โอ้ ! อลิซ ผู้น่าสงสารที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด
วรรณกรรมในปัจจุบันมีการนำเสนอในหลายรูปแบบทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ จดหมายหรือแม้กระทั่งบันทึก และวรรณกรรมยอดเยี่ยมที่นำเสนอในรูปแบบบันทึกและเป็นที่รู้จักดีของนักอ่านทั่วโลกเรื่องหนึ่ง คือ บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ ( Anne Frank : The Diary of a Young Girl ) ซึ่งเป็นบันทึกที่เขียนโดยเด็กหญิงวัย 13 ปี ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตและเหตุการณ์ต่างๆที่เธอและครอบครัวต้องเผชิญในช่วงที่ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในเยอรมนีได้อย่างลุ่มลึกและเสนอแง่มุมในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจ นอกจากเรื่องบันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ แล้ว วรรณกรรมที่เสนอในรูปแบบของบันทึกอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เรื่อง โอ้ ! อลิซ ( Go Ask Alice )
โอ้ ! อลิซ เขียนโดย อลิซ เด็กสาวชาวอเมริกันวัย 15 ปี ที่เสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตเธอได้อย่างน่าสนใจ วรรณกรรมเรื่องนี้ประกอบไปด้วยบันทึก 2 เล่ม ซึ่งบันทึกเล่มที่หนึ่งได้เสนอเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ ที่เธอได้เผชิญขณะที่เธอติดยา ส่วนบันทึกเล่มที่สองนั้นแสดงให้เห็นถึงความพยายามของอลิซที่พยายามจะเลิกยา และปัญหาต่างๆ ที่เธอต้องเผชิญในขณะที่เธอเลิกยา วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากในอเมริกา เนื่องจากได้รับการพิมพ์ซ้ำกว่า 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา และโรจนา นาเจริญ ได้แปลวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นภาษาไทย ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2542 นี้สำนักพิมพ์มติชนได้พิมพ์เรื่องนี้ซ้ำเป็นครั้งที่ 12 แล้ว จากจำนวนการพิมพ์ซ้ำที่มากครั้งเช่นนี้ทั้งในประเทศไทยและในอเมริกา แสดงให้เห็นถึงกระแสตอบรับและความนิยมของคนอ่านที่มีต่อเรื่องนี้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะเรื่องราวชีวิตที่อลิซถ่ายทอดออกมานั้น นับว่าเป็นประสบการณ์ร่วมที่สามารถเกิดขึ้นและรับรู้ได้กับคนอ่านในทุกเพศ ทุกวัย ทุกสังคมและทุกวัฒนธรรม
ผู้เขียนพบว่า ระยะเวลาเพียงปีเศษที่อลิซบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ ความเลวร้ายต่างๆ ที่เธอได้พบ ได้สัมผัสและได้เรียนรู้ขณะที่เธอก้าวเข้าไปสู่โลกของยาเสพติดนั้น ไม่ได้ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองและเพิ่มวุฒิภาวะในการเข้าใจโลกและชีวิตให้กับอลิซเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังผู้อ่านด้วย เนื่องจากเรื่องราวในบันทึกนี้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของยาเสพติดได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแทรกซึมและการแพร่ขยายของผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดที่แทรกตัวอยู่ในทุกสังคมและในทุกกลุ่มคนของสังคม อีกทั้งในอาหาร ขนมหรือเครื่องดื่มบางชนิด ก็มีการแอบใส่สารเสพติดลงไปเพื่อล่อให้คนติดยา เหมือนอย่างที่อลิซได้ถูกล่อลวงให้สัมผัสกับสิ่งเสพติดครั้งแรก ที่เธอดื่มโค้กผสมสารเสพติดขณะไปงานปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อน ซึ่งการล่อให้คนเสพยาแล้วบังคับให้เป็นผู้ขายยานั้นมีมากขึ้นและกลายเป็นหนทางทางธุรกิจการค้ายาจึงขยายวงและเพิ่มมากขึ้นทุกทีในทุกสังคม จึงทำให้ผู้ติดยาสามารถหาซื้อยาได้ง่ายและสะดวกขึ้น
อลิซไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องยาเสพติดให้กับผู้อ่านเท่านั้น แต่เธอยังช่วยเปิดเผยและตีแผ่ให้ผู้อ่านเข้าใจถึงโลกภายใน ความรู้สึกนึกคิด ความต้องการและอารมณ์ของวัยรุ่นได้อย่างชัดเจนขึ้น อลิซแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่อ่อนไหวและหมกมุ่นอยู่กับตัวเองอย่างมาก พวกเขาพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเอง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็โหยหาและต้องการความรัก ความเข้าใจ และเวลาจากพ่อแม่อย่างมากที่จะมาร่วมเข้าใจ เผชิญปัญหาและแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับพวกเขาด้วย ซึ่งอลิซก็เป็นคนหนึ่งที่โหยหาและปรารถนาให้พ่อแม่เข้าใจและรับฟังปัญหาของเธอ เธอเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “…พ่อแม่ควรจะรับฟังหรือให้โอกาสลูกพูดบ้าง ไม่ใช่เป็นฝ่ายพูดอยู่ข้างเดียวอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้จักจบสิ้น เฝ้าแต่อบรมสั่งสอน บ่นจู่จี้ไม่รู้จักหยุดหย่อน พร่ำแต่เรื่องซ้ำๆ ซากๆ พ่อแม่ทั้งหลายคงไม่เคยเป็นฝ่ายรับฟัง ไม่อยากฟัง หรือไม่ต้องการเป็นผู้รับฟัง ทำให้เด็กๆ เช่นเรารู้สึกผิดหวัง อ้างว้าง เดียวดายอยู่ในมุมซึ่งไม่มีทางระบายหรือสัมผัสกับผู้ใดได้ ไม่ว่าทางวาจาหรือทางร่างกาย” (หน้า 52)
นอกจากนี้ เรื่องอิสรภาพในการตัดสินใจ การแสดงออกและความต้องการเสรีภาพในการกระทำเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญสำหรับวัยรุ่น และเรื่องเหล่านี้บางครั้งก็เป็นปัญหาที่ทำให้พ่อแม่และวัยรุ่นเกิดความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันเสมอมา ดังเช่นที่อลิซได้พบเด็กเป็นจำนวนมากตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อรักษาความเป็นตัวของเขาเองต่อไป “…ทุกคนอยากกลับบ้าน แต่ไม่สามารถกลับไปได้ เพราะหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการยอมยกธงขาว – ยอมสูญเสียเอกลักษณ์ของตนเอง ทำให้ฉันคิดถึงเด็กนับหมื่นนับแสนที่หนีออกจากบ้าน เร่ร่อนไปทั่วทุกหนทุกแห่ง พวกเขามาจากไหน ? แต่ละคืนไปจนมุมอยู่ที่ไหน ? …” (หน้า 103) การหนีออกจากบ้านของวัยรุ่นเหล่านี้ได้สร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย อาทิ ปัญหาการเสพยาเสพติด อาชญากรรมและปัญหาโสเภณี เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น อลิซยังชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดกับวัยรุ่นนั้นนับว่าเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความเข้าใจอย่างมากจากทั้งผู้ปกครอง ครูและผู้ใกล้ชิดพวกเขา เพราะพวกเขายังขาดความรู้และประสบการณ์ที่จะเผชิญและแก้ปัญหาต่างๆได้ตามลำพัง เราจะพบว่า ถึงแม้ว่าอลิซจะมีความเข้าใจปัญหาต่างๆที่เธอเผชิญและมีวุฒิภาวะสูงกว่าเด็กวัยเดียวกับเธอเพียงใด เธอก็คิดว่าไม่ควรแก้ปัญหาใดๆ ตามลำพังอย่างที่เธอกระทำ แต่ควรนำไปปรึกษาคนอื่นด้วย ซึ่งความเห็นในเรื่องนี้อลิซเขียนไว้อย่างชัดเจนในบันทึกหน้าสุดท้ายของเธอ “…เมื่อยังเยาว์วัย ไดอารี่ย่อมมีความหมายมาก เธอช่วยให้ฉันเป็นคนมีเหตุผลขึ้นเป็นร้อย พัน หมื่นล้านเท่า แต่เมื่ออายุมากขึ้น เธอควรนำปัญหาของเธอไปปรึกษากับคนอื่นแทนที่จะเป็นตัวเองอย่างเช่นที่ฉันทำอยู่ในขณะนี้…” (หน้า 180) เป็นอันว่าการพูดกับตัวเองอาจเป็นจุดกำเนิดของวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า แต่ไม่ใช่ทางที่จะแก้ปัญหาชีวิตในทุกกรณีไป
แม้ว่าอลิซจะมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นเพียงใด แต่เธอยังเป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเธอจึงไม่อาจจะต่อสู้และเผชิญหน้ากับปัญหาที่พบในการเลิกยาได้โดยลำพัง เธอต้องการความช่วยเหลือ กำลังใจและโอกาสที่มาจากครอบครัว ครู เพื่อนและคนในสังคม แต่โอกาสเหล่านั้นปิดตายสำหรับเธอ เนื่องจากครูใหญ่ที่โรงเรียนอลิซเห็นว่า เธอเป็นเด็กที่น่ารังเกียจและประณามเธอว่าเป็นความอับอายของวัยรุ่นสาวชาวอเมริกัน อีกทั้งอลิซยังถูกคุกคามและถูกขู่โดยกลุ่มผู้ติดยาในโรงเรียน พวกเขาพยายามที่จะดึงเธอกลับไปสู่โลกของยาเสพติด แต่เมื่อเธอปฏิเสธพวกเขาก็กลั่นแกล้งเธอและครอบครัวของเธอต่างๆนานา อาทิ การแอบนำกัญชามาใส่กระเป๋าเธอ การขู่จะทำร้ายพ่อและน้องของเธอ หรือการแอบนำยาเสพติดไปสอดไส้อาหารที่เธอรับประทาน จนทำให้อลิซต้องเข้าไปอยู่และรักษาตัวในโรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งเป็นสถานกักกันผู้ติดยาเสพติด นานนับเดือนกว่าเธอจะออกไปใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนปกติได้ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเด็กที่ไม่ติดยาในโรงเรียนก็รังเกียจ ไม่ยอมรับ ไม่คุย และไม่คบเธอเป็นเพื่อน เมื่อมีเพียงคนในครอบครัวของเธอเท่านั้นที่เข้าใจและเป็นกำลังใจให้เธอต่อสู้ แต่กลับมีอุปสรรคมากมายที่เธอต้องเผชิญ ท้ายที่สุดอลิซก็ไม่สามารถฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ไปได้ แม้ว่าเธอจะใช้ความพยายามและความอดทนมากเพียงใดก็ตาม อลิซต้องจบชีวิตลงเพราะเสพยาเกินขนาด เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้อ่านไม่สามารถทราบเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจกลับไปเสพยาอีกครั้งได้ เนื่องจาก อลิซหยุดเขียนบันทึกก่อนที่เธอจะเสียชีวิตถึง 3 สัปดาห์ และในช่วงสุดท้ายของบันทึกเล่มที่สองนั้น ก็ไม่มีเหตุการณ์ใดที่บ่งชี้หรือเป็นสาเหตุให้เธอต้องกลับไปเสพยาอีก อีกทั้งชีวิตในช่วงสุดท้ายในบันทึกของเธอเต็มไปด้วยความสุข เธอมีครอบครัวและคนรักที่พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและต่อสู้ปัญหาต่าง ๆ ไปพร้อมกับเธอ
นอกจากเรื่องราวที่น่าสนใจที่ปรากฏในบันทึกแล้ว ความสามารถในทางภาษาของ อลิซเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านประทับใจเมื่ออ่านบันทึกเล่มนี้ อลิซได้ถ่ายทอดและบรรยายความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับเธอ ไม่ว่าจะเป็นความอ้างว้างที่ขาดเพื่อน หรือความเสียใจและความละอายใจที่เธอทำให้พ่อแม่ผิดหวังที่เธอติดยา หรือความโศกเศร้าที่เธอตัดสินใจจะออกจากบ้าน เพราะไม่อยากให้คนในครอบครัวต้องเดือดร้อนกับเธอด้วย ดังความตอนหนึ่งที่เธอบันทึกไว้ว่า “ลาก่อน บ้านที่น่าอยู่ ลาก่อน ครอบครัวที่แสนอบอุ่น ฉันจากไปเพราะรัก ไม่ปรารถนาให้ใครๆ เห็นว่าฉันอ่อนแอ ไม่อยากให้ใครๆ ได้กลิ่นชื่อเสียงอันเหม็นโฉ่ของฉัน ฉันเกลียดสภาพที่ต้องออกจากไฮสกูลกลางคัน ไม่กล้าแม้แต่เขียนไปขอสำเนาสอบที่ผ่านมา รู้ว่าครอบครัวและ ริชชีอาจใช้เป็นแนวทางสะกดรอยตามหาตัวพบ ฉันเพียงแต่ทิ้งโน้ตสั้นๆ ไว้ให้ทุกคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของฉัน แต่โน้ตนั้น มันไม่ได้บอกทั้งหมด รวมทั้งความรู้สึกที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน คงไม่มีใครรู้ว่าฉันรักทุกคนมากแค่ไหน” (หน้า 62) ซึ่งความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆที่อลิซถ่ายทอดออกมาเป็นระยะๆนั้นมีส่วนช่วยสร้างและกระตุ้นให้คนอ่านเกิดอารมณ์ร่วมกับ อลิซได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะผู้อ่านจะรู้สึกเสมือนว่าเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่อลิซรัก ไว้ใจและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้สึกสุขและทุกข์ รวมถึงการเล่าเหตุการณ์ต่างๆที่เธอได้เผชิญมาอย่างไม่ปิดบัง นอกจากความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกภายในของเธอแล้ว อลิซยังมีความจัดเจนในการบรรยายฉากและเหตุการณ์ต่างๆซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการและมองเห็นภาพฉากและเหตุการณ์เหล่านั้นตามเธอได้อย่างไม่ยากนัก เช่น การบรรยายฉากโรงพยาบาลโรคจิต “พวกเขาพาฉันผ่านไปตามทางเดินระหว่างห้องซึ่งกลิ่นเหม็นอับ สีลอกเป็นแผ่นๆ ดูน่าเกลียด ผ่านประตูซึ่งใส่กุญแจตลอดเวลา ทันทีที่ฉันผ่านไป บานประตูก็ล็อคตามหลัง อิสรภาพสูญสิ้น… เราเดินไปตามทางระหว่างห้องซึ่งยาวเหยียด ดูไร้จุดจบและมืดสลัว ฉันมองไปทางซ้ายและขวาซึ่งมีคนบ้าอยู่ทุกห้อง แทบทนไม่ได้ที่ต้องอยู่ในโลกของคนวิกลจริต โลกที่มีแต่คนบ้า ยังไม่ถึงห้องของฉัน แต่ฉันก็อยู่ที่นี่แล้ว” (หน้า 148)
โศกนาฏกรรมและความเลวร้ายในชีวิตของอลิซที่เธอตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่เธอต้องแลกมาด้วยชีวิตนั้น ไม่ได้เป็นบทเรียนสำหรับเธอเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบทเรียนและอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับคนอีกเป็นจำนวนมากที่ได้อ่านบันทึกชีวิตเล่มนี้ของเธอ ไม่ว่าคนอ่านคนนั้นจะอยู่ในวัยใด เพศใดหรือวัฒนธรรมใดก็สามารถซึมซับและเข้าใจถึงวิถีหรือโลกของผู้ติดยาเสพติดที่ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ของเธอได้ไม่ยากนัก เพราะอลิซได้เปิดโลกที่ปิดตายของผู้ติดยาออกสู่สังคม เธอได้ตีแผ่ความรู้สึก ความต้องการของผู้ติดยา อีกทั้งเธอยังชี้ให้ถึงความต้องการของคนเหล่านั้นที่ปรารถนาให้มีคนที่เข้าใจ รับฟัง และให้อภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะเปิดโอกาสพวกเขากลับตัวเป็นคนดี จึงนับได้ว่าบันทึกเล่มนี้ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของคนทั่วไปในสังคมต่อผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งยังช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ครู เพื่อนและคนทั่วไปของสังคมกับผู้ติดยาเสพติดให้มีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น โอ้ ! อลิซ จึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจและเชื่อมโลกของคนปกติในสังคมกับโลกของผู้ติดยาเสพติดเข้าหากัน มิใช่เป็นโลกที่แยกกันอย่างเด็ดขาดเหมือนเช่นที่อลิซเคยรู้สึกและเคยประสบมา
---------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น