จะเข้าใจเหตุการณ์และสถานที่ต่างๆ ที่กราสส์กล่าวถึงในเรื่อง  อีกทั้งกราสส์ยังได้สอดแทรกสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านตีความโดยตลอดเรื่อง  การที่ผู้อ่านจะเข้าถึงและซาบซึ้งงานวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างดื่มด่ำ  ผู้อ่านต้องอาศัยเครื่องมือที่จะช่วยอย่างหลากหลาย  วรรณกรรมเรื่องนี้นำไม่ได้เสนอเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักและย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเท่านั้น  ขณะเดียวกันก็ยังวิพากษ์วิจารณ์คนในสังคมและเผยแก่นแท้ของมนุษย์ผ่านความโหดเหี้ยมและเลวร้ายต่างๆ   ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยสร้างมุมมองแก่ผู้อ่านในการเผชิญกับโลกอย่างลุ่มลึกขึ้น  ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มวุฒิภาวะของการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและเท่าทันมากขึ้นอีกด้วย

--------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้ชนะสิบทิศ


เสน่ห์ของนวนิยาย เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศกับการสื่อความข้ามกาลเวลา

            หากจะกล่าวถึงนักเขียนผู้หนึ่งของไทยที่ชื่อ โชติ  แพร่พันธุ์ ก็อาจจะมีผู้รู้จักไม่มากนัก  แต่เมื่อบอกว่าเขาเป็นคนเดียวกับยาขอบผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชินนามปากกานี้ของเขามากกว่าชื่อจริงหรือนามปากกาอื่นๆ อันได้แก่ กรทอง” “.ช้างหรือ กฤษณาเขานับเป็นนักเขียนยุคบุกเบิกคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ซึ่งได้สร้างผลงานไว้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น เช่น อารมณ์” “คามวสี” “เพื่อนแพงและ ผู้หญิงมุมมืด  เรื่องแปล อาทิ สนมพระจอมเกล้า” “ขวัญใจจอมขวานและ บุปผาในกุณฑีทองสารคดี เช่น สินในหมึก” “เรื่องไม่เป็นเรื่องหรือ หนุมานลูกใครผลงานเรียบเรียง เช่น มหาภารตะและสามก๊กฉบับวณิพกร้อยกรอง อันได้แก่ อะไรเอ่ยและ ยาขอบสอนตนเองหรือแม้แต่ นวนิยาย คือพรานสวาทและ ผู้ชนะสิบทิศ  แม้ว่า ยาขอบจะมีผลงานในหลายลักษณะ แต่ผลงานชิ้นสำคัญที่ยังคงเป็นที่ยอมรับและกล่าวขวัญมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือ สามก๊กฉบับวณิพกและ  ผู้ชนะสิบทิศ
            ผู้ชนะสิบทิศนับเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับยาขอบมากที่สุด จะเห็นได้ว่านามปากกา ยาขอบนั้น ศรีบูรพาหรือกุหลาบ  สายประดิษฐ์ เป็นผู้ตั้งให้เพื่อใช้เขียนเรื่อง ยอดขุนพลที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุริยา ซึ่งต่อมา แม่อนงค์หรือมาลัย  ชูพินิจได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น ผู้ชนะสิบทิศเมื่อเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ  ด้วยเหตุนี้  การตีพิมพ์ ผู้ชนะสิบทิศจึงรวมพิมพ์เรื่อง ยอดขุนพลไว้ในตอนต้นของเรื่องทุกครั้ง เพราะ ยอดขุนพลนับเป็นการกล่าวปูเรื่องในช่วงปฐมวัยของบุเรงนอง 
เป็นที่น่าเสียดายว่า ยาขอบเสียชีวิตก่อนที่จะเขียนผู้ชนะสิบทิศจบ แต่ในตอนท้ายของนวนิยายเล่มสุดท้ายของชุดนี้ คือเล่มที่ 8 มีตอนสรุปเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศของ ยาขอบนับเป็นการถ่ายทอดความปรารถนาของ ยาขอบที่วางเรื่องต่อไปจนจบแล้ว  แต่ยังไม่มีโอกาสเขียนจนเสร็จสมบูรณ์เท่านั้น  เรื่องราวทั้งหมดเรียบเรียงจากปากคำของคุณประกายศรี  ศรุตานนท์ ผู้อยู่ใกล้ชิดกับยาขอบมาเป็นเวลานานและตราบจนนาทีสุดท้ายของชีวิตยาขอบ” "ผู้ชนะสิบทิศ"นวนิยายขนาดยาวจำนวน 8 เล่มนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาคต้น ภาคกลาง และภาคปลาย  นับตั้งแต่การปรากฏตัวครั้งแรกของจะเด็ดใน ยอดขุนพลในหนังสือพิมพ์สุริยา ในปี พ.. 2474 และรวมพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.. 2476 และการออกโรงครั้งแรกของผู้ชนะสิบทิศในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 “ยาขอบได้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในวันที่ 5 เมษายน 2499 นับเป็นเวลาเกือบกึ่งศตวรรษที่เขารังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเกือบทั้งชีวิตของเขาผูกพันอยู่กับผู้ชนะสิบทิศก็คงไม่ผิดนัก
แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะเขียนไม่จบ แต่เสน่ห์ของเรื่องก็ยังคงอยู่ในความนิยมของผู้อ่านในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนครั้งที่พิมพ์รวมเล่ม ซึ่งพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง ความนิยมของผู้ชนะสิบทิศไม่ได้นิยมเฉพาะตัวงานวรรณกรรมเท่านั้น แต่เมื่อมีผู้นำไปปรับเปลี่ยนและนำเสนอในรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปแสดงละครของกรมศิลปากร ละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์  หรือการแต่งเพลงจากนวนิยายเรื่องนี้ราว 17 เพลง เช่น ผู้ชนะสิบทิศ” “จอมใจจะเด็ด” “บุเรงนองลั่นกลองรบ” “ยอดพธูเมืองแปรหรือ กล่อมอิระวดีก็ล้วนได้รับการตอบรับจากมหาชนเป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  
            เสน่ห์ของเรื่องที่คงทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องขนาดยาว 8 เล่มอย่างดื่มด่ำและชื่นชม  รวมทั้งยังสามารถครองใจผู้อ่านมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย จะพบว่าแนวเขียนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลาที่ยาขอบเขียนนวนิยายเรื่องนี้ คือ การเขียนแนวไพรัชนิยายคือการเขียนโดยใช้ฉากต่างประเทศในการเดินเรื่อง  ซึ่งในช่วงนั้นมีนักเขียนหลายคนใช้เรื่องราวชีวิตในต่างประเทศเป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่อง เช่น การใช้ฉากในประเทศอังกฤษ อเมริกาและจีน ใน สงครามแห่งชีวิตของ ม.. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ การใช้ฉากของประเทศฝรั่งเศส ใน ความรักของวัลยาของ ศรีบูรพา หรือ ปักกิ่งนครแห่งความหลังของ สด กูรมะโรหิตเป็นต้น  ผู้ชนะสิบทิศอาจนับว่าเป็นไพรัชนิยายในลักษณะหนึ่งก็ได้ เพราะพม่าที่ปรากฏเป็นฉากของเรื่องเป็นพม่าที่สร้างขึ้นจากความคิดฝันของยาขอบทั้งสิ้น ซึ่งกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความตื่นตาตื่นใจต่อเรื่องราวที่ดำเนินไปในฉากต่างแดนในครั้งนี้ด้วย
นอกจากความเป็นไพรัชนิยายแล้ว ยาขอบยังกล้าที่จะแหวกขนบการเขียนเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่ตื่นตัวในหนังสือพิมพ์รายวันอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เพราะแต่เดิมจะพบว่านักเขียนและนักอ่านในช่วงนั้นนิยมเขียนและอ่านเรื่องที่นำเกร็ดที่ได้จากพงศาวดารมานำเสนอ โดยมุ่งเน้นว่าใครจะเขียนได้ถูกต้องตามพงศาวดารมากกว่ากัน จนปรากฏว่านักเขียนบางคนสามารถที่จะเขียนเรื่องได้อย่างเดียวกับหนังสือพงศาวดารที่เคยพิมพ์มา  ดังนั้น  เมื่อ ยาขอบเขียนเรื่อง ยอดขุนพลและ ผู้ชนะสิบทิศด้วยความตั้งใจที่จะบำเรอผู้อ่านด้วยความสนุกและด้วยความงามของศิลปะการประพันธ์  แทนที่จะดำเนินเรื่องตามพงศาวดารเดิม จึงถูกโจมตีจากนักเขียนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก จนมีประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ในทำนองที่ว่าไม่ควรไปหลงอ่านเรื่องที่นักเขียนหน้าใหม่คนนี้เขียนขึ้น เพราะไม่มีหลักอ้างอิงให้ความรู้ในทางพงศาวดาร แต่ ยาขอบก็ยังกล้าที่จะยืนยันความมุ่งมั่นและความตั้งใจของเขาในการเขียน เรื่องปลอมประวัติศาสตร์ขึ้น
            การที่ยาขอบกล้าที่จะชี้แจงให้ผู้อ่านของเขาทราบตั้งแต่แรกในส่วนบทนำของ ผู้ชนะสิบทิศเล่ม 1 ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องปลอมประวัติศาสตร์  โดยเขียนไว้ว่า ในที่นี้และโดยหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อท่านผู้อ่านด้วยความคารวะว่า ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกต้องอยู่ในผู้ชนะสิบทิศ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยอารมณ์ฝัน ผู้ชนะสิบทิศถูกปลอมขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นพงศาวดารด้วยอารมณ์ฝันเท่านั้น [หน้า ()] การสารภาพเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านไม่จ้องจับผิดในเรื่องถูกต้องของเหตุการณ์ หรือเรื่องราวว่าเป็นไปตามที่ปรากฏในพงศาวดารจริงๆหรือไม่  แต่ผู้อ่านสามารถดื่มด่ำไปกับอรรถรสที่ได้จากเรื่องอย่างเต็มที่  จากประเด็นนี้จึงเห็นได้ว่า ผู้ชนะสิบทิศนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับวัฒนธรรมของการเสพงานแนวนี้  โดยเปลี่ยนความนิยมจากเรื่องที่ถูกต้องตามพงศาวดารเป็นการดื่มด่ำและชื่นชมในความสนุกของเรื่องและความงามของศิลปะการประพันธ์แทน
            ยาขอบกล่าวว่ามีข้อมูลดิบในการเขียนเรื่องมาจากข้อความเพียง 8 บรรทัดที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิประพันธ์พงศ์ฯ หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 4 ถึง บรรทัดที่ 11 ความว่า
ราชกุมาระกุมารีแลจะเด็ดทั้ง ๓ ก็เล่นหัวสนิทสนมเจริญวัยมาด้วยกันในพระราชวังเมืองตองอูจนรุ่นขึ้น  อยู่มาวันหนึ่งพระราชเทวีทรงสังเกตเห็นอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกล เหลือจะอภัยโทษได้ในระหว่างพระราชบุตรีกับของจะเด็ดบุตรพระนมของพระราชกุมารมังตรา อันเป็นอนุชาต่างมารดาของพระราชธิดาองค์นั้น จึงกราบทูลฟ้องพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์กริ้ว พระมหาเถรขัติยาจารย์ขอพระราชทานโทษจึงโปรดอภัยให้ แล้วตรัสให้ไปรับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้น้อยอยู่ในกรมวัง จะเด็ดพากเพียรพยายามเอาใจใส่ในราชการโดยจงรักภักดีอย่างแข็งแรงที่สุด จึงได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นนายทหารมีตำแหน่งแลยศสูง
ความสามารถของยาขอบที่นำข้อมูลเพียงเท่านี้มาขยายต่อและสร้างความอลังการให้กับเรื่องราโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากการสู้รบระหว่างเมืองใหญ่  อันได้แก่ ตองอู หงสาวดี แปร อังวะ ยะข่าย และกรุงศรีอยุธยา ได้อย่างสมจริงและน่าตื่นตาตื่นใจ  ผู้วิจารณ์เห็นว่าแม้ยาขอบจะกล่าวว่าเขานำเกร็ดเพียง 8 บรรทัดจากพงศาวดารมาสร้างเรื่อง  หากแต่ความสมจริงในการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดทัพ หรือยุทธวิธีในการสู้รบที่ใช้นั้น ผู้วิจารณ์เชื่อว่ายาขอบไม่ได้คิดขึ้นมาจากความนึกฝันเพียงอย่างเดียว  แต่เขาได้มาจากการอ่านและการค้นคว้ามาเป็นอย่างดี  ซึ่งการวิธีการรบและการจัดทัพที่เขาใช้อาจได้มาจากตำราพิชัยสงครามโดยตรง  หรือบางส่วนก็ได้มากจากหนังสือ
เล่มอื่น อาทิ ใน "ผู้ชนะสิบทิศ" บางตนทำให้ผู้วิจารณ์นึกไปถึงเรื่อง "สามก๊ก" เช่น ตอน สงครามแปรครั้งที่สองในเล่ม 2 ที่จะเด็ดวางแผนให้ทหารขนทรายใส่กระสอบทอดทำทำนบลงปิดแควบึงและแม่น้ำ 8 สายที่จะไหลลงแม่น้ำอิระวดีเพื่อปล่อยน้ำทะลายกำแพงเมืองแปรนั้น  คล้ายกับตอนที่ขงเบ้งวางแผนให้กวดอูขึ้นไปทำการทอดทำนบทรายทดน้ำอยู่ที่ต้นแม่น้ำแปะโหเพื่อปล่อยเข้าทำลายเมืองซินเอี๋ยและกองทัพของโจโฉเช่นกัน หรือ ตอน เผาเมืองจะเอาเมียในเล่ม 3 เป็นตอนที่จะเด็ดวางแผนเผาหมู่เรือรบในอ่าวเมืองเมาะตะมะเพื่อนำเรือกำปั่นทรงของตะละแม่กุสุมาหนีออกมาจากเรือคุ้มกัน  คล้ายกับกลยุทธ์ที่ขงเบ้งและจิวยี่ที่ใช้อุบายวางเพลิงเผาทัพเรือมหึมาของโจโฉ ดังนั้น เมื่อยาขอบสามารถนำสิ่งที่เขาศึกษาและอ่านพบมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมจนสามารถดึงดูดให้ผู้อ่านคล้อยตามและเห็นจริงตามที่เขานำเสนอทั้งในการรบและกลศึก
            แม้ว่ายาขอบปรารถนาที่จะสร้างผู้ชนะสิบทิศให้เป็นเพียงนวนิยายปลอมประวัติศาสตร์  แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าท้ายที่สุดนวนิยายเรื่องนี้กลับกลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของพม่าในส่วนที่เกี่ยวกับบุเรงนอง   เนื่องจากผู้อ่านส่วนใหญ่คล้อยตามและเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏในเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของพม่าหรือพงศาวดารพม่า  ความสมจริงที่ ยาขอบสร้างให้กับนวนิยายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้อ่านชาวไทยเท่านั้น  แต่ยศ  วัชรเสถียร ได้เป็นผู้เล่าไว้ว่ามีพวกพม่าที่เป็นนักสร้างภาพยนตร์ได้มาติดต่อเพื่อซื้อลิขสิทธิ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยติดต่อมาทางคุณเชื้อ  อินทรฑูต ผู้ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มการพิมพ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศของยาขอบเป็นเล่มขาย จนถึงขั้นเตรียมจะทำสัญญาและเลือกทำเลถ่ายทำในพม่า แต่แล้วก็ล้มเหลวลง เรื่องยุติลงว่า พม่ารู้ว่าไม่ใช่พงศาวดารจริงๆ[1]  
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่เห็นว่าความลวงทางประวัติศาสตร์ที่ยาขอบสร้างขึ้นกลายเป็นความสมจริงทางประวัติศาสตร์นั้นคือ ความรู้ของคนในสังคมไทยต่อประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆของพม่ามีข้อจำกัด ความรับรู้และความสนใจกับประวัติศาสตร์และความเป็นอยู่ของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่ามีน้อยมาก สังคมไทยรับรู้เรื่องราวและประวัติศาสตร์ของพม่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของไทยเท่านั้น เช่น สงครามระหว่างไทยกับพม่า  การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2  ทั้งนี้ คนไทยก็รู้จักพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (มังตรา)และบุเรงนอง(จะเด็ด)จากประวัติศาสตร์ว่าเป็นกษัตริย์และแม่ทัพพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ ในปี พ.. 2112 เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้  ผู้ชนะสิบทิศจึงเป็นเสมือนส่วนเติมเต็มช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป  ช่วยทำให้ผู้อ่านรับทราบบุคลิกลักษณะ อัธยาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆของประเทศพม่าในช่วงเวลานั้นได้มากขึ้น เมื่อความรับรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์พม่าของคนส่วนใหญ่มีน้อย ประกอบเรื่องราวที่ยาขอบสร้างขึ้นความสมจริงมาก  จึงทำให้คนส่วนใหญ่แปลสิ่งที่รับรู้จากผู้ชนะสิบทิศว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
            นอกจากการสร้างประวัติศาสตร์แล้ว  เสน่ห์ในการสร้างตัวละครในเรื่องนับเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ช่วยสร้างความสมจริงทางประวัติศาสตร์และสร้างเสน่ห์ให้ผู้อ่านชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้ จะพบว่ายาขอบสร้างให้ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องมีชีวิต มีบุคลิกลักษณะที่เด่นชัด ซึ่งนับเป็นสีสันของเรื่อง ตัวละครในเรื่องมีชีวิต ความคิดเหมือนคนจริงๆ เพราะมีทั้งความดีและความเลว สามารถที่จะทำถูกและทำผิดได้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง ยาขอบสามารถที่จะนำเหตุผลมาชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าที่ตัวละครตัดสินใจทำผิดเช่นนั้นได้ก็เพราะมีเหตุผลหรือมีมูลเหตุสำคัญที่ชักจูงให้เขาทำ เช่น สอพินยาวางแผนลวงลักพาตะละแม่กุสุมาจากเมืองแปรและวางยาจนได้กุสุมาเป็นมเหสีก็เนื่องมาจากความรักกุสุมาอย่างแท้จริง หรือ การที่จิสะเบงยอมทรยศต่อตองอูก็เพราะหลงเชื่อคำลวงของไขลู  แต่เมื่อใกล้ตายเขาก็รู้สำนึกในความผิดของตัวจนออกปากให้จะเด็ดใช้ศพของตัวเป็นเครื่องเตือนใจแก่ลูกหลานชาวตองอู ดังตอนที่จิสะเบงกล่าวว่า “…ข้าพเจ้าใคร่จะให้ศพตัวเองปรากฏบนขาหยั่ง อยู่ท่ามกลางที่สายตาคนทั่วปวงจะเห็นได้โดยง่ายให้เพื่อนร่วมชาติได้พิจารณาแล้ว แลหวาดหวั่นต่อกรรมอันชั่วไว้สถานหนึ่ง ศพตัวอยู่ในที่ต้องประจานเป็นการทุเรศเหลือประมาณดั่งนี้ พ่อแม่ชาวตองอูทั้งหลาย จะได้สำเหนียกไว้สอนบุตรหลานตนเบื้องหน้าว่า อย่าได้เอาเยี่ยงอย่างเจ้าจิสะเบง ยามตายก็ตายประหลาดกว่ามนุษย์เขา เพราะตายด้วยมือผู้ให้กำเนิดของตนเอง (เล่ม 5, หน้า 2964-2965) ด้วยเหตุนี้ ในนวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ปรากฏว่าเป็นการนำเสนอภาพของตัวละครในอุดมคติที่มีความดีเพียงอย่างเดียวหรือความเลวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  
            การที่ยาขอบเขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยแบ่งเนื้อความของเรื่องออกเป็นตอนสั้นๆต่อกันไปตลอดเรื่องนั้น  อาจมีสาเหตุจากการเขียนเพื่อลงในหนังสือพิมพ์เป็นหลัก หากแต่การแบ่งเรื่องเป็นตอนๆเช่นนี้ก็นับเป็นประโยชน์ต่อการเขียนนวนิยายขนาดยาวเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยส่งผลให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นพัฒนาการ บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ และเข้าถึงตัวละครทุกตัวในเรื่องอย่างใกล้ชิด  เพราะตอนสั้นๆเหล่านี้เป็นเสมือนเรื่องย่อยเล็กๆที่กล่าวถึงและให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นรายๆไป ทั้งนี้ หากตัวละครใดเป็นตัวละครสำคัญ เรื่องราวของตัวละครตัวนั้นก็จะปรากฏอยู่ในหลายตอนของเรื่อง เช่น จะเด็ด มังตรา กุสุมา จันทรา สอพินยา และไขลู เป็นต้น  การที่ผู้อ่านได้สัมผัสกับตัวละครต่างๆผ่านเหตุการณ์ มุมมองและความคิดคำนึงของตัวละครนั้นช่วยสร้างความเข้าใจของผู้อ่านต่อ
ตัวละครนั้นๆได้อย่างลุ่มลึกและชัดเจนขึ้น นอกจากนี้จะพบว่าชื่อตอนที่ใช้ก็นับเป็นกุญแจสำคัญที่บอกผู้อ่านว่าขณะนี้ยาขอบกำลังให้ความสำคัญของเรื่องไปที่ตัวละครตัวใด เพราะจะปรากฏชื่อตัวละครที่ชื่อตอนเกือบทุกครั้ง เช่น ตอนตองสาตกยาก” “ตอนสอพินยาครวญ” “ตอนอเทตยาคนซื่อ” “ตอนโชอั้วใจอ่อนหรือ ตอนจะเด็ดขึ้นตองอูเป็นต้น  แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของจะเด็ดเป็นหลัก แต่เมื่อยาขอบไม่ได้สร้างเรื่องโดยอาศัยมุมมองจากจะเด็ดเพียงมุมมองเดียว แต่กระจายการเล่าเรื่องและการดำเนินเรื่องผ่านมุมมองและเรื่องราวของตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเรื่อง ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินเรื่องเช่นนี้ นอกจากช่วยลดความน่าเบื่อของการดำเนินเรื่องโดยตัวละครเอกแล้ว ยังช่วยชักจูงให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึง เข้าใจและจดจำตัวละครในเรื่องทุกตัวได้ทั้งหมด แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องขนาดยาวและมีตัวละครอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม จึงนับว่าการเลือกวิธีการนำเสนอเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดความสับสนของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครแล้ว ยังช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับงานเขียนชิ้นนี้ด้วย
            แม้ว่าตัวละครที่ปรากฏในเรื่องจะมีมากกว่า 20 ตัว แต่ตัวละครสำคัญที่ยาขอบบรรจงสร้างขึ้น คือ จะเด็ดหรือบุเรงนอง ผู้อ่านจะรู้สึกว่ารับรู้เรื่องราวและเข้าใจความคิดคำนึงของจะเด็ดในทุกเรื่องที่เขาทำ เพราะยาขอบมักจะอธิบายความคิดคำนึงของจะเด็ดเพื่อให้ผู้อ่านรับทราบในทุกเรื่อง อาจกล่าวได้ว่ายาขอบสร้างให้จะเด็ดเป็นเสมือนวีรบุรุษสามัญชน เนื่องจากจะเด็ดเป็นตัวละครสามัญที่สร้างตัวขึ้นมาจากความพากเพียร ความฉลาด ความเก่ง และความภักดีอย่างแท้จริง จากลูกแม่นมหลวงไต่เต้าจนกระทั่งได้ยศบุเรงนอง และสูงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดได้ปราบดาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เฉลิมพระนามว่าพระเจ้าสิริสุธรรมราชา  ความพยายามของ ยาขอบไม่เพียงแต่มุ่งสร้างให้จะเด็ดเป็นที่ผู้มีบุคลิกภาพเป็นที่ชื่นชมและยอมรับของตัวละครต่างๆในเรื่องเท่านั้น  แต่เสน่ห์และคุณสมบัติอันโดดเด่นของจะเด็ดที่ถูกสร้างขึ้นนั้นก็ส่งผลให้ผู้อ่านเชื่อ คล้อยตามและชื่นชมจะเด็ดร่วมไปกับตัวละครในเรื่องด้วย จะเด็ดไม่เพียงแต่เป็นคนเก่งในเชิงอาวุธและเจนจบในพิชัยสงครามตามที่มหาเถรกุโสดอและคะตะญีครูดาบสอนเท่านั้น แต่เขาได้นำสิ่งที่เรียนรู้และเจนจบมาปรับใช้ให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับในการสงครามหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชนะกองทัพโมยิน การตีเมืองแปร เมาะตะมะ หงสาวดี ยะข่าย หรือแม้แต่กรุงศรีอยุธยา
นับเป็นข้อพิสูจน์ฝีมือเขาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณสมบัติเด่นอีกอย่างที่ทำให้จะเด็ดเป็นที่ชื่นชม คือ ความจงรักและภักดีต่อราชวงศ์ตองอู  มังตรา และมหาเถรกุโสดอ ในหลายตอนที่ยาขอบสร้างเหตุการณ์ที่เป็นเสมือนบททดสอบคุณสมบัติข้อนี้ของจะเด็ด ซึ่งเขาก็สามารถผ่านบททดสอบได้ในทุกครั้ง โดยแสดงความภักดีให้ประจักษ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักที่มีต่อนันทะวดี แต่เมื่อทราบว่ามังตรารักนันทะวดีเขาก็สละให้ ดังข้อความที่ปรากฏในตอนเพื่อนรักเมียงามที่ว่า “…พินิจหน้าแม่นันทะวดีแล้วถอนใจใหญ่ รำพึงว่าผิดจากมังตราเพื่อนตายแล้ว ถึงหากเป็นเมีย
พระอินทร์ ก็หายอมละมือไม่ ขอให้เทพยดาเบื้องบนจงเป็นทิพยพยานเถิด ข้าพเจ้าจะทรยศกับมังตราหาไม่ …”
(เล่ม 1, หน้า 158) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความประทับใจเฉพาะต่อมังตราเท่านั้น แต่ยังกระทบความรู้สึกของผู้อ่านด้วย หรือตอนที่จะเด็ดสาบานต่อหน้าพระมหาเถรกุโสดอว่าจะไม่มีวันทรยศต่อมังตราว่า “…เบื้องหน้ามิว่ามิตรหรือเมียรัก ผู้ใดบังอาจว่าการข้อนี้แก่หูข้าพเจ้าซ้ำสองหน จะตัดศีรษะเสียแม้นไม่ทำเหมือนว่าก็ให้ชีวิตอันตราย อย่าข้ามไปเห็นตะวันอีกรุ่งหนึ่งเลย แลผู้อื่นนอบน้อมสำแดงให้แจ้งถึงอิสริยยศอันใหญ่ก็ดี  แต่หากนิดหนึ่งในดวงจิตก็มิได้สำคัญตนว่าสูงกว่าครั้งเมื่อยังน้อยเลย ข้าพเจ้าหยั่งอกตัวเองได้ซึ้งถึง จึ่งกล้าให้สัตย์ตัวเองไม่กลัววันหน้าคลอนแคลน   (เล่ม 7 ,หน้า 3891)  หรือตอนที่บุเรงนองถวายชีวิตเพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อองค์ตะเบงชะเวตี้ว่า “…ด้วยบัดนี้ก็พูดกันแจ่มสิ้นแล้ว จึงเหลือแต่หน้าที่ท่านจะตัดสินการทั้งปวงเอาเอง ข้าพเจ้าทูลให้ท่านรู้ถึงความที่ควรริษยาที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าที่ท่านแจ้งเรื่องแล้ว จะได้ประหารข้าพเจ้าเสียให้สิ้นที่พะวักพะวงเบื้องหน้า…” (เล่ม 8, หน้า 4925) หรือแม้แต่ความรักพวกพ้อง และหรือความเมตตาต่อทหารไม่ว่าของฝ่ายตนหรือฝ่ายศัตรู ดังตอนที่จะเด็ดมีชัยเหนือหงสาวดีแล้วยังประกาศให้ทหารตองอูปฏิบัติตามว่า "มิให้ทหารตองอูแลแปรในบังคับทำร้ายชาวเมืองสืบไป ขณะสิ้นศึกอันเป็นหน้าที่แล้วประการหนึ่ง…” (เล่ม 7, หน้า 4141) คุณสมบัติเหล่านี้คือเสน่ห์ข้อใหญ่ที่ทำให้จะเด็ดเป็นที่รัก เคารพ และยำเกรงแก่คนทุกผู้
            ยิ่งไปกว่านั้น ฉากรักระหว่างรบนับเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง  จะพบว่าฉากรักต่างๆที่ปรากฏในเรื่องนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและชี้ให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของจะเด็ดนั่นก็คือ การเป็นสุภาพบุรุษนักรัก ในเรื่องจะเด็ดมีภรรยาทั้งสิ้น 6 คน อันได้แก่ ตะละแม่จันทรา ตะละแม่กุสุมา ตะละแม่มินบู นางอเทตยา  นางเชงสอบู และนางตองสา แต่ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกรังเกียจจะเด็ดว่าเป็นคนเจ้าชู้ เนื่องจากยาขอบสร้างความชอบธรรมให้กับจะเด็ดในการมีภรรยาหลายคน  และลักษณะของภรรยาทั้ง 6 คน ของจะเด็ดก็มีลักษณะและอุปนิสัยต่างกันจนเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าจะเด็ดรักตะละแม่จันทราด้วยใจภักดี รักตะละแม่กุสุมาด้วยใจปอง รักตะละแม่มินบูเพราะรู้สึกผิดที่ทรยศความไว้ใจของนางโดยลวงให้นางตกเป็นของตะเบงชะเวตี้ รักเชงสอบูโดยเอ็นดูอย่างน้องและความซื่อสัตย์ที่นางให้มาตลอดเวลา รักอเทตยาเพราะเห็นแก่ความรักและความภักดีของนาง เพราะอเทตยากล่าวว่าถ้าตกเป็นของชายอื่นนอกจากจะเด็ดแล้วจะฆ่าตัวตาย และรักตองสาอย่างนางทาสที่สวามิภักดิ์กับตนและปรารถนาที่จะเลี้ยงดู ทั้งนี้ ตลอดเรื่องแม้จะเด็ดจะเป็นคนเจ้าชู้มีภรรยาหลายคน  แต่จะเด็ดก็ไม่เคยผิดบัง หลอกลวง หรือทำกลให้ผู้หญิงเหล่านั้นมาชอบ  แต่ตลอดเวลาเขาก็กล้าที่จะเปิดเผยว่าเขารักใครมาบ้าง และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเมื่อทราบความจริงทั้งหมดแล้วยังจะคงรักเขาต่อไปหรือไม่ ความจริงใจเช่นนี้ก็นับเป็นเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้ผู้อ่านไม่นึกรังเกียจในความเจ้าชู้ของเขามากเท่าไรนัก เช่น ตอนที่ตะละแม่กุสุมาถามจะเด็ดว่าเส้นผมที่อยู่ในกลักงาที่คล้องคออยู่เป็นของใคร จะเด็ดก็ตอบนางอย่างไม่ปิดบังว่า “…เมื่อน้องนางผู้เป็นเจ้าของนี้อ่อนอายุกว่าก็นับอยู่ในฐานะน้อง พออายุเติบกล้ารู้จักเรียนรู้จักคิด นางนั้นก็คอยบำรุงใจตักเตือนให้ทำความดีใฝ่ใจประหนึ่งนางเป็นพี่ ครั้งนี้เพื่อทวีตัวให้มีราคากว่าเก่าข้าพเจ้าจึงต้องละถิ่นเดิมมา นางผู้นั้นก็คงเป็นห่วงคอยข้าพเจ้าประหนึ่งมารดาห่วงบุตร ส่วนความผูกพันในกันและกันนั้น ชาตินี้ทั้งชาติวันใดจะแยกออกมิได้แล้ว (เล่ม 1, หน้า 383) หรือจะเด็ดกล้าที่จะบอกกับตะละแม่จันทราว่าเขารักกุสุมาด้วยเช่นกัน  ดังตอนที่ว่า “…ข้าพเจ้ารักกุสุมาไม่มีใดเทียม เพราะนางโน้นเสียสาวแล้วยังสู้ชิงคืน แต่การครั้งนี้จะลงเอยว่าข้าพเจ้ารักเขาเกินจันทรามิได้ก่อน วิสัยคนได้สิ่งใดเป็นอย่างหนึ่งแล้ว แลหรือจะสู้ยากมาใฝ่ที่สองรองลงมาอีก ถ้านางโน้นเป็นสุดที่รักของข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใดสูงไปกว่าแล้ว  ข้าพเจ้าก็ควรรักนางโน้น แลจะมาสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพราะความที่จันทราบริภาษกลใด…” (เล่ม 5, หน้า 3053)   
            สำนวนโวหารของเรื่องนับเป็นเสน่ห์สำคัญที่ส่งผลให้นวนิยายเรื่องนี้คงอยู่ในใจผู้อ่านตลอดมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โวหารรักของจะเด็ด ดังความอมตะวาจาตอนหนึ่งของเรื่องนี้ที่อยู่ในความทรงจำของผู้อ่านคือ ข้อความที่จะเด็ดกล่าวกับตะละแม่จันทราว่า ข้าพเจ้ารักน้องท่านนี้โดยใจภักดิ์  ส่วนที่รักตะละแม่เมืองแปรสิรักโดยใจปอง” (เล่ม 2, หน้า 928) ความสละสลวยของภาษาในโวหารรักที่ปรากฏในเรื่องนับเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ยาขอบสร้างขึ้น ทั้งนี้ ยาขอบได้กล่าวถึงที่มาซึ่งเขาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างโวหารรักต่างๆในเรื่อง เขาเขียนเล่าไว้ในเรื่อง คำปราศัยในหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ  ว่า
            ฉันตั้งพิธีในอันที่จะเริ่มเขียนนี้ด้วยความวิตถารไม่น้อยและไม่น่าจะมีผู้คาดไปถึง โดยปกตินั้นแม้จนปัจจุบันนี้ความสุขอันยอดเยี่ยมของฉันคือการเขียนจดหมายถึงผู้หญิง คราเมื่อฉันจะเริ่มเขียนหนังสือนั้น ก็มารำพึงถึงด้วยตนเองว่า ความรัก ความคิดคำนึง หรือการโอ้โลมและคั่งแค้นหวงหึง ถ้ามาประดิษฐ์คิดแต่งเอาด้วยสมอง ที่ไหนมันจะเข้าหูมนุษย์ สู้ไปลอกเลียนจากบรรดาจดหมายที่เราเขียนไปแล้วไม่ได้เมื่อได้คำนึงเช่นนี้แล้ว ฉันก็ออกวิ่งเที่ยวขอจดหมายของฉันคืนมาจากบรรดาผู้รับทั้งหลายรวบรวมคืนได้ราว ๗๐๐ ฉบับ แล้วก็มาลอกบางประโยคบางตอนที่เห็นว่าจะใช้ในการเขียนหนังสือไปเบื้องหน้าได้เข้าไว้  เป็นอันว่าฉันได้สร้างเครื่องมือพรรณนาความเรียงในเรื่องรักๆใคร่ๆไว้สำหรับให้ตนเองใช้ จากสิ่งที่เป็นของตนเองแต่ดั้งเดิมมานั้นเอง…” [2]
                เมื่อวัตถุดิบของ"ยาขอบเป็นจดหมายรักของเขาเองนั้นพบว่าเขาสามารถที่จะเลือกและนำข้อความที่คัดสรรไว้มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดความงามทางภาษาได้เป็นอย่างดี ในเรื่องแม้ว่าจะเด็ดจะมีภรรยาหลายคน  และต้องกล่าวโวหารรักหลายครั้ง  แต่ผู้อ่านจะพบว่าโวหารรักที่กล่าวกับนางแต่ละคนก็ต่างกันออกไป โดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ นับเป็นความสามารถในการเลือกใช้โวหารได้ตรงกับบุคลิกของตัวละครแต่ละตัว นอกจากนี้ โวหารรักของ"ยาขอบ"มักจะเต็มไปด้วยความเปรียบ ซึ่งก่อให้เกิดจินตภาพอย่างชัดเจนขณะอ่านด้วย จึงนับว่าเป็นเครื่องมือสื่อความที่เหมาะสมจนก่อให้เกิดการสะเทือนอารมณ์ทั้งกับตัวละครและผู้อ่านด้วย เช่นตอนที่จะเด็ดตัดพ้อเชงสอบูว่า “…ชาตาบุเรงนองถึงฆาต  จึ่งบันดาลให้ความที่เชงสอบูแม่เคยรักกลับมาเป็นชังไปเสีย  ข้าพเจ้าหวังผิดเหมือนพญาคชสารป่วยหนักเมื่อใกล้กาลล้ม ก็พยุงกายเซซังจะมาในที่ล้มแห่งตน แต่ครั้นเข้าในที่หมายของตัวแล้วนางไม้เจ้าที่กลับสิ้นเอ็นดูตะละแม่ก็ดีหรือปอละเตียงพี่ท่านก็ดี  ข้าพเจ้าผูกพันกับนางเหล่านั้นก็โดยข้าพเจ้ารักนางแล้วนางจึ่งสนองรักตอบ   การนี้จึ่งต่างจากเชงสอบู ด้วยว่าเดิมข้าพเจ้ารักแม่เชงสอบูน้อยส่วนแม่เชงสอบูสิรักข้าพเจ้ามากอยู่ฝ่ายเดียว ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดแล้วเป็นความจริงข้อนี้เพิ่งได้คิดว่า ตัวจะซมซานไปแห่งอื่นไหนเลยจะมีความอาทรตัวเหมือนบ่ายหน้ามาให้เชงสอบูช่วยปลอบประโลม…” (เล่ม 3, หน้า 1695-1697)  ซึ่งต่างจากตอนที่จะเด็ดบอกรักตะละแม่กุสุมาในตอนที่ยังปลอมตัวเป็นมังฉงายว่า อนึ่งความที่มาจงใจรักตะละแม่นี้ ขออย่าเข้าใจตัวเองมีความยินดี ข้าพเจ้าจะเข้านอนเพลาใด เมื่อสวดมนตร์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยแล้ว ก็อธิษฐานขอแต่ให้สิ่งอันถือเป็นเครื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง จงบันดาลให้ข้าพเจ้าลืมกุสุมาราชธิดาพระเจ้าแปรเสียอย่าให้พะวงรัก ข้าพเจ้าประมาณราคาตัวแล้ว ก็เพียรจะไม่อาจเอื้อมรักท่านเห็นปานฉะนี้ เมื่อยังอดอาจเอื้อมมิได้ตัวเองก็เป็นอันจนใจ…” (เล่ม 1, หน้า 3379)  ด้วยเหตุนี้โวหารรักที่ปรากฏเป็นระยะๆโดยตลอดเรื่องจึงเป็นเสน่ห์ประการสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ยังอยู่ในความทรงจำ เป็นที่นิยม ชื่นชมและชื่นชอบของผู้อ่าน เพราะความงดงามของสำนวนภาษาอันเป็นความสามารถเฉพาะตัวอันสำคัญยิ่งของยาขอบซึ่งความประณีตและความละเมียดในการเลือกใช้ภาษาของเขา  ก่อให้เกิดความละมุนเชิงอารมณ์ต่อผู้อ่านอย่างสูง ประกอบกับความซับซ้อนของโครงสร้างประโยค อันเกิดจากการสรรคำเพื่อสร้างความสละสลวยเชิงภาษาและสื่อความแก่ผู้อ่าน ซึ่งส่งผลให้ผู้อ่านต้องอ่านประโยคแต่ละประโยคของ"ยาขอบ"อย่างตั้งใจ ไม่สามารถอ่านผ่านๆอย่างรวดเร็วหรืออ่านอย่างฉาบฉวยไปได้ เมื่อต้องอ่านช้าๆและตั้งใจเพื่อเก็บความและทำความเข้าใจกับสารที่จะสื่อ  จึงทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสและซึมซับความงามทางภาษา อันสะท้อนความละเมียดทางอารมณ์อย่างไม่รู้ตัว
            แม้ว่าเรื่องราว เหตุการณ์และชีวิตต่างๆของตัวละครที่ดำเนินอยู่โดยตลอดเรื่องสร้างสีสันให้กับนวนิยายเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย  เสน่ห์ของเรื่องไม่ว่าจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ การสร้างตัวละคร ความงดงามของภาษา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่อง การสนทนาหรือแม้แต่โวหารรักก็สร้างความหฤหรรษ์ให้ผู้อ่านได้ไม่น้อย  แต่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาสะกิดให้ผู้วิจารณ์รู้สึกเป็นระยะๆโดยเฉพาะในเรื่องบุคลิกลักษณะของจะเด็ด  ตลอดเวลาที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้ผู้วิจารณ์ก็จะมีความเห็นคล้อยตามการปูเรื่องและการดำเนินเรื่องของ "ยาขอบ  แต่เมื่อใดก็ตามที่ "ยาขอบระบุอายุของจะเด็ด ผู้วิจารณ์ก็มักจะเกิดคำถามกับตัวเองในทุกครั้งว่าจะเด็ดมีศักยภาพหรือมีการเติบโตทางวุฒิภาวะที่เกินจริงหรือไม่ เนื่องจากว่าตลอดเวลาที่จะเด็ดออกรบและได้ชัยชนะเหนือข้าศึกนั้น อายุของเขาเพิ่งยังไม่ครบ 20 ปีหรือเพิ่งจะ 20 ปีเท่านั้น   บางครั้งก็จะเกิดความไม่มั่นใจว่าคนอายุเพียงเท่านี้จะมีความสุขุมมากพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆหรือคิดการศึกที่แยบยลได้ขนาดนี้เชียวหรือ  ซึ่งคำถามในลักษณะนี้จะปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆ  แต่ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นย่อยเพียงเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการสื่อความทั้งหมดของเรื่อง  ผู้อ่านยังคงรับสารที่"ยาขอบตั้งใจสื่อได้อย่างชัดเจน 
ผู้ชนะสิบทิศกับการสื่อความกับผู้อ่านในปัจจุบัน ผู้วิจารณ์คิดว่าแม้นวนิยายเรื่องนั้นจะเขียนขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว  แต่เรื่องราวที่ปรากฏก็ยังสามารถถ่ายทอดและสื่อสารกับผู้อ่านปัจจุบันได้  การรับรู้และการตอบสนองของผู้อ่านปัจจุบันต่อนวนิยายเรื่องนี้อาจจะพ้องกับผู้อ่านในสมัยนั้นบางประเด็น และอาจจะต่างในบางประเด็น  สำหรับประเด็นที่พ้องกันก็คือ ผู้ชนะสิบทิศนับเป็นไพรัชนิยายและเป็นการสร้างประวัติศาสตร์พม่าในมุมมองของนักเขียน เพราะเรื่องราวและเหตุการณ์ในเรื่องยังคงโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่านี่คือเรื่องจริงในประวัติศาสตร์พม่า  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความรับรู้ของคนอ่านชาวไทยในอดีตและในปัจจุบันต่อเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของประเทศพม่าก็ไม่แผกกัน เพราะความสนใจที่จะเผยแพร่ในเรื่องของประวัติศาสตร์ของพม่าในระบบการศึกษาของไทยยังคงเดิม เมื่อความรับรู้และข้อมูลในส่วนนี้ของผู้อ่านมีน้อย  ความรู้ที่จะนำไปโต้แย้งผู้วิจารณ์ หรือนำไปอธิบายถึงความจริงที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพม่าแทบจะไม่มี  ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันยังคงมีผู้เชื่อตามที่ยาขอบสร้างขึ้น ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีที่เกี่ยวกับทัศนคติที่เป็นบวกของคนไทยต่อจะเด็ดหรือบุเรงนองนั้นต่างจากคนพม่าหรือกษัตริย์พม่าองค์อื่นๆที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าเป็นศัตรูของชาติไทย เพราะความคุ้นชินที่ ยาขอบสร้างไว้
ทั้งนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้สื่อความกับผู้ชมเพียงเฉพาะการนำเสนอเรื่องราวที่อาจกล่าวว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์พม่าในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น  แต่ภาพชีวิตของตัวละครทั้งหลายที่โลดเล่นอยู่ในเรื่องนั้นต่างหาก  แต่เป็นเสมือนละครโรงใหญ่ที่สะท้อนภาพชีวิตของคนที่ปรากฏในสังคมที่ช่วยให้มองความแตกต่างและความหลากหลายในชีวิตของตัวละคร ได้มองเห็นความโลภ โกรธ หลงอันเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ได้มองเห็นมุมมองชีวิตของคนที่ว่าในชีวิตของคนๆหนึ่งไม่มีใครที่จะเป็นคนดีในทุกๆเรื่องโดยไม่เคยทำผิด  ทุกคนมีเหตุผลที่จะกระทำ มีโอกาสที่จะผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น  ด้วยเหตุนี้ ชีวิตและข้อคิดบางอย่างที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครในเรื่อง  อาจเป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนที่ช่วยให้ผู้อ่านพิจารณาและเข้าใจชีวิต ผู้คนและเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงได้มากขึ้น 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการสำคัญเกี่ยวกับการสื่อความของ ผู้ชนะสิบทิศต่อผู้อ่านในปัจจุบันและในอนาคต แม้ว่าเสน่ห์ของตัวละคร เรื่องและโวหารรักต่างๆที่ปรากฏในเรื่องนี้ยังสามารถส่งมายังผู้อ่านในปัจจุบันได้  แต่อาจจะสื่อความได้ไม่เท่ากับที่สื่อความกับผู้อ่านในอดีต  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านของคนในสังคมปัจจุบันอ่อนด้อยลง การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคำ ภาษา และโครงสร้างประโยคในปัจจุบัน อาจกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญของการเข้าถึงและเข้าใจนวนิยายเรื่องนี้ได้ เนื่องจากคำศัพท์บางคำที่ปรากฏในสำนวนของยาขอบกลายเป็นคำเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วหรือไม่คุ้นชินกับผู้อ่านในปัจจุบัน เช่น บรรจถรณ์  ฝายมือ จูลู่ เดือนงาย เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ ต่อไปภาษาอาจไม่ใช่เครื่องมือที่ผู้อ่านทุกคนจะใช้ไขเพื่อเข้าถึงความละเมียดและความลุ่มลึกทางอารมณ์  แต่ภาษาอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่จะเข้าถึงเสน่ห์อันสำคัญยิ่งในเรื่องนี้แทน ถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ที่จะทะลุกำแพงทางภาษาเพื่อเข้าถึงเรื่องราวและรับรสทั้งหมดของนวนิยายเรื่องได้อาจมีจำนวนไม่มากนัก  ด้วยเหตุนี้  จึงเป็นที่น่าห่วงว่าผู้อ่านรุ่นหลังว่าอาจจะไม่สามารถเข้าถึงหรือสัมผัสความงามทางภาษาของยาขอบได้ทั้งหมด หรือหากจะเข้าใจก็ต้องมีการศึกษาหรือทำคู่มืออภิธานศัพท์มาช่วยอ่าน นอกจากข้อจำกัดในเรื่องความหมายของคำ ความซับซ้อนของความในประโยค  ซึ่งแต่เดิมนับว่าเป็นเสน่ห์ จุดเด่นและเป็นความสามารถในภาษาเขียนของยาขอบอาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้นักอ่านรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับงานของยาขอบก็เป็นได้ 
เมื่อจุดเด่นอันเป็นต้นทางที่จะให้ผู้อ่านเข้าถึงความเป็นอัจฉริยภาพเชิงภาษาและเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่ความประทับใจของผู้อ่านต่อนวนิยายเรื่องนี้  ทั้งในเสน่ห์ของการผูกเรื่อง สร้างเรื่องและดำเนินเรื่องของนิยายเรื่องนี้กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนปฏิเสธที่จะอ่านและสัมผัสกับเรื่องจึงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง  ประกอบกับความยาวของเรื่องขนาด 8 เล่มก็อาจจะเป็นข้อจำกัดอีกประการสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านปฏิเสธที่จะอ่านงานเรื่องนี้ทั้งหมด   แต่อาจจะเป็นการตัดตอนมาให้ศึกษาเหมือนวรรณคดีมรดกของไทยเหมือนในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี” “สามก๊ก” “อิเหนาหรือ รามเกียรติ์เป็นต้น  เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นอื่นของผู้อ่านที่มีต่อเรื่องนี้จึงมิได้เป็นเพียงความเป็นอื่นในเรื่องของประวัติศาสตร์และเรื่องราวของพม่าเท่านั้น แต่"ภาษาของยาขอบวันหนึ่งอาจกลายเป็นความเป็นอื่นต่อผู้อ่านชาวไทยรุ่นต่อๆไปก็เป็นได้ 


------------------------------------------------------



[1] ช่วย  พูนเพิ่ม. “ ‘ผู้ชนะสิบทิศกับ พระเจ้าสิบทิศ’ ” ผู้ชนะสิบทิศ ฉบับย่อของ ยาขอบและ อักษราภรณ์ กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 245,2546, หน้า 359-360.
[2] . พลายน้อย  ยาขอบชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง. 2535, หน้า 94.

รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code)




การสร้างและการไข รหัสลับดาวินชี ด้วยแนวคิดสหบท

เกริ่นนำ               

            การอ่านและเข้าใจผลงานวรรณกรรมเล่มหนึ่งๆ สามารถทำได้ในหลายลักษณะขึ้นอยู่กับแนวคิดหรือทฤษฎีอันเป็นเครื่องมือที่ผู้อ่านจะเลือกใช้ในการศึกษาและตีความผลงานชิ้นนั้นๆ  เมื่อเครื่องมือในการศึกษาเปลี่ยนไป มุมมอง แนวคิดและความหมายที่ผู้อ่านได้รับจากการอ่านงานวรรณกรรมก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย  ผลงานวรรณกรรมที่ผู้ศึกษานำมาพิจารณาในครั้งนี้ คือนวนิยายเรื่อง The Da Vinci Code เขียนโดยนักเขียนชาวอเมริกันชื่อแดน บราวน์ และผู้แปลนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทยคือ อรดี  สุวรรณโกมล  โดยให้ชื่อภาษาไทยว่า  รหัสลับดาวินชี
            นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของโรเบิร์ต  แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านศาสนวิทยาสัญลักษณ์  แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่จะต้องเข้ามาเป็นผู้คลี่คลายคดีฆาตกรรม ฌาร์ค ซินิแยร์ ภัณฑารักษ์ผู้มีชื่อเสียงของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ร่วมกับโซฟี  เนอเวอ หลานสาวของซินิแยร์  ซึ่งข้อมูลเพียงประการเดียวที่พวกเขามีคือ รหัสลับที่ฌาร์ค  ซินิแยร์ทิ้งไว้ที่ศพของเขาก่อนตายเท่านั้น  รหัสลับดังกล่าวมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับผลงานศิลปะชิ้นต่างๆของดาวินชี แนวคิดทางศาสนา ตำนานและความเชื่อต่างๆ ทั้งนี้ การคลี่คลายรหัสและปริศนาต่างๆ ของพวกเขาไม่ได้นำไปสู่ฆาตกรผู้ฆ่าซินิแยร์เท่านั้น  แต่ความจริงที่พวกเขารับรู้กลับมีความสำคัญยิ่งใหญ่กว่านั้น  เพราะพวกเขาต้องเข้าไปพัวพันกับเดอะไพรเออรี่ออฟไซออน สมาคมลับที่เก็บงำความลับอันยิ่งใหญ่มานานกว่าสองพันปี  ซึ่งความลับนี้มีอำนาจมากพอที่จะสั่นคลอนความเชื่อและศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาได้
เมื่องานวรรณกรรมถูกสร้างขึ้นโดยผู้แต่งมุ่งให้ความสำคัญไปที่รหัส  การถอดรหัส และความรู้ดั้งเดิมทั้งในเรื่องของตำนานและความเชื่อทางคริสต์ศาสนา  รวมไปถึงความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผลงานศิลปะของลีโอนาโด  ดาวินชี  ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกแล้ว จึงไม่อาจเลี่ยงได้ที่ผู้อ่านต้องนำข้อมูลทุกชิ้นที่ได้มาเชื่อมต่อและถักทอเพื่อแสวงหาเส้นทางอันนำไปสู่การไขความลับที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน ด้วยเหตุนี้  เมื่อตัวบทเรียกร้องความรู้จากผู้อ่านในด้านต่างๆอย่างมากเพื่อที่จะติดตาม เชื่อมโยงเส้นทางโดยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดที่ปรากฏอยู่ทุกช่วงของการแสวงหาความจริง ผู้ศึกษาจึงเห็นว่า เครื่องมืออันเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีที่เหมาะสมที่จะใช้ในการศึกษางานวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ สหบท (Intertextuality)
แนวคิดสหบทถือว่าผลงานทุกชิ้นล้วนหล่อหลอมขึ้นจากชิ้นส่วนต่างๆของผลงานศิลปะที่เคยมีมาก่อน ซึ่งแดน บราวน์ก็อาศัยหลักการนี้ในการสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน   ด้วยเหตุนี้  กระบวนการสหบทจึงกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้อ่านด้วย เนื่องจากผู้อ่านกลายเป็นผู้ให้ความหมายในตัวบทสามารถที่จะถักทอเครือข่ายของความสัมพันธ์ของตัวบทที่อ่าน (present text) หรือระหว่างตัวบทอื่น (inter-texts)   ทั้งที่เป็นวรรณกรรมที่มีมาก่อนหรือที่เคยอ่านมาก่อน (prior texts) กับตัวบทอื่นๆ ของผู้เขียน สหบทจึงนับเป็นแนวคิดที่ช่วยให้มองเห็นทั้งทิศทางในการสร้างงานของผู้เขียน ขณะเดียวกันผู้อ่านก็สามารถสกัดความหมายจากตัวบท เนื่องจากสหบทเชื่อว่าวรรณคดีสร้างขึ้นจากระบบสัญญะและขนบวรรณศิลป์ของวรรณคดีที่มีมาก่อน ดังนั้น ระบบสัญญะ ขนบวรรณศิลป์ และวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อความหมายของตัวบท  ด้วยเหตุนี้  การอ่านอันเป็นกระบวนการเคลื่อนผ่านตัวบทต่างๆจึงทำให้ผู้อ่านมองเห็นและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายของตัวบทอื่นๆที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน จนสามารถเข้าไปในเครือข่ายของความสัมพันธ์ของตัวบทได้

สหบท :  เครื่องมือในการสร้างเรื่องของผู้แต่ง
เครื่องมือสำคัญที่สุดที่พบในนวนิยายเรื่อง รหัสลับดาวินชี ที่ แดน บราวน์ให้ความสำคัญ คือ การสร้างรหัสและการตีความรหัส  จนอาจกล่าวได้วิธีการนี้นับเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างเรื่องและการคลี่คลายเรื่องเลยก็ว่าได้  ดังที่เราจะเห็นว่าบราวน์สร้างกลุ่มตัวละครหลักของเขาโดยแบ่งหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างรหัส ไม่ว่าจะเป็นลีโอนาโด ดาวินชี ศิลปินผู้ชอบซ่อนความลับต่างๆไว้ในงานของเขา กับฌาร์ค  โซนิแยร์ ภัณฑารักษ์ผู้อุทิศตนเพื่อศิลปะและการถอดรหัสลับที่ซ่อนอยู่ในภาพศิลปะ นอกจากนี้ ยังชอบเล่นเกมส์ถอดรหัส เกมส์ภาษา และหลงใหลการไขปริศนาต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัส  เช่น โรเบิร์ต  แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านศาสนวิทยาสัญลักษณ์  โซฟี  เนอเวอ เจ้าหน้าที่ถอดรหัสของฝรั่งเศส และ เซอร์ลี  ทีบบิง นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ  
ทั้งนี้  ผู้ศึกษาเห็นว่าลักษณะและความหมายของสัญญะที่ปรากฏในเรื่องมีความสอดคล้องกับสัญญะในความคิดของนักภาษาศาสตร์ชื่อ เฟอร์ดินาน เดอ เซอร์ซูส์ (Ferdinand de Saussure) ที่แบ่งความหมายของสัญญะ (sign) ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตัวหมาย (a signifier หรือ sound-image) และ ความหมาย (a signified หรือ concept)  ซึ่งสัญญะจะมีการแปรเปลี่ยน ไม่ใช่เพราะมีความหมายอยู่ในตัวเอง  แต่เปลี่ยนเพราะความสัมพันธ์กับระบบภาษาในช่วงเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ ความหมายในภาษาจึงมีลักษณะสัมพันธ์หรือขึ้นอยู่กับบริบทของสัญญะนั้น  สัญญะไม่มีความหมายในตัวเอง แต่สัญญะอยู่ในระบบและมีความหมาย เพราะมีความแตกต่างจากสัญญะอื่นๆ 
เมื่อแดน บราวน์กำหนดให้สัญญะหรือรหัสที่ปรากฏในเรื่องมีความหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งความหลากหลายที่ปรากฏช่วยทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์และความลึกลับเพิ่มมากขึ้น  เขามิได้สร้างรหัสหรือการตีความเพียงรูปแบบเดียว แต่เขาจงใจที่จะเล่นกับรหัสและการถอดรหัสอันหลากหลาย โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและนำเสนอการสร้างและถอดรหัสที่ผันแปรอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการถอดรหัสตัวเลขที่เรียงตัวกันอย่างกระจัดกระจาย คือ 13-3-2-21-1-1-8-5  เมื่อนำมาจัดเรียงใหม่ด้วยการถอดรหัสตัวเลขระบบฟิโบนัชชี[1]จะเปลี่ยนเป็น 1-1-2-3-5-8-13-21  การใช้อนากรามหรือการสลับอักษรในการพยายามสื่อสารข้อความอันเป็นความลับ เช่น ฌาร์ค  ซินิแยร์ ทิ้งรหัสลับไว้ที่ศพของเขาอันมีข้อความที่ว่า O, Draconian devil กับ O, Lame Saint ซึ่งเมื่อนำมาถอดด้วยอนากรามจะได้ความหมายใหม่ว่าLeonardo da Vinci กับ  The Mona Lisa หรือการถอดรหัสอักษรแอทแบช [2] โดยถอดรหัสคำว่า B-P-V-M-Th เป็น S-O-F-I-A เป็นต้น
            นอกจากนี้ เดน บราวน์ยังใช้สหบทเป็นเครื่องมือในการสร้างความหมายให้กับนวนิยายของเขาด้วย กล่าวคือเขาใช้การรวบรวมตัวบทอื่นๆหรือจากวาทกรรมที่เคยมีอยู่แล้ว  ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งความหมายดั้งเดิมติดมาด้วย  การผสานและการถักทอจนก่อให้เกิดสหบทใหม่นี้เป็นเหมือนภาพปะติดปะต่อแบบโมเสก (mosaic) ของคำพูดที่มาจากตัวบทอื่นๆในลักษณะการหลอมรวมและการแปรรูปของตัวบทอื่นๆ เราจะพบว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะประหนึ่งการตัดต่อข้อความหรือความคิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตำนานของสตรีศักดิ์สิทธิ์ แนวคิดทางคริสต์ศาสนา หรือการตีความเกี่ยวกับผลงานศิลปะต่างๆ มาจัดเรียงใหม่จนเกิดภาพโมเสกใหม่ขึ้นมา  ทั้งนี้ การนำข้อความและเรื่องราวต่างๆมาจัดเรียงใหม่ในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างหนักของแดน บราวน์ในการศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตำนานเกี่ยวกับเกรล ความเชื่อทางศาสนา ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาชีวิตและผลงานของดาวินชี และรวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบของรหัสและการถอดรหัสแบบต่างๆ  โดยนำความรู้ที่ได้มาคัดสรรและตัดตอนโดยการกำหนดและวางโครงเรื่องอย่างเป็นแบบแผนเป็นอย่างดี ในการสร้างปริศนาและคลายปริศนาต่อไปเรื่อยๆจนจบเรื่อง การวางแผนและจัดเรียงข้อความและความรู้ที่มีอยู่เป็นอย่างดีนี้ช่วยทำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหลและชวนติดตาม จนสามารถสร้างความสมจริงให้กับเรื่อง  และสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้ผู้อ่านได้ เพราะเรื่องราวที่ปรากฏในเรื่องเป็นประดุจเส้นทางแปลกใหม่ มหัศจรรย์ที่ชวนให้ร่วมค้นหาและเปิดเผยความลับร่วมกับตัวละคร
            สำหรับการเลือกตัวบทหรือวาทกรรมต่างๆที่แดน บราวน์นำมาประกอบสร้างในเรื่องนี้ บางครั้งเขาก็ใช้เพื่ออธิบายและการดำเนินเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่าน  แต่ขณะเดียวกันเขาก็จงใจที่จะนำตัวบทหรือวาทกรรมที่ตรงข้ามกันเหล่านี้มาไว้ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดการปะทะกันทางอุดมการณ์และคำพูดที่เคยมีมาในอดีต  อีกทั้งเขายังใช้เพื่อเป็นการล้อเลียน (parody) ซึ่งวิธีการต่างๆนี้นับเป็นความจงใจที่จะสร้างการท้าทายและไม่ให้ความร่วมมือกับสิ่งที่กำลังล้อเลียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพิจารณาตัวบทหรือวาทกรรมที่ปรากฏใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สัญญะของอดีตในมิติของการล้อเลียนของเขา 
ด้วยเหตุนี้ วิธีการดังกล่าวจึงเป็นวิธีการสำคัญที่แดน บราวน์นำมาใช้ในการสร้างการปะทะกันทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงระหว่าง 2 แนวความคิด คือ ความเชื่อเรื่องสตรีศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อของคริสต์ศาสนาที่พยายามจะลดคุณค่าของสตรีศักดิ์สิทธิ์ลง ซึ่งการปะทะกันในกระแสความคิด 2 สายนี้ปรากฏอยู่ตลอดเรื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยเป็นลำดับ  ตัวอย่างของการปะทะกันระหว่างความคิดทั้ง 2 แนวที่พบ เช่น  ตอนที่แลงดอน โซฟี และทีบบิงคุยกันเรื่องแมรี่  แม็กดาลีนที่ว่า

“…นี่คือผู้หญิงที่อาจบดขยี้คริสตจักรให้ราบคาบด้วยมือของเธอเพียงผู้เดียว …’เธอเป็นใครคะโซฟีถาม ผู้หญิงคนนั้นทีบบิงตอบ คือแมรี่ แม็กดาลีน ครับที่รักโซฟีหันกลับมา คนที่เป็นโสเภณีน่ะหรือคะทีบบิงหายใจขัดๆราวกับคำคำนี้ทำร้ายเขาโดยตรง แม็กดาลีนไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ ความเข้าใจผิดแย่ๆแบบนั้นเป็นผลตกทอดมาจากการรณรงค์ป้ายสีคริสตจักรยุคแรกๆได้เริ่มขึ้น  คริสตจักรจำเป็นต้องทำลายชื่อเสียงของแมรี่  แม็กดาลีน เพื่อปกปิดความลับที่เป็นอันตรายของเธอ - บทบาทของเธอในฐานะโฮลี่เกรล’ ” (หน้า 288) 

นอกจากนี้ วิธีการล้อเลียน (parody) ที่บราวน์ก็นำมาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ทางความคิด  อันเป็นวิธีการการสื่อความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยความลับของโฮลีเกรล  ซึ่งการล้อเลียนที่น่าสนใจในเรื่องคือ การล้อความเชื่อเกี่ยวกับภาพเดอะลาสซัปเปอร์ของดาวินชี ซึ่งบราวน์นำมาชี้ให้เห็นความหมายใหม่ที่ซ่อนอยู่ ดังตอนหนึ่งว่า

โซฟีเดินเข้าไปใกล้ภาพเขียนด้วยความงุนงง  กวาดตาดูร่างทั้งสิบสาม มีพระเยซูคริสต์อยู่ตรงกลาง สาวกหกคนอยู่ทางซ้ายของพระองค์ และอีกหกคนอยู่ทางขวา ผู้ชายทั้งนั้นโซฟียืนยัน โซฟีพินิจดูร่างที่นั่งทางขวาถัดจากพระเยซู  ขณะที่พิเคราะห์ใบหน้าและรูปร่างของบุคคลผู้นั้น  ความประลาดใจก็แผ่ซ่าน บุคคลผู้นั้นมีผมสีแดงปล่อยสยาย มือประสานกันอยู่ดูบอบบาง และมีร่องรอยบ่งชี้ว่ามีทรวงอก โดยไม่ต้องสงสัย นั่นคือผู้หญิงโซฟีไม่อาจละสายตาจากร่างผู้หญิงที่นั่งเคียงข้างพระคริสต์ได้  เดอะลาสต์ซัปเปอร์ต้องประกอบด้วยผู้ชายสิบสามคนนี่นะ ผู้หญิงคนนี้เป็นใครกัน ถึงแม้โซฟีเคยเห็นภาพเขียนคลาสสิกภาพนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เธอไม่เคยสังเกตเห็นความแตกต่างที่กระจ่างชัดอย่างนี้มาก่อนเลยสักครั้งเดียว” (หน้า 283) 

            อนึ่ง การปะทะกันของความคิดและอุดมการณ์ที่บราวน์นำเสนอนั้นจะสังเกตได้ว่าบราวน์ไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้ตัวละครในเรื่องส่วนใหญ่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับความเชื่อของคริสต์ศาสนาเพื่อทำหน้าที่ปกป้องและให้ข้อมูลที่เป็นจริง รวมทั้งเปิดเผยความลับของผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์และโฮลีเกรลที่ถูกบิดเบือนมาเป็นระยะเวลานาน แต่เขาสร้างให้ตัวละครเกือบทุกตัวทำหน้าที่ให้มุมมองและข้อมูลกับผู้อ่านที่ต่างกันออกไป เขาสลับหน้าที่ให้ตัวละครเกือบทุกตัวค่อยๆเผยความลับออกมา อีกทั้ง ชิ้นส่วนของความลับและเรื่องราวที่ผู้อ่านรู้มาจะค่อยๆเก็บรวบรวมและนำมาประกอบกันจนท้ายที่สุดจะได้ภาพความจริงที่สมบูรณ์ กระบวนการสร้างเรื่องในลักษณะนี้จึงนับเป็นวิธีที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลากับความลับอันใหม่ที่เปิดเผยเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้นและสำคัญขึ้น นอกจากนี้ แดน บราวน์ยังปรับเปลี่ยนการใช้น้ำเสียงของตัวละครที่นำเสนอการปะทะทางความคิดก็แตกต่างและหลากหลายออกไปมีทั้งการสอน การเกลี่ยกล่อม ความงุนงง  การตั้งคำถาม และความโกรธแค้น เป็นต้น  อาทิ  แลงดอนสอนโซฟีเกี่ยวกับเรื่องเดอะไพรเออรี่ว่า

โซฟีครับ แลงดอนพูด ธรรมเนียมของเดอะไพรเออรี่ที่บุชาเทพีเรื่อยมานั้นมีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า บุรุษทรงอำนาจในคริสตจักรยุคแรกเริ่ม หลอกลวงโลกด้วยการแพร่กระจายเรื่องโกหกหลอกลวงที่ลดคุณค่าของสตรีและสร้างเรื่องเข้าข้างฝ่ายบุรุษ .. เดอะไพรเออรี่เชื่อว่าพระเจ้าคอนสแตนตินและเหล่าผู้สืบทอดราชสมบัติของพระองค์ที่เป็นบุรุษได้เปลี่ยนแปลงโลกนี้จากลัทธิเพเกินที่สตรีเป็นใหญ่ไปเป็นคริสจักรที่บุรุษเป็นใหญ่  ด้วยการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์คือปีศาจและกำจัดเทพีออกไปจากศาสนายุคใหม่ตลอดกาล  (หน้า 144)          

หรือความงุนงงเมื่อโซฟีทราบความจริงเกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในภาพเดอะลาสซัปเปอร์ของดาวินชีว่า “…โซฟีมองลงไปที่ภาพ แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่องพบว่าทุกคนที่โต๊ะอาหารต่างมีแก้วไวน์ของตนเอง  รวมทั้งพระคริสต์ด้วยสิบสามแก้ว ยิ่งกว่านั้นแก้วที่ว่าเป็นถ้วยใบเล็กๆไม่มีก้าน  และทำด้วยแก้ว ไม่มีจอกในภาพเขียน  ไม่มีโฮลี่เกรล… ” (หน้า 276 )           
นอกจาก แดน บราวน์จะใช้สหบทในการสร้างเรื่องแล้ว ผู้ศึกษาพบว่า เขายังใช้สหบทเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมทิศทางการอ่านของผู้อ่านด้วย เนื่องจากหากพิจารณาอย่างละเอียดจากเรื่องจะพบว่ารหัสทุกตัวที่ปรากฏในงานวรรณกรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพ และรหัสของสหบทที่ปรากฏเหล่านี้ก็ช่วยควบคุมทิศทางการอ่านด้วย  บราวน์ได้สร้างตัวบทขึ้นมาจากรหัสและสัญญะเพื่อถ่ายทอดและสื่อสารความคิดของเขาไปยังผู้อ่าน  แม้บางครั้งเราจะพบว่ารหัสและสัญญะต่างๆที่ปรากฏมีความหลากหลาย แม้บางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็ดูประหนึ่งว่าไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างเด่นชัดมากนัก  หากเมื่อนำสัญญะหรือรหัสที่ได้มาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งจะพบว่า รหัสทั้งหมดไม่ได้นำมาใช้อย่างเสรีหรือไร้ขอบเขตควบคุม  แต่บราวน์ได้วางแผนในการกำหนดหน้าที่  ตำแหน่งและการปรากฏของสัญญะแต่ละตัวมาเป็นอย่างดี ผู้ศึกษาพบว่ารหัสและสหบทที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นสหบทโดยตรงหรือสหบทแอบแฝงไม่ได้ควบคุมให้ตัวละครเดินตามเพื่อไขความลับต่างๆเท่านั้น  แต่ควบคุมทิศทางการอ่านและการตีความของผู้อ่านไปพร้อมๆกันด้วย จึงทำให้ผู้อ่านไม่มีโอกาสที่จะแตกแถวออกไปจากกรอบที่บราวน์กำหนดได้  เพราะการตีความสัญญะตัวหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อไขความลับจากสัญญะตัวที่มาก่อนได้เท่านั้น  แม้ว่าบางครั้งจะดูประหนึ่งว่าแดน บราวน์ ให้อิสระแก่สัญญะแต่ละตัวให้มีความหมายในตัวเองและอิสระในตัวเอง  หากแต่เมื่อนำความหมายของสัญญะที่เป็นอิสระแต่ละตัวมาประกอบกันก็จะก่อให้เกิดภาพที่เป็นเอกภาพอย่างสมบูรณ์  เนื่องจากสัญญะทั้งหมดนั้นบราวน์สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความคิดหลักของเรื่องในการเสนอความลับของโฮลี่เกรล และการมีตัวตนในความหมายใหม่ของแมรี่  แม็กดาลีน ซึ่งต่างจากความเชื่อเดิมที่ปรากฏในคริสต์ศาสนาอย่างสิ้นเชิง
เมื่อพิจารณาและวิเคราะห์ให้ลึกลงไปในเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอเรื่องของแดน  บราวน์จะพบว่าเกือบตลอดทั้งเรื่องเขาพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญหรือคุณค่าของสรรพสิ่งในโลกนี้ว่าถูกกำหนดโดยผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่สร้างจินตนาการความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงว่า  วัฒนธรรมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรหัสคู่ตรงข้ามของผู้มีอำนาจ  แต่ละการเลียนแบบที่แบ่งเป็นเพศชายและเพศหญิงที่เป็นกฎเกณฑ์นั้น  ผู้ชายมักมีรหัสของผู้ชาย  ในขณะที่ผู้หญิงไม่มี  ดังตอนหนึ่งที่ว่า

“…พลังและศักยภาพในการสร้างชีวิตของเพศหญิงนั้น  ครั้งหนึ่งเคยนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  แต่มันเป็นการคุกคามต่อการก้าวขึ้นสู่อำนาจของคริสตจักรซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  ดังนั้นสตรีผู้ศักดิ์จึงถูกตราหน้าว่าเป็นปีศาจและถูกเรียกว่าเป็นผู้มีมลทิน ผู้ชายต่างหาก  ไม่ใช่พระเจ้า ที่เป็นผู้สร้างแนวคิดเรื่อง บาปดั้งเดิมขึ้นมา โดยอ้างว่าอีฟลิ้มรสแอ๊ปเปิ้ลและเป็นเหตุให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ตกต่ำ  ผู้หญิงซึ่งครั้งหนึ่งเป็นผู้ให้ชีวิตผู้ศักดิ์สิทธิ์  ขณะนี้กลายเป็นศัตรู” (หน้า 278)

การนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆที่ถูกกำหนดผ่านวาทกรรมหรือมุมมองของผู้ชายเป็นหลักดังที่ให้อรรถาธิบายไปแล้วข้างต้น นับเป็นความพยายามของแดน  บราวน์ที่จะเปิดพื้นที่และสร้างความสำคัญให้กับแมรี่  แม็กดาลีน การกระทำของเขาในครั้งนี้จึงเป็นการถักทอตัวบทในส่วนนี้ขึ้นมาใหม่โดยการอ้างตำนานและความเชื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับแมรี่ แม็กดาลีน ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างภาพและเรื่องราวของผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์ในความหมายพิเศษ รวมทั้งให้ความสำคัญและอาจนับเป็นการสถาปนาความเชื่อในเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่  เช่น  การอ้างถึงพระประวัติ ฉบับของฟิลิป เพื่อแสดงให้เห็นว่าแมรี่ แม็กดาลีน เป็นภรรยาของพระเยซูดังตอนที่ว่า

และเพื่อนแห่งพระผู้ช่วยให้รอดคือ แมรี่ แม็กดาลีน พระคริสต์รักเธอมากกว่าอัครสาวกอื่นทั้งมวล และทรงเคยจุมพิตเธอที่โอษฐ์อยู่บ่อยครั้ง อัครสาวกอื่นขุ่นเคือง ด้วยเหตุนี้ พวกเขากล่าวกับพระองค์ว่า ทำไมพระองค์จึงรักเธอมากกว่าพวกเราทุกคน’… คำว่า เพื่อน ในยุคนั้น หมายถึงคู่แต่งงาน  (หน้า 286-287)

หรือในตอนที่ทีบบิงอธิบายให้โซฟีฟังถึงนักบุญปีเตอร์อิจฉาแมรี่ แม็กดาลีนที่เธอเป็นคนสำคัญในคริสต์จักรมากกว่าเขา ดังข้อความที่ว่า

“…แมรี่  แม็กดาลีน  ปีเตอร์อิจฉาเธอ การเดิมพันครั้งนี้ใหญ่กว่าความรัก ตรงช่วงนี้ในพระประวัติพระเยซูทรงสงสัยว่าพระองค์คงจะทรงถูกจับและตรึงไม้กางเขนในไม่ช้า จึงทรงให้คำแนะนำกับแมรี่  แม็กดาลีน ถึงวิธีการดูแลศาสนจักรของพระองค์หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ ด้วยเหตุนี้ปีเตอร์จึงแสดงความไม่พอใจที่จะต้องมารับบทรองจากผู้หญิง ผมกล้าพูดได้เลยว่า  ปีเตอร์เป็นพวกดูหมิ่นเพศตรงข้าม” (หน้า 288)

แม้ว่ากลวิธีที่บราวน์นำมาใช้มีทั้งการอ้างถึงตำนานหรือบันทึกเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังมีการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยความคิดใหม่  หรือการแสดงให้เห็นว่าสัญญะ รหัสและความหมายของผู้หญิงที่ปรากฏส่วนใหญ่ถูกให้ค่าโดยผู้ชายเป็นหลักก็ตาม  กลวิธีดังกล่าวข้างต้นได้สร้างความไม่คุ้นชินและความแปลกให้กับผู้อ่าน ซึ่งความพยายามสร้างความแปลกใหม่อันไม่คุ้นชินของบราวน์นี้อาจส่งผลกระตุ้นให้ผู้อ่านโดยเฉพาะผู้อ่านสตรีเริ่มตั้งคำถามและกลับมาทบทวนถึงสถานภาพของตนในปัจจุบัน  อันรวมไปถึงระบบคุณค่าที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่ามีความเป็นธรรมเพียงพอแล้วหรือไม่  หรือสิ่งที่เราถูกบังคับให้ยอมรับนี้สร้างขึ้นมาจากอคติของเพศชายที่ต้องการสร้างความชอบธรรมเชิงอำนาจในการปกครองเพศหญิง

สหบท  :  กุญแจสำหรับไขปริศนาของผู้อ่าน

                เมื่อรหัสและสัญญะต่างๆเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้แต่งในการสร้างเรื่องและให้ความหมายต่างๆในนวนิยายเรื่องนี้ การอธิบายและตีความสัญญะหรือรหัสลับที่ซ่อนไว้ในเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ จึงเป็นกุญแจสำหรับผู้อ่านด้วยเช่นกัน ผู้ศึกษาเห็นว่าความหมายของรหัส หรือสัญญะหนึ่งๆ จะมีความหมายไม่เหมือนกัน  แต่จะปรับเปลี่ยนความหมายไปตามบริบทที่แวดล้อมอยู่หรือเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น ความหมายของเพนทาเคิล (รูปดาว 5 แฉก) ที่โซนิแยร์วาดไว้บนหน้าท้องของเขา โดยใช้สะดือเป็นจุดศูนย์กลาง  จะพบว่าแต่เดิมเพนทาเคิลเป็นตัวแทนของเพศหญิง ซึ่งหมายถึง หญิงศักดิ์สิทธิ์หรือ เทพีแห่งสวรรค์  แต่ต่อมาเมื่อภาพยนตร์ฮอลลิวูดนำสัญญะนี้ไปใช้ทำให้ความหมายดั้งเดิมถูกเปลี่ยนไปมาก จนกลายเป็นสัญญะของปีศาจไป  และต่อมาเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกานำไปติดไว้ที่ปีกขอเครื่องบินรบในช่วงสงครามโลก ความหมายของเพนทาเคิลจึงเปลี่ยนไปเป็นตัวแทนของสงครามและความรุนแรง  
ในที่นี้ความหมายของรหัสและสัญญะมิได้ปรับเปลี่ยนความหมายไปเฉพาะเมื่อเวลาหรือบริบทแวดล้อมเปลี่ยนไปเท่านั้น  แต่เมื่อสัญญะตัวหนึ่งปรากฏตัวอย่างโดดเดี่ยวอาจสื่อความหมายหนึ่ง  แต่เมื่อปรากฏประกอบกับสัญญะอื่น  ความหมายก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน  ด้วยเหตุนี้ การศึกษาและให้ค่าความหมายหรือแปลความหมายของสัญญะที่ปรากฏ  ผู้ศึกษาจึงจำเป็นต้องพิจารณาและตีความบริบทหรือสัญญะแวดล้อมอื่นๆ ก่อนที่จะแปลความหรือถอดรหัสสัญญะเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตีความ ดังตัวอย่างในเรื่องนี้เช่นภาพดอกกุหลาบ ในที่นี้หมายถึงโรซา รูโกซา กุหลาบพันธ์เก่าแก่ที่สุด ซึ่งอาจมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ลาเฟลอร์เดอเซอเกรส์” (ดอกไม้แห่งความลับ) แต่เมื่อดอกกุหลาบมีตัวอักษร P.S. ประกอบจะมีความหมายต่างออกไป ซึ่งแลงดอนอธิบายว่า เฟลอร์เดอลิส์ เมื่ออยู่รวมกับอักษรย่อ P.S. เป็นเครื่องหมายทางการของกลุ่มภารดร เป็นตราของเขา เป็นโลโกของเขา (หน้า 130)
อนึ่ง  การสร้างหรือการถักทอตัวบทเล็กๆและวาทกรรมอันหลากหลายเป็นจำนวนมากในการสร้างเรื่องของแดน บราวน์ นับเป็นการเรียกร้องความรู้พื้นฐานจากผู้อ่านอย่างมากเพื่อจะได้ติดตามและเข้าใจเรื่องได้โดยตลอด  แต่ข้อสังเกตอันน่าสนใจที่พบ คือ เขาก็ทราบเช่นเดียวกันว่านวนิยายเรื่องนี้ของเขาเรียกร้องความรู้จากผู้อ่านอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับความเชื่อและตำนานของสตรีศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อทางคริสต์ศาสนา และรวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งเขาเองก็ทราบเช่นเดียวกันว่ามีผู้อ่านน้อยคนที่จะมีความรู้เพียบพร้อมในด้านต่างๆครบถ้วน  ดังนั้นจึงพบว่าหากเรื่องราวส่วนใดที่เขาคิดว่าอยู่นอกเหนือความรู้ของผู้อ่านทั่วไปเขาจะให้อรรถาธิบายในเรื่องนั้นๆอย่างละเอียด เช่น การอธิบายเรื่อง “PHI” หรือสัดส่วนแห่งสวรรค์ เรื่องสมาคมลับไพรเออรี่ออฟไซออน ความเป็นมาและความเชื่อของโอปุสเดอี หรือเรื่องโฮลี่เกรล เป็นต้น  แต่ถ้าเรื่องใดที่เขาเห็นว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ของเขาทราบเป็นอย่างดีแล้ว  เขาก็จะกล่าวถึงเพียงสั้นๆ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซู  การทำเช่นนี้ของเขานับว่าช่วยปรับพื้นความรู้ของผู้อ่านให้มีเท่ากันและมากพอที่จะเข้าใจและสนุกไปกับเรื่องราวที่เขาต้องการนำเสนอได้
นอกจากนี้ กลวิธีการนำเสนออันแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความคิด 2 กระแส  แม้ว่าบราวน์จะเลือกให้ความสำคัญไปที่อีกกระแสหนึ่งมากกว่าก็ตาม  แต่การปะทะทางความคิดต่างๆนั้นช่วยสร้างโลกทัศน์และมุมมองที่แปลกไปจากเดิมให้กับผู้อ่าน  ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเกิดคำถามขึ้นในใจขณะอ่านด้วยว่า ความเชื่อใหม่ที่บราวน์นำเสนอในที่นี้ ซึ่งแตกต่างจากที่เคยรับรู้และเชื่อถือมานานกว่าสองพันปี คงไม่มีอำนาจมากพอที่จะลบล้างความเชื่อเดิม  แต่ก็ก่อให้เกิดคำถามและความเคลือบแคลงสงสัยบางอย่างขึ้น ทั้งนี้  ข้อสรุปของการปะทะสังสรรค์ทางความคิดนั้นบราวน์มอบให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านของเขาว่าเลือกที่เชื่อแนวทางใดมากกว่ากัน  แต่ทั้งนี้การตัดสินใจเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผู้อ่านอาจจำเป็นต้องอาศัยวิจารณญาณของตนในการเลือก  โดยอาจต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าที่ได้จากบราวน์เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่เป็นธรรมในแนวคิดทั้ง 2 กระแสก่อนที่จะตัดสินใจก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ศึกษาพบว่าแม้สหบทจะเป็นทั้งเครื่องมือในการสร้างงานของผู้เขียนและเป็นกุญแจในการทำความเข้าใจตัวงานวรรณกรรมของผู้อ่าน แต่เนื้อหา เรื่องราว และระดับของความเข้าใจระหว่างผู้เขียน หรือแม้แต่ในหมู่ของผู้อ่านเรื่องอาจแตกต่างกันออกไป เพราะเรื่องราวที่ประกอบสร้างด้วยตัวบทเล็กๆและวาทกรรมย่อยๆเหล่านี้ยังคงผูกพันกับความหมายที่แฝงมาพร้อมกับสังคม วัฒนธรรม และแนวคิดที่มาจากต้นกำเนิดอย่างไม่อาจเลี่ยงได้  ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้อ่านที่มีภูมิหลังที่ต่างกัน อาจตีความหรือเข้าถึงความหมายของเรื่องได้ต่างกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้อ่านชาวไทยที่อยู่ในวัฒนธรรม และสังคมที่ต่างจากแดน บราวน์ และหากผู้อ่านมิได้เป็นผู้ที่มีภูมิหลังหรือขาดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ของดาวินชี  ขาดความเข้าใจในความเชื่อและตำนานทางคริสต์ศาสนา หรือแม้แต่ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องราวของตำนานจอกศักดิ์สิทธิ์และแมรี่  แม็กดาลีน  วรรณกรรมเรื่องนี้อาจเป็นเพียงบทเรียนหนึ่งที่เปิดโลกของผู้อ่านออกไปสู่เรื่องราวที่แปลกใหม่และน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ถ้าผู้อ่านเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมต้นกำเนิด หรือมีภูมิหลังและความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่แดน บราวน์อ้างถึง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ประวัติศาสตร์ศิลป์ และตำนานต่างๆ ก็อาจจะเกิดปฏิกิริยาต่องานวรรณกรรมเรื่องนี้ต่างออกไป เพราะนวนิยายเรื่องนี้มีประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆเหล่านื้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุนี้ ความรู้ของผู้อ่าน่อตัวบทหรือวาทกรรมต่างๆที่แดน บราวน์คัดสรรมาเรียงร้อยและสรรค์สร้างนวนิยายเรื่องนี้ จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้อ่านใช้เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมต่อและร้อยรัดเพื่อลบช่องว่างระหว่างตัวบทและวาทกรรมต่างๆเหล่านี้  ในการสร้างภาพความเข้าใจของตนขึ้นมาใหม่ ซึ่งภาพโมเสกที่เกิดขึ้นใหม่ของผู้อ่านเหล่านี้อาจมิใช่ภาพเดียวกัน หรืออาจไม่ได้เป็นภาพเดียวกับที่แดน บราวน์ต้องการนำเสนอในทุกรายละเอียดก็เป็นได้ เนื่องจากสหบทเปิดโอกาสให้ผู้อ่านมีอิสระในการเชื่อมต่อถักทอตัวบทและวาทกรรมต่างๆที่ปรากฏในตัวบทในแนวทางใหม่ๆอยู่เสมอ  
การศึกษานวนิยายเรื่องนี้โดยใช้แนวคิดสหบทก่อให้เกิดมุมมองความคิดและมิติอันหลากหลายที่ซ่อนอยู่ในตัวบท ทั้งในด้านการสร้างงานและทิศทางการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาตัวงานคงจะไม่สามารถพิจารณาแต่เฉพาะเพียงภาพรวมเท่านั้น  แต่ต้องให้ความสำคัญไปในทุกส่วนประกอบของตัวบทไม่ว่าจะเป็นสัญญะ คำ ตัวบทที่มีมาก่อน  เพื่อที่จะพิจารณาและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวบทหรือสหบทที่เปิดเผยและสหบทที่ซ่อนเร้น ซึ่งส่วนประกอบต่างๆเหล่านี้ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างงาน ขณะเดียวกันก็ช่วยในการตีความตัวบท  และเผยแสดงคุณค่าและความหมายที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในเรื่องทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  กลวิธีการศึกษางานโดยแนวคิดสหบทนับเป็นวิธีการอ่านละเอียดที่นอกจากทำให้มองเห็นและเข้าถึงแนวคิดที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอแล้ว  ยังช่วยให้ผู้อ่านผูกพันใกล้ชิดกับตัวบทมากขึ้น จนสามารถดื่มด่ำกับเข้าถึงกระบวนการสร้างงานของผู้เขียนอย่างลุ่มลึกมากขึ้นด้วย  

--------------------------------------------





[1] การเรียงแบบฟิโบนัชชี คือ เลขแต่ละตัวจะเท่ากับจำนวนรวมของตัวเลข 2 ตัวที่มีมาก่อน
[2] รหัสแอทแบชเป็นรหัสอักษรที่มีอายุย้อนไปถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล และปัจจุบันนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนเรื่องวิธีแทนที่แบบหมุนเวียนขั้นพื้นฐาน  รหัสอักษรแอทแบชเป็นรหัสของยิวที่ใช้โดยทั่วไป เป็นรหัสแทนที่แบบง่ายๆ ที่ใช้ตัวอักษรฮีบรูยี่สิบสองตัว ในรหัสอักษรแอทแบช ตัวอักษรแรกจะถูกแทนที่ด้วยอักษรตัวสุดท้าย ตัวที่สองจะถูกแทนที่ด้วยตัวรองสุดท้าย และเป็นเช่นนี้ต่อๆไป