วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้ชนะสิบทิศ


เสน่ห์ของนวนิยาย เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศกับการสื่อความข้ามกาลเวลา

            หากจะกล่าวถึงนักเขียนผู้หนึ่งของไทยที่ชื่อ โชติ  แพร่พันธุ์ ก็อาจจะมีผู้รู้จักไม่มากนัก  แต่เมื่อบอกว่าเขาเป็นคนเดียวกับยาขอบผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชินนามปากกานี้ของเขามากกว่าชื่อจริงหรือนามปากกาอื่นๆ อันได้แก่ กรทอง” “.ช้างหรือ กฤษณาเขานับเป็นนักเขียนยุคบุกเบิกคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ซึ่งได้สร้างผลงานไว้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น เช่น อารมณ์” “คามวสี” “เพื่อนแพงและ ผู้หญิงมุมมืด  เรื่องแปล อาทิ สนมพระจอมเกล้า” “ขวัญใจจอมขวานและ บุปผาในกุณฑีทองสารคดี เช่น สินในหมึก” “เรื่องไม่เป็นเรื่องหรือ หนุมานลูกใครผลงานเรียบเรียง เช่น มหาภารตะและสามก๊กฉบับวณิพกร้อยกรอง อันได้แก่ อะไรเอ่ยและ ยาขอบสอนตนเองหรือแม้แต่ นวนิยาย คือพรานสวาทและ ผู้ชนะสิบทิศ  แม้ว่า ยาขอบจะมีผลงานในหลายลักษณะ แต่ผลงานชิ้นสำคัญที่ยังคงเป็นที่ยอมรับและกล่าวขวัญมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือ สามก๊กฉบับวณิพกและ  ผู้ชนะสิบทิศ
            ผู้ชนะสิบทิศนับเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับยาขอบมากที่สุด จะเห็นได้ว่านามปากกา ยาขอบนั้น ศรีบูรพาหรือกุหลาบ  สายประดิษฐ์ เป็นผู้ตั้งให้เพื่อใช้เขียนเรื่อง ยอดขุนพลที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุริยา ซึ่งต่อมา แม่อนงค์หรือมาลัย  ชูพินิจได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น ผู้ชนะสิบทิศเมื่อเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ  ด้วยเหตุนี้  การตีพิมพ์ ผู้ชนะสิบทิศจึงรวมพิมพ์เรื่อง ยอดขุนพลไว้ในตอนต้นของเรื่องทุกครั้ง เพราะ ยอดขุนพลนับเป็นการกล่าวปูเรื่องในช่วงปฐมวัยของบุเรงนอง 
เป็นที่น่าเสียดายว่า ยาขอบเสียชีวิตก่อนที่จะเขียนผู้ชนะสิบทิศจบ แต่ในตอนท้ายของนวนิยายเล่มสุดท้ายของชุดนี้ คือเล่มที่ 8 มีตอนสรุปเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศของ ยาขอบนับเป็นการถ่ายทอดความปรารถนาของ ยาขอบที่วางเรื่องต่อไปจนจบแล้ว  แต่ยังไม่มีโอกาสเขียนจนเสร็จสมบูรณ์เท่านั้น  เรื่องราวทั้งหมดเรียบเรียงจากปากคำของคุณประกายศรี  ศรุตานนท์ ผู้อยู่ใกล้ชิดกับยาขอบมาเป็นเวลานานและตราบจนนาทีสุดท้ายของชีวิตยาขอบ” "ผู้ชนะสิบทิศ"นวนิยายขนาดยาวจำนวน 8 เล่มนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาคต้น ภาคกลาง และภาคปลาย  นับตั้งแต่การปรากฏตัวครั้งแรกของจะเด็ดใน ยอดขุนพลในหนังสือพิมพ์สุริยา ในปี พ.. 2474 และรวมพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.. 2476 และการออกโรงครั้งแรกของผู้ชนะสิบทิศในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 “ยาขอบได้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในวันที่ 5 เมษายน 2499 นับเป็นเวลาเกือบกึ่งศตวรรษที่เขารังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเกือบทั้งชีวิตของเขาผูกพันอยู่กับผู้ชนะสิบทิศก็คงไม่ผิดนัก
แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะเขียนไม่จบ แต่เสน่ห์ของเรื่องก็ยังคงอยู่ในความนิยมของผู้อ่านในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนครั้งที่พิมพ์รวมเล่ม ซึ่งพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง ความนิยมของผู้ชนะสิบทิศไม่ได้นิยมเฉพาะตัวงานวรรณกรรมเท่านั้น แต่เมื่อมีผู้นำไปปรับเปลี่ยนและนำเสนอในรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปแสดงละครของกรมศิลปากร ละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์  หรือการแต่งเพลงจากนวนิยายเรื่องนี้ราว 17 เพลง เช่น ผู้ชนะสิบทิศ” “จอมใจจะเด็ด” “บุเรงนองลั่นกลองรบ” “ยอดพธูเมืองแปรหรือ กล่อมอิระวดีก็ล้วนได้รับการตอบรับจากมหาชนเป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  
            เสน่ห์ของเรื่องที่คงทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องขนาดยาว 8 เล่มอย่างดื่มด่ำและชื่นชม  รวมทั้งยังสามารถครองใจผู้อ่านมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย จะพบว่าแนวเขียนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลาที่ยาขอบเขียนนวนิยายเรื่องนี้ คือ การเขียนแนวไพรัชนิยายคือการเขียนโดยใช้ฉากต่างประเทศในการเดินเรื่อง  ซึ่งในช่วงนั้นมีนักเขียนหลายคนใช้เรื่องราวชีวิตในต่างประเทศเป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่อง เช่น การใช้ฉากในประเทศอังกฤษ อเมริกาและจีน ใน สงครามแห่งชีวิตของ ม.. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ การใช้ฉากของประเทศฝรั่งเศส ใน ความรักของวัลยาของ ศรีบูรพา หรือ ปักกิ่งนครแห่งความหลังของ สด กูรมะโรหิตเป็นต้น  ผู้ชนะสิบทิศอาจนับว่าเป็นไพรัชนิยายในลักษณะหนึ่งก็ได้ เพราะพม่าที่ปรากฏเป็นฉากของเรื่องเป็นพม่าที่สร้างขึ้นจากความคิดฝันของยาขอบทั้งสิ้น ซึ่งกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความตื่นตาตื่นใจต่อเรื่องราวที่ดำเนินไปในฉากต่างแดนในครั้งนี้ด้วย
นอกจากความเป็นไพรัชนิยายแล้ว ยาขอบยังกล้าที่จะแหวกขนบการเขียนเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่ตื่นตัวในหนังสือพิมพ์รายวันอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เพราะแต่เดิมจะพบว่านักเขียนและนักอ่านในช่วงนั้นนิยมเขียนและอ่านเรื่องที่นำเกร็ดที่ได้จากพงศาวดารมานำเสนอ โดยมุ่งเน้นว่าใครจะเขียนได้ถูกต้องตามพงศาวดารมากกว่ากัน จนปรากฏว่านักเขียนบางคนสามารถที่จะเขียนเรื่องได้อย่างเดียวกับหนังสือพงศาวดารที่เคยพิมพ์มา  ดังนั้น  เมื่อ ยาขอบเขียนเรื่อง ยอดขุนพลและ ผู้ชนะสิบทิศด้วยความตั้งใจที่จะบำเรอผู้อ่านด้วยความสนุกและด้วยความงามของศิลปะการประพันธ์  แทนที่จะดำเนินเรื่องตามพงศาวดารเดิม จึงถูกโจมตีจากนักเขียนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก จนมีประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ในทำนองที่ว่าไม่ควรไปหลงอ่านเรื่องที่นักเขียนหน้าใหม่คนนี้เขียนขึ้น เพราะไม่มีหลักอ้างอิงให้ความรู้ในทางพงศาวดาร แต่ ยาขอบก็ยังกล้าที่จะยืนยันความมุ่งมั่นและความตั้งใจของเขาในการเขียน เรื่องปลอมประวัติศาสตร์ขึ้น
            การที่ยาขอบกล้าที่จะชี้แจงให้ผู้อ่านของเขาทราบตั้งแต่แรกในส่วนบทนำของ ผู้ชนะสิบทิศเล่ม 1 ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องปลอมประวัติศาสตร์  โดยเขียนไว้ว่า ในที่นี้และโดยหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อท่านผู้อ่านด้วยความคารวะว่า ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกต้องอยู่ในผู้ชนะสิบทิศ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยอารมณ์ฝัน ผู้ชนะสิบทิศถูกปลอมขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นพงศาวดารด้วยอารมณ์ฝันเท่านั้น [หน้า ()] การสารภาพเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านไม่จ้องจับผิดในเรื่องถูกต้องของเหตุการณ์ หรือเรื่องราวว่าเป็นไปตามที่ปรากฏในพงศาวดารจริงๆหรือไม่  แต่ผู้อ่านสามารถดื่มด่ำไปกับอรรถรสที่ได้จากเรื่องอย่างเต็มที่  จากประเด็นนี้จึงเห็นได้ว่า ผู้ชนะสิบทิศนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับวัฒนธรรมของการเสพงานแนวนี้  โดยเปลี่ยนความนิยมจากเรื่องที่ถูกต้องตามพงศาวดารเป็นการดื่มด่ำและชื่นชมในความสนุกของเรื่องและความงามของศิลปะการประพันธ์แทน
            ยาขอบกล่าวว่ามีข้อมูลดิบในการเขียนเรื่องมาจากข้อความเพียง 8 บรรทัดที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิประพันธ์พงศ์ฯ หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 4 ถึง บรรทัดที่ 11 ความว่า
ราชกุมาระกุมารีแลจะเด็ดทั้ง ๓ ก็เล่นหัวสนิทสนมเจริญวัยมาด้วยกันในพระราชวังเมืองตองอูจนรุ่นขึ้น  อยู่มาวันหนึ่งพระราชเทวีทรงสังเกตเห็นอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกล เหลือจะอภัยโทษได้ในระหว่างพระราชบุตรีกับของจะเด็ดบุตรพระนมของพระราชกุมารมังตรา อันเป็นอนุชาต่างมารดาของพระราชธิดาองค์นั้น จึงกราบทูลฟ้องพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์กริ้ว พระมหาเถรขัติยาจารย์ขอพระราชทานโทษจึงโปรดอภัยให้ แล้วตรัสให้ไปรับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้น้อยอยู่ในกรมวัง จะเด็ดพากเพียรพยายามเอาใจใส่ในราชการโดยจงรักภักดีอย่างแข็งแรงที่สุด จึงได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นนายทหารมีตำแหน่งแลยศสูง
ความสามารถของยาขอบที่นำข้อมูลเพียงเท่านี้มาขยายต่อและสร้างความอลังการให้กับเรื่องราโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากการสู้รบระหว่างเมืองใหญ่  อันได้แก่ ตองอู หงสาวดี แปร อังวะ ยะข่าย และกรุงศรีอยุธยา ได้อย่างสมจริงและน่าตื่นตาตื่นใจ  ผู้วิจารณ์เห็นว่าแม้ยาขอบจะกล่าวว่าเขานำเกร็ดเพียง 8 บรรทัดจากพงศาวดารมาสร้างเรื่อง  หากแต่ความสมจริงในการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดทัพ หรือยุทธวิธีในการสู้รบที่ใช้นั้น ผู้วิจารณ์เชื่อว่ายาขอบไม่ได้คิดขึ้นมาจากความนึกฝันเพียงอย่างเดียว  แต่เขาได้มาจากการอ่านและการค้นคว้ามาเป็นอย่างดี  ซึ่งการวิธีการรบและการจัดทัพที่เขาใช้อาจได้มาจากตำราพิชัยสงครามโดยตรง  หรือบางส่วนก็ได้มากจากหนังสือ
เล่มอื่น อาทิ ใน "ผู้ชนะสิบทิศ" บางตนทำให้ผู้วิจารณ์นึกไปถึงเรื่อง "สามก๊ก" เช่น ตอน สงครามแปรครั้งที่สองในเล่ม 2 ที่จะเด็ดวางแผนให้ทหารขนทรายใส่กระสอบทอดทำทำนบลงปิดแควบึงและแม่น้ำ 8 สายที่จะไหลลงแม่น้ำอิระวดีเพื่อปล่อยน้ำทะลายกำแพงเมืองแปรนั้น  คล้ายกับตอนที่ขงเบ้งวางแผนให้กวดอูขึ้นไปทำการทอดทำนบทรายทดน้ำอยู่ที่ต้นแม่น้ำแปะโหเพื่อปล่อยเข้าทำลายเมืองซินเอี๋ยและกองทัพของโจโฉเช่นกัน หรือ ตอน เผาเมืองจะเอาเมียในเล่ม 3 เป็นตอนที่จะเด็ดวางแผนเผาหมู่เรือรบในอ่าวเมืองเมาะตะมะเพื่อนำเรือกำปั่นทรงของตะละแม่กุสุมาหนีออกมาจากเรือคุ้มกัน  คล้ายกับกลยุทธ์ที่ขงเบ้งและจิวยี่ที่ใช้อุบายวางเพลิงเผาทัพเรือมหึมาของโจโฉ ดังนั้น เมื่อยาขอบสามารถนำสิ่งที่เขาศึกษาและอ่านพบมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมจนสามารถดึงดูดให้ผู้อ่านคล้อยตามและเห็นจริงตามที่เขานำเสนอทั้งในการรบและกลศึก
            แม้ว่ายาขอบปรารถนาที่จะสร้างผู้ชนะสิบทิศให้เป็นเพียงนวนิยายปลอมประวัติศาสตร์  แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าท้ายที่สุดนวนิยายเรื่องนี้กลับกลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของพม่าในส่วนที่เกี่ยวกับบุเรงนอง   เนื่องจากผู้อ่านส่วนใหญ่คล้อยตามและเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏในเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของพม่าหรือพงศาวดารพม่า  ความสมจริงที่ ยาขอบสร้างให้กับนวนิยายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้อ่านชาวไทยเท่านั้น  แต่ยศ  วัชรเสถียร ได้เป็นผู้เล่าไว้ว่ามีพวกพม่าที่เป็นนักสร้างภาพยนตร์ได้มาติดต่อเพื่อซื้อลิขสิทธิ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยติดต่อมาทางคุณเชื้อ  อินทรฑูต ผู้ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มการพิมพ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศของยาขอบเป็นเล่มขาย จนถึงขั้นเตรียมจะทำสัญญาและเลือกทำเลถ่ายทำในพม่า แต่แล้วก็ล้มเหลวลง เรื่องยุติลงว่า พม่ารู้ว่าไม่ใช่พงศาวดารจริงๆ[1]  
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่เห็นว่าความลวงทางประวัติศาสตร์ที่ยาขอบสร้างขึ้นกลายเป็นความสมจริงทางประวัติศาสตร์นั้นคือ ความรู้ของคนในสังคมไทยต่อประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆของพม่ามีข้อจำกัด ความรับรู้และความสนใจกับประวัติศาสตร์และความเป็นอยู่ของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่ามีน้อยมาก สังคมไทยรับรู้เรื่องราวและประวัติศาสตร์ของพม่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของไทยเท่านั้น เช่น สงครามระหว่างไทยกับพม่า  การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2  ทั้งนี้ คนไทยก็รู้จักพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (มังตรา)และบุเรงนอง(จะเด็ด)จากประวัติศาสตร์ว่าเป็นกษัตริย์และแม่ทัพพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ ในปี พ.. 2112 เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้  ผู้ชนะสิบทิศจึงเป็นเสมือนส่วนเติมเต็มช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป  ช่วยทำให้ผู้อ่านรับทราบบุคลิกลักษณะ อัธยาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆของประเทศพม่าในช่วงเวลานั้นได้มากขึ้น เมื่อความรับรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์พม่าของคนส่วนใหญ่มีน้อย ประกอบเรื่องราวที่ยาขอบสร้างขึ้นความสมจริงมาก  จึงทำให้คนส่วนใหญ่แปลสิ่งที่รับรู้จากผู้ชนะสิบทิศว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
            นอกจากการสร้างประวัติศาสตร์แล้ว  เสน่ห์ในการสร้างตัวละครในเรื่องนับเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ช่วยสร้างความสมจริงทางประวัติศาสตร์และสร้างเสน่ห์ให้ผู้อ่านชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้ จะพบว่ายาขอบสร้างให้ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องมีชีวิต มีบุคลิกลักษณะที่เด่นชัด ซึ่งนับเป็นสีสันของเรื่อง ตัวละครในเรื่องมีชีวิต ความคิดเหมือนคนจริงๆ เพราะมีทั้งความดีและความเลว สามารถที่จะทำถูกและทำผิดได้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง ยาขอบสามารถที่จะนำเหตุผลมาชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าที่ตัวละครตัดสินใจทำผิดเช่นนั้นได้ก็เพราะมีเหตุผลหรือมีมูลเหตุสำคัญที่ชักจูงให้เขาทำ เช่น สอพินยาวางแผนลวงลักพาตะละแม่กุสุมาจากเมืองแปรและวางยาจนได้กุสุมาเป็นมเหสีก็เนื่องมาจากความรักกุสุมาอย่างแท้จริง หรือ การที่จิสะเบงยอมทรยศต่อตองอูก็เพราะหลงเชื่อคำลวงของไขลู  แต่เมื่อใกล้ตายเขาก็รู้สำนึกในความผิดของตัวจนออกปากให้จะเด็ดใช้ศพของตัวเป็นเครื่องเตือนใจแก่ลูกหลานชาวตองอู ดังตอนที่จิสะเบงกล่าวว่า “…ข้าพเจ้าใคร่จะให้ศพตัวเองปรากฏบนขาหยั่ง อยู่ท่ามกลางที่สายตาคนทั่วปวงจะเห็นได้โดยง่ายให้เพื่อนร่วมชาติได้พิจารณาแล้ว แลหวาดหวั่นต่อกรรมอันชั่วไว้สถานหนึ่ง ศพตัวอยู่ในที่ต้องประจานเป็นการทุเรศเหลือประมาณดั่งนี้ พ่อแม่ชาวตองอูทั้งหลาย จะได้สำเหนียกไว้สอนบุตรหลานตนเบื้องหน้าว่า อย่าได้เอาเยี่ยงอย่างเจ้าจิสะเบง ยามตายก็ตายประหลาดกว่ามนุษย์เขา เพราะตายด้วยมือผู้ให้กำเนิดของตนเอง (เล่ม 5, หน้า 2964-2965) ด้วยเหตุนี้ ในนวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ปรากฏว่าเป็นการนำเสนอภาพของตัวละครในอุดมคติที่มีความดีเพียงอย่างเดียวหรือความเลวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  
            การที่ยาขอบเขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยแบ่งเนื้อความของเรื่องออกเป็นตอนสั้นๆต่อกันไปตลอดเรื่องนั้น  อาจมีสาเหตุจากการเขียนเพื่อลงในหนังสือพิมพ์เป็นหลัก หากแต่การแบ่งเรื่องเป็นตอนๆเช่นนี้ก็นับเป็นประโยชน์ต่อการเขียนนวนิยายขนาดยาวเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยส่งผลให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นพัฒนาการ บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ และเข้าถึงตัวละครทุกตัวในเรื่องอย่างใกล้ชิด  เพราะตอนสั้นๆเหล่านี้เป็นเสมือนเรื่องย่อยเล็กๆที่กล่าวถึงและให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นรายๆไป ทั้งนี้ หากตัวละครใดเป็นตัวละครสำคัญ เรื่องราวของตัวละครตัวนั้นก็จะปรากฏอยู่ในหลายตอนของเรื่อง เช่น จะเด็ด มังตรา กุสุมา จันทรา สอพินยา และไขลู เป็นต้น  การที่ผู้อ่านได้สัมผัสกับตัวละครต่างๆผ่านเหตุการณ์ มุมมองและความคิดคำนึงของตัวละครนั้นช่วยสร้างความเข้าใจของผู้อ่านต่อ
ตัวละครนั้นๆได้อย่างลุ่มลึกและชัดเจนขึ้น นอกจากนี้จะพบว่าชื่อตอนที่ใช้ก็นับเป็นกุญแจสำคัญที่บอกผู้อ่านว่าขณะนี้ยาขอบกำลังให้ความสำคัญของเรื่องไปที่ตัวละครตัวใด เพราะจะปรากฏชื่อตัวละครที่ชื่อตอนเกือบทุกครั้ง เช่น ตอนตองสาตกยาก” “ตอนสอพินยาครวญ” “ตอนอเทตยาคนซื่อ” “ตอนโชอั้วใจอ่อนหรือ ตอนจะเด็ดขึ้นตองอูเป็นต้น  แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของจะเด็ดเป็นหลัก แต่เมื่อยาขอบไม่ได้สร้างเรื่องโดยอาศัยมุมมองจากจะเด็ดเพียงมุมมองเดียว แต่กระจายการเล่าเรื่องและการดำเนินเรื่องผ่านมุมมองและเรื่องราวของตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเรื่อง ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินเรื่องเช่นนี้ นอกจากช่วยลดความน่าเบื่อของการดำเนินเรื่องโดยตัวละครเอกแล้ว ยังช่วยชักจูงให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึง เข้าใจและจดจำตัวละครในเรื่องทุกตัวได้ทั้งหมด แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องขนาดยาวและมีตัวละครอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม จึงนับว่าการเลือกวิธีการนำเสนอเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดความสับสนของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครแล้ว ยังช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับงานเขียนชิ้นนี้ด้วย
            แม้ว่าตัวละครที่ปรากฏในเรื่องจะมีมากกว่า 20 ตัว แต่ตัวละครสำคัญที่ยาขอบบรรจงสร้างขึ้น คือ จะเด็ดหรือบุเรงนอง ผู้อ่านจะรู้สึกว่ารับรู้เรื่องราวและเข้าใจความคิดคำนึงของจะเด็ดในทุกเรื่องที่เขาทำ เพราะยาขอบมักจะอธิบายความคิดคำนึงของจะเด็ดเพื่อให้ผู้อ่านรับทราบในทุกเรื่อง อาจกล่าวได้ว่ายาขอบสร้างให้จะเด็ดเป็นเสมือนวีรบุรุษสามัญชน เนื่องจากจะเด็ดเป็นตัวละครสามัญที่สร้างตัวขึ้นมาจากความพากเพียร ความฉลาด ความเก่ง และความภักดีอย่างแท้จริง จากลูกแม่นมหลวงไต่เต้าจนกระทั่งได้ยศบุเรงนอง และสูงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดได้ปราบดาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เฉลิมพระนามว่าพระเจ้าสิริสุธรรมราชา  ความพยายามของ ยาขอบไม่เพียงแต่มุ่งสร้างให้จะเด็ดเป็นที่ผู้มีบุคลิกภาพเป็นที่ชื่นชมและยอมรับของตัวละครต่างๆในเรื่องเท่านั้น  แต่เสน่ห์และคุณสมบัติอันโดดเด่นของจะเด็ดที่ถูกสร้างขึ้นนั้นก็ส่งผลให้ผู้อ่านเชื่อ คล้อยตามและชื่นชมจะเด็ดร่วมไปกับตัวละครในเรื่องด้วย จะเด็ดไม่เพียงแต่เป็นคนเก่งในเชิงอาวุธและเจนจบในพิชัยสงครามตามที่มหาเถรกุโสดอและคะตะญีครูดาบสอนเท่านั้น แต่เขาได้นำสิ่งที่เรียนรู้และเจนจบมาปรับใช้ให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับในการสงครามหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชนะกองทัพโมยิน การตีเมืองแปร เมาะตะมะ หงสาวดี ยะข่าย หรือแม้แต่กรุงศรีอยุธยา
นับเป็นข้อพิสูจน์ฝีมือเขาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณสมบัติเด่นอีกอย่างที่ทำให้จะเด็ดเป็นที่ชื่นชม คือ ความจงรักและภักดีต่อราชวงศ์ตองอู  มังตรา และมหาเถรกุโสดอ ในหลายตอนที่ยาขอบสร้างเหตุการณ์ที่เป็นเสมือนบททดสอบคุณสมบัติข้อนี้ของจะเด็ด ซึ่งเขาก็สามารถผ่านบททดสอบได้ในทุกครั้ง โดยแสดงความภักดีให้ประจักษ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักที่มีต่อนันทะวดี แต่เมื่อทราบว่ามังตรารักนันทะวดีเขาก็สละให้ ดังข้อความที่ปรากฏในตอนเพื่อนรักเมียงามที่ว่า “…พินิจหน้าแม่นันทะวดีแล้วถอนใจใหญ่ รำพึงว่าผิดจากมังตราเพื่อนตายแล้ว ถึงหากเป็นเมีย
พระอินทร์ ก็หายอมละมือไม่ ขอให้เทพยดาเบื้องบนจงเป็นทิพยพยานเถิด ข้าพเจ้าจะทรยศกับมังตราหาไม่ …”
(เล่ม 1, หน้า 158) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความประทับใจเฉพาะต่อมังตราเท่านั้น แต่ยังกระทบความรู้สึกของผู้อ่านด้วย หรือตอนที่จะเด็ดสาบานต่อหน้าพระมหาเถรกุโสดอว่าจะไม่มีวันทรยศต่อมังตราว่า “…เบื้องหน้ามิว่ามิตรหรือเมียรัก ผู้ใดบังอาจว่าการข้อนี้แก่หูข้าพเจ้าซ้ำสองหน จะตัดศีรษะเสียแม้นไม่ทำเหมือนว่าก็ให้ชีวิตอันตราย อย่าข้ามไปเห็นตะวันอีกรุ่งหนึ่งเลย แลผู้อื่นนอบน้อมสำแดงให้แจ้งถึงอิสริยยศอันใหญ่ก็ดี  แต่หากนิดหนึ่งในดวงจิตก็มิได้สำคัญตนว่าสูงกว่าครั้งเมื่อยังน้อยเลย ข้าพเจ้าหยั่งอกตัวเองได้ซึ้งถึง จึ่งกล้าให้สัตย์ตัวเองไม่กลัววันหน้าคลอนแคลน   (เล่ม 7 ,หน้า 3891)  หรือตอนที่บุเรงนองถวายชีวิตเพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อองค์ตะเบงชะเวตี้ว่า “…ด้วยบัดนี้ก็พูดกันแจ่มสิ้นแล้ว จึงเหลือแต่หน้าที่ท่านจะตัดสินการทั้งปวงเอาเอง ข้าพเจ้าทูลให้ท่านรู้ถึงความที่ควรริษยาที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าที่ท่านแจ้งเรื่องแล้ว จะได้ประหารข้าพเจ้าเสียให้สิ้นที่พะวักพะวงเบื้องหน้า…” (เล่ม 8, หน้า 4925) หรือแม้แต่ความรักพวกพ้อง และหรือความเมตตาต่อทหารไม่ว่าของฝ่ายตนหรือฝ่ายศัตรู ดังตอนที่จะเด็ดมีชัยเหนือหงสาวดีแล้วยังประกาศให้ทหารตองอูปฏิบัติตามว่า "มิให้ทหารตองอูแลแปรในบังคับทำร้ายชาวเมืองสืบไป ขณะสิ้นศึกอันเป็นหน้าที่แล้วประการหนึ่ง…” (เล่ม 7, หน้า 4141) คุณสมบัติเหล่านี้คือเสน่ห์ข้อใหญ่ที่ทำให้จะเด็ดเป็นที่รัก เคารพ และยำเกรงแก่คนทุกผู้
            ยิ่งไปกว่านั้น ฉากรักระหว่างรบนับเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง  จะพบว่าฉากรักต่างๆที่ปรากฏในเรื่องนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและชี้ให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของจะเด็ดนั่นก็คือ การเป็นสุภาพบุรุษนักรัก ในเรื่องจะเด็ดมีภรรยาทั้งสิ้น 6 คน อันได้แก่ ตะละแม่จันทรา ตะละแม่กุสุมา ตะละแม่มินบู นางอเทตยา  นางเชงสอบู และนางตองสา แต่ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกรังเกียจจะเด็ดว่าเป็นคนเจ้าชู้ เนื่องจากยาขอบสร้างความชอบธรรมให้กับจะเด็ดในการมีภรรยาหลายคน  และลักษณะของภรรยาทั้ง 6 คน ของจะเด็ดก็มีลักษณะและอุปนิสัยต่างกันจนเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าจะเด็ดรักตะละแม่จันทราด้วยใจภักดี รักตะละแม่กุสุมาด้วยใจปอง รักตะละแม่มินบูเพราะรู้สึกผิดที่ทรยศความไว้ใจของนางโดยลวงให้นางตกเป็นของตะเบงชะเวตี้ รักเชงสอบูโดยเอ็นดูอย่างน้องและความซื่อสัตย์ที่นางให้มาตลอดเวลา รักอเทตยาเพราะเห็นแก่ความรักและความภักดีของนาง เพราะอเทตยากล่าวว่าถ้าตกเป็นของชายอื่นนอกจากจะเด็ดแล้วจะฆ่าตัวตาย และรักตองสาอย่างนางทาสที่สวามิภักดิ์กับตนและปรารถนาที่จะเลี้ยงดู ทั้งนี้ ตลอดเรื่องแม้จะเด็ดจะเป็นคนเจ้าชู้มีภรรยาหลายคน  แต่จะเด็ดก็ไม่เคยผิดบัง หลอกลวง หรือทำกลให้ผู้หญิงเหล่านั้นมาชอบ  แต่ตลอดเวลาเขาก็กล้าที่จะเปิดเผยว่าเขารักใครมาบ้าง และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเมื่อทราบความจริงทั้งหมดแล้วยังจะคงรักเขาต่อไปหรือไม่ ความจริงใจเช่นนี้ก็นับเป็นเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้ผู้อ่านไม่นึกรังเกียจในความเจ้าชู้ของเขามากเท่าไรนัก เช่น ตอนที่ตะละแม่กุสุมาถามจะเด็ดว่าเส้นผมที่อยู่ในกลักงาที่คล้องคออยู่เป็นของใคร จะเด็ดก็ตอบนางอย่างไม่ปิดบังว่า “…เมื่อน้องนางผู้เป็นเจ้าของนี้อ่อนอายุกว่าก็นับอยู่ในฐานะน้อง พออายุเติบกล้ารู้จักเรียนรู้จักคิด นางนั้นก็คอยบำรุงใจตักเตือนให้ทำความดีใฝ่ใจประหนึ่งนางเป็นพี่ ครั้งนี้เพื่อทวีตัวให้มีราคากว่าเก่าข้าพเจ้าจึงต้องละถิ่นเดิมมา นางผู้นั้นก็คงเป็นห่วงคอยข้าพเจ้าประหนึ่งมารดาห่วงบุตร ส่วนความผูกพันในกันและกันนั้น ชาตินี้ทั้งชาติวันใดจะแยกออกมิได้แล้ว (เล่ม 1, หน้า 383) หรือจะเด็ดกล้าที่จะบอกกับตะละแม่จันทราว่าเขารักกุสุมาด้วยเช่นกัน  ดังตอนที่ว่า “…ข้าพเจ้ารักกุสุมาไม่มีใดเทียม เพราะนางโน้นเสียสาวแล้วยังสู้ชิงคืน แต่การครั้งนี้จะลงเอยว่าข้าพเจ้ารักเขาเกินจันทรามิได้ก่อน วิสัยคนได้สิ่งใดเป็นอย่างหนึ่งแล้ว แลหรือจะสู้ยากมาใฝ่ที่สองรองลงมาอีก ถ้านางโน้นเป็นสุดที่รักของข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใดสูงไปกว่าแล้ว  ข้าพเจ้าก็ควรรักนางโน้น แลจะมาสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพราะความที่จันทราบริภาษกลใด…” (เล่ม 5, หน้า 3053)   
            สำนวนโวหารของเรื่องนับเป็นเสน่ห์สำคัญที่ส่งผลให้นวนิยายเรื่องนี้คงอยู่ในใจผู้อ่านตลอดมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โวหารรักของจะเด็ด ดังความอมตะวาจาตอนหนึ่งของเรื่องนี้ที่อยู่ในความทรงจำของผู้อ่านคือ ข้อความที่จะเด็ดกล่าวกับตะละแม่จันทราว่า ข้าพเจ้ารักน้องท่านนี้โดยใจภักดิ์  ส่วนที่รักตะละแม่เมืองแปรสิรักโดยใจปอง” (เล่ม 2, หน้า 928) ความสละสลวยของภาษาในโวหารรักที่ปรากฏในเรื่องนับเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ยาขอบสร้างขึ้น ทั้งนี้ ยาขอบได้กล่าวถึงที่มาซึ่งเขาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างโวหารรักต่างๆในเรื่อง เขาเขียนเล่าไว้ในเรื่อง คำปราศัยในหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ  ว่า
            ฉันตั้งพิธีในอันที่จะเริ่มเขียนนี้ด้วยความวิตถารไม่น้อยและไม่น่าจะมีผู้คาดไปถึง โดยปกตินั้นแม้จนปัจจุบันนี้ความสุขอันยอดเยี่ยมของฉันคือการเขียนจดหมายถึงผู้หญิง คราเมื่อฉันจะเริ่มเขียนหนังสือนั้น ก็มารำพึงถึงด้วยตนเองว่า ความรัก ความคิดคำนึง หรือการโอ้โลมและคั่งแค้นหวงหึง ถ้ามาประดิษฐ์คิดแต่งเอาด้วยสมอง ที่ไหนมันจะเข้าหูมนุษย์ สู้ไปลอกเลียนจากบรรดาจดหมายที่เราเขียนไปแล้วไม่ได้เมื่อได้คำนึงเช่นนี้แล้ว ฉันก็ออกวิ่งเที่ยวขอจดหมายของฉันคืนมาจากบรรดาผู้รับทั้งหลายรวบรวมคืนได้ราว ๗๐๐ ฉบับ แล้วก็มาลอกบางประโยคบางตอนที่เห็นว่าจะใช้ในการเขียนหนังสือไปเบื้องหน้าได้เข้าไว้  เป็นอันว่าฉันได้สร้างเครื่องมือพรรณนาความเรียงในเรื่องรักๆใคร่ๆไว้สำหรับให้ตนเองใช้ จากสิ่งที่เป็นของตนเองแต่ดั้งเดิมมานั้นเอง…” [2]
                เมื่อวัตถุดิบของ"ยาขอบเป็นจดหมายรักของเขาเองนั้นพบว่าเขาสามารถที่จะเลือกและนำข้อความที่คัดสรรไว้มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดความงามทางภาษาได้เป็นอย่างดี ในเรื่องแม้ว่าจะเด็ดจะมีภรรยาหลายคน  และต้องกล่าวโวหารรักหลายครั้ง  แต่ผู้อ่านจะพบว่าโวหารรักที่กล่าวกับนางแต่ละคนก็ต่างกันออกไป โดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ นับเป็นความสามารถในการเลือกใช้โวหารได้ตรงกับบุคลิกของตัวละครแต่ละตัว นอกจากนี้ โวหารรักของ"ยาขอบ"มักจะเต็มไปด้วยความเปรียบ ซึ่งก่อให้เกิดจินตภาพอย่างชัดเจนขณะอ่านด้วย จึงนับว่าเป็นเครื่องมือสื่อความที่เหมาะสมจนก่อให้เกิดการสะเทือนอารมณ์ทั้งกับตัวละครและผู้อ่านด้วย เช่นตอนที่จะเด็ดตัดพ้อเชงสอบูว่า “…ชาตาบุเรงนองถึงฆาต  จึ่งบันดาลให้ความที่เชงสอบูแม่เคยรักกลับมาเป็นชังไปเสีย  ข้าพเจ้าหวังผิดเหมือนพญาคชสารป่วยหนักเมื่อใกล้กาลล้ม ก็พยุงกายเซซังจะมาในที่ล้มแห่งตน แต่ครั้นเข้าในที่หมายของตัวแล้วนางไม้เจ้าที่กลับสิ้นเอ็นดูตะละแม่ก็ดีหรือปอละเตียงพี่ท่านก็ดี  ข้าพเจ้าผูกพันกับนางเหล่านั้นก็โดยข้าพเจ้ารักนางแล้วนางจึ่งสนองรักตอบ   การนี้จึ่งต่างจากเชงสอบู ด้วยว่าเดิมข้าพเจ้ารักแม่เชงสอบูน้อยส่วนแม่เชงสอบูสิรักข้าพเจ้ามากอยู่ฝ่ายเดียว ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดแล้วเป็นความจริงข้อนี้เพิ่งได้คิดว่า ตัวจะซมซานไปแห่งอื่นไหนเลยจะมีความอาทรตัวเหมือนบ่ายหน้ามาให้เชงสอบูช่วยปลอบประโลม…” (เล่ม 3, หน้า 1695-1697)  ซึ่งต่างจากตอนที่จะเด็ดบอกรักตะละแม่กุสุมาในตอนที่ยังปลอมตัวเป็นมังฉงายว่า อนึ่งความที่มาจงใจรักตะละแม่นี้ ขออย่าเข้าใจตัวเองมีความยินดี ข้าพเจ้าจะเข้านอนเพลาใด เมื่อสวดมนตร์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยแล้ว ก็อธิษฐานขอแต่ให้สิ่งอันถือเป็นเครื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง จงบันดาลให้ข้าพเจ้าลืมกุสุมาราชธิดาพระเจ้าแปรเสียอย่าให้พะวงรัก ข้าพเจ้าประมาณราคาตัวแล้ว ก็เพียรจะไม่อาจเอื้อมรักท่านเห็นปานฉะนี้ เมื่อยังอดอาจเอื้อมมิได้ตัวเองก็เป็นอันจนใจ…” (เล่ม 1, หน้า 3379)  ด้วยเหตุนี้โวหารรักที่ปรากฏเป็นระยะๆโดยตลอดเรื่องจึงเป็นเสน่ห์ประการสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ยังอยู่ในความทรงจำ เป็นที่นิยม ชื่นชมและชื่นชอบของผู้อ่าน เพราะความงดงามของสำนวนภาษาอันเป็นความสามารถเฉพาะตัวอันสำคัญยิ่งของยาขอบซึ่งความประณีตและความละเมียดในการเลือกใช้ภาษาของเขา  ก่อให้เกิดความละมุนเชิงอารมณ์ต่อผู้อ่านอย่างสูง ประกอบกับความซับซ้อนของโครงสร้างประโยค อันเกิดจากการสรรคำเพื่อสร้างความสละสลวยเชิงภาษาและสื่อความแก่ผู้อ่าน ซึ่งส่งผลให้ผู้อ่านต้องอ่านประโยคแต่ละประโยคของ"ยาขอบ"อย่างตั้งใจ ไม่สามารถอ่านผ่านๆอย่างรวดเร็วหรืออ่านอย่างฉาบฉวยไปได้ เมื่อต้องอ่านช้าๆและตั้งใจเพื่อเก็บความและทำความเข้าใจกับสารที่จะสื่อ  จึงทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสและซึมซับความงามทางภาษา อันสะท้อนความละเมียดทางอารมณ์อย่างไม่รู้ตัว
            แม้ว่าเรื่องราว เหตุการณ์และชีวิตต่างๆของตัวละครที่ดำเนินอยู่โดยตลอดเรื่องสร้างสีสันให้กับนวนิยายเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย  เสน่ห์ของเรื่องไม่ว่าจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ การสร้างตัวละคร ความงดงามของภาษา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่อง การสนทนาหรือแม้แต่โวหารรักก็สร้างความหฤหรรษ์ให้ผู้อ่านได้ไม่น้อย  แต่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาสะกิดให้ผู้วิจารณ์รู้สึกเป็นระยะๆโดยเฉพาะในเรื่องบุคลิกลักษณะของจะเด็ด  ตลอดเวลาที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้ผู้วิจารณ์ก็จะมีความเห็นคล้อยตามการปูเรื่องและการดำเนินเรื่องของ "ยาขอบ  แต่เมื่อใดก็ตามที่ "ยาขอบระบุอายุของจะเด็ด ผู้วิจารณ์ก็มักจะเกิดคำถามกับตัวเองในทุกครั้งว่าจะเด็ดมีศักยภาพหรือมีการเติบโตทางวุฒิภาวะที่เกินจริงหรือไม่ เนื่องจากว่าตลอดเวลาที่จะเด็ดออกรบและได้ชัยชนะเหนือข้าศึกนั้น อายุของเขาเพิ่งยังไม่ครบ 20 ปีหรือเพิ่งจะ 20 ปีเท่านั้น   บางครั้งก็จะเกิดความไม่มั่นใจว่าคนอายุเพียงเท่านี้จะมีความสุขุมมากพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆหรือคิดการศึกที่แยบยลได้ขนาดนี้เชียวหรือ  ซึ่งคำถามในลักษณะนี้จะปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆ  แต่ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นย่อยเพียงเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการสื่อความทั้งหมดของเรื่อง  ผู้อ่านยังคงรับสารที่"ยาขอบตั้งใจสื่อได้อย่างชัดเจน 
ผู้ชนะสิบทิศกับการสื่อความกับผู้อ่านในปัจจุบัน ผู้วิจารณ์คิดว่าแม้นวนิยายเรื่องนั้นจะเขียนขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว  แต่เรื่องราวที่ปรากฏก็ยังสามารถถ่ายทอดและสื่อสารกับผู้อ่านปัจจุบันได้  การรับรู้และการตอบสนองของผู้อ่านปัจจุบันต่อนวนิยายเรื่องนี้อาจจะพ้องกับผู้อ่านในสมัยนั้นบางประเด็น และอาจจะต่างในบางประเด็น  สำหรับประเด็นที่พ้องกันก็คือ ผู้ชนะสิบทิศนับเป็นไพรัชนิยายและเป็นการสร้างประวัติศาสตร์พม่าในมุมมองของนักเขียน เพราะเรื่องราวและเหตุการณ์ในเรื่องยังคงโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่านี่คือเรื่องจริงในประวัติศาสตร์พม่า  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความรับรู้ของคนอ่านชาวไทยในอดีตและในปัจจุบันต่อเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของประเทศพม่าก็ไม่แผกกัน เพราะความสนใจที่จะเผยแพร่ในเรื่องของประวัติศาสตร์ของพม่าในระบบการศึกษาของไทยยังคงเดิม เมื่อความรับรู้และข้อมูลในส่วนนี้ของผู้อ่านมีน้อย  ความรู้ที่จะนำไปโต้แย้งผู้วิจารณ์ หรือนำไปอธิบายถึงความจริงที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพม่าแทบจะไม่มี  ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันยังคงมีผู้เชื่อตามที่ยาขอบสร้างขึ้น ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีที่เกี่ยวกับทัศนคติที่เป็นบวกของคนไทยต่อจะเด็ดหรือบุเรงนองนั้นต่างจากคนพม่าหรือกษัตริย์พม่าองค์อื่นๆที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าเป็นศัตรูของชาติไทย เพราะความคุ้นชินที่ ยาขอบสร้างไว้
ทั้งนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้สื่อความกับผู้ชมเพียงเฉพาะการนำเสนอเรื่องราวที่อาจกล่าวว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์พม่าในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น  แต่ภาพชีวิตของตัวละครทั้งหลายที่โลดเล่นอยู่ในเรื่องนั้นต่างหาก  แต่เป็นเสมือนละครโรงใหญ่ที่สะท้อนภาพชีวิตของคนที่ปรากฏในสังคมที่ช่วยให้มองความแตกต่างและความหลากหลายในชีวิตของตัวละคร ได้มองเห็นความโลภ โกรธ หลงอันเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ได้มองเห็นมุมมองชีวิตของคนที่ว่าในชีวิตของคนๆหนึ่งไม่มีใครที่จะเป็นคนดีในทุกๆเรื่องโดยไม่เคยทำผิด  ทุกคนมีเหตุผลที่จะกระทำ มีโอกาสที่จะผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น  ด้วยเหตุนี้ ชีวิตและข้อคิดบางอย่างที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครในเรื่อง  อาจเป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนที่ช่วยให้ผู้อ่านพิจารณาและเข้าใจชีวิต ผู้คนและเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงได้มากขึ้น 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการสำคัญเกี่ยวกับการสื่อความของ ผู้ชนะสิบทิศต่อผู้อ่านในปัจจุบันและในอนาคต แม้ว่าเสน่ห์ของตัวละคร เรื่องและโวหารรักต่างๆที่ปรากฏในเรื่องนี้ยังสามารถส่งมายังผู้อ่านในปัจจุบันได้  แต่อาจจะสื่อความได้ไม่เท่ากับที่สื่อความกับผู้อ่านในอดีต  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านของคนในสังคมปัจจุบันอ่อนด้อยลง การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคำ ภาษา และโครงสร้างประโยคในปัจจุบัน อาจกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญของการเข้าถึงและเข้าใจนวนิยายเรื่องนี้ได้ เนื่องจากคำศัพท์บางคำที่ปรากฏในสำนวนของยาขอบกลายเป็นคำเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วหรือไม่คุ้นชินกับผู้อ่านในปัจจุบัน เช่น บรรจถรณ์  ฝายมือ จูลู่ เดือนงาย เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ ต่อไปภาษาอาจไม่ใช่เครื่องมือที่ผู้อ่านทุกคนจะใช้ไขเพื่อเข้าถึงความละเมียดและความลุ่มลึกทางอารมณ์  แต่ภาษาอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่จะเข้าถึงเสน่ห์อันสำคัญยิ่งในเรื่องนี้แทน ถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ที่จะทะลุกำแพงทางภาษาเพื่อเข้าถึงเรื่องราวและรับรสทั้งหมดของนวนิยายเรื่องได้อาจมีจำนวนไม่มากนัก  ด้วยเหตุนี้  จึงเป็นที่น่าห่วงว่าผู้อ่านรุ่นหลังว่าอาจจะไม่สามารถเข้าถึงหรือสัมผัสความงามทางภาษาของยาขอบได้ทั้งหมด หรือหากจะเข้าใจก็ต้องมีการศึกษาหรือทำคู่มืออภิธานศัพท์มาช่วยอ่าน นอกจากข้อจำกัดในเรื่องความหมายของคำ ความซับซ้อนของความในประโยค  ซึ่งแต่เดิมนับว่าเป็นเสน่ห์ จุดเด่นและเป็นความสามารถในภาษาเขียนของยาขอบอาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้นักอ่านรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับงานของยาขอบก็เป็นได้ 
เมื่อจุดเด่นอันเป็นต้นทางที่จะให้ผู้อ่านเข้าถึงความเป็นอัจฉริยภาพเชิงภาษาและเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่ความประทับใจของผู้อ่านต่อนวนิยายเรื่องนี้  ทั้งในเสน่ห์ของการผูกเรื่อง สร้างเรื่องและดำเนินเรื่องของนิยายเรื่องนี้กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนปฏิเสธที่จะอ่านและสัมผัสกับเรื่องจึงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง  ประกอบกับความยาวของเรื่องขนาด 8 เล่มก็อาจจะเป็นข้อจำกัดอีกประการสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านปฏิเสธที่จะอ่านงานเรื่องนี้ทั้งหมด   แต่อาจจะเป็นการตัดตอนมาให้ศึกษาเหมือนวรรณคดีมรดกของไทยเหมือนในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี” “สามก๊ก” “อิเหนาหรือ รามเกียรติ์เป็นต้น  เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นอื่นของผู้อ่านที่มีต่อเรื่องนี้จึงมิได้เป็นเพียงความเป็นอื่นในเรื่องของประวัติศาสตร์และเรื่องราวของพม่าเท่านั้น แต่"ภาษาของยาขอบวันหนึ่งอาจกลายเป็นความเป็นอื่นต่อผู้อ่านชาวไทยรุ่นต่อๆไปก็เป็นได้ 


------------------------------------------------------



[1] ช่วย  พูนเพิ่ม. “ ‘ผู้ชนะสิบทิศกับ พระเจ้าสิบทิศ’ ” ผู้ชนะสิบทิศ ฉบับย่อของ ยาขอบและ อักษราภรณ์ กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 245,2546, หน้า 359-360.
[2] . พลายน้อย  ยาขอบชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง. 2535, หน้า 94.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น