เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม : อีกหนึ่งบทเรียนชีวิตที่ควรศึกษา
ปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนับเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ในสังคมปัจจุบันไม่เพียงแต่ในสังคมญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงสังคมไทยด้วย มูลเหตุสำคัญที่ส่งผลหรือผลักดันให้วัยรุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายมีจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่มักพบบ่อยครั้งคือ ความผิดหวังในความรัก ความไม่เข้าใจกันระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครอง คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ โดยไม่ได้พิจารณาและใคร่ครวญปัญหาอย่างรอบด้านเสียก่อน อีกทั้งโอกาสที่คนเราจะได้เกิดใหม่ในร่างเดิมอีกครั้ง หลังจากที่วิญญาณออกจากร่างไปแล้ว เพื่อทำความเข้าใจชีวิตและแก้ความผิดที่ได้กระทำลงไปในการตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ในงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม (Colorful) โมริ เอโตะ ได้มอบโอกาสนั้นให้แก่ "ผม" เพื่อมาเรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตของตน รวมถึงการตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของชีวิตด้วย
โมริ เอโตะ นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานวรรณกรรมเยาวชนหลายเรื่อง อาทิ Rhythem, Goldfish (ปลาทอง), อุจู โนะ มิชะนิโกะ (เด็กกำพร้าของจักรวาล) สำหรับวรรณกรรมเรื่อง เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม นั้นแปลเป็นภาษาไทยโดย วิยะดา คาวางูจิ ซึ่งผลงานชิ้นนี้นับว่าเป็นงานแปลเล่มแรกในชีวิตของเธอ
เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม เป็นเรื่องราวของ "ผม" วิญญาณผู้โชคดีที่ได้รางวัลใหญ่จากสวรรค์คือ ให้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์อีกครั้ง เพื่อทบทวนความผิดที่กระทำ เมื่อทบทวนและสำนึกความผิดได้แล้วก็สามารถขึ้นสวรรค์ กลับไปเกิดและใช้ชีวิตในวัฏสงสารได้อีกครั้ง หากไม่สามารถจดจำได้ในระยะเวลาที่กำหนดวิญญาณก็จะแตกสลายไป การที่ผมกลับไปใช้ชีวิตในโลกอีกครั้งนั้น ร่างที่สวรรค์เลือกให้ผมไปอาศัยอยู่คือ ร่างของโคบายาชิ มาโคโตะ เด็กชายวัยรุ่นอายุ 13 ปี ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกผิดหวังในชีวิต ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวของมาโคโตะจึงกลายเป็น "โฮมสเตย์" ของผม โดยมีทูตสวรรค์ชื่อปูระปูระเป็นพี่เลี้ยงให้ผมตลอดเวลาที่อยู่บนโลกมนุษย์
ตลอดเรื่องผู้อ่านจะพบว่าผมไม่ประสบปัญหาในการปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ในร่างของมาโคโตะมากเท่าใดนัก ช่วงแรกอาจจะรู้สึกอึดอัดกับนิสัยของมาโคโตะที่เป็นคนเก็บตัว เงียบ ไม่มีเพื่อน รวมทั้งความไม่เข้าใจกันระหว่างมาโคโตะกับครอบครัว แต่ต่อมาผมก็ปรับตัวได้เป็นอย่างดีจนกระทั่งสามารถอยู่ในร่างของมาโคโตะได้อย่างมีความสุข บางครั้งผู้อ่านก็รู้สึกว่าผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทบทวนว่าตัวเองทำผิดอะไรเพื่อที่จะกลับไปเกิดใหม่อีกครั้ง แต่เหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันให้ผมได้คิด จนต้องทบทวนและสำนึกว่าได้กระทำความผิดอะไรไว้ นั่นก็คือความปรารถนาที่จะคืนร่างที่อาศัยอยู่นี้ให้กับวิญญาณของมาโคโตะตามเดิม เพราะความรู้สึกผิดต่อความรัก ความห่วงใยและความเสียสละต่างๆที่ครอบครัวได้มอบให้มาโคโตะ ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบของพ่อที่ยอมทำงานหนักขึ้นด้วยความเต็มใจ เพื่อให้มาโคโตะได้เรียนต่อระดับมัธยมปลายในโรงเรียนศิลปะ แม้ว่าค่าเล่าเรียนจะแพงมากก็ตาม ความชื่นชมของแม่ต่อพรสวรรค์ในการวาดรูปของมาโคโตะ หรือความเสียสละของมิท์ซึรุ พี่ชายที่ไม่ยอมสอบเข้าเรียนคณะแพทย์ในปีนี้ แต่รอสอบชิงทุนในปีหน้า เพื่อจะได้มีเงินพอให้มาโคโตะได้เข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มาโคโตะสมควรจะได้รับรู้และสัมผัสด้วยตนเอง ดังตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “พ่อ แม่ มิท์ซึรุ ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับโฮสต์แฟมิลี่ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากเพียงไร ผมกับรู้สึกผิดมากยิ่งขึ้น อยากเรียนมัธยมปลายแทนมาโคโตะ อยากมีเพื่อนมากกว่านี้ และอยากวาดรูปให้มากกว่านี้ด้วย มีเพียงความต้องการที่มากขึ้นจนรู้สึกผิดต่อมาโคโตะตัวจริง เพราะการที่ชีวิตของคนหนึ่งจะถูกใครก็ไม่รู้มาแก้ไขให้ใหม่ ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว … ตราบใดที่ผมยังอยู่ตรงนี้ จะไม่มีการจบลงอย่างมีความสุขสำหรับครอบครัวโคบายาชิ สิ่งที่ผมมอบให้พวกเขาเป็นเพียงความสุขจอมปลอม ความสุขที่ได้จากตัวแทน แถมยังเป็นความสุขที่มีเวลาจำกัดอีกต่างหาก” (หน้า 148) แม้ว่าความปรารถนาเช่นนี้จะทำให้วิญญาณของผมต้องออกจากร่างเพื่อเปิดทางให้วิญญาณของมาโคโตะกลับคืนร่างเดิมก็ตาม
กลวิธีการแต่งเรื่องของโมริ เอโตะ น่าสนใจ เนื่องจากมีการสร้างตัวละครที่หลากหลายลักษณะ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผู้อ่านอยู่ตลอดเวลา มีทั้งเศร้า ขบขัน ลุ้นระทึก สร้างความฉงน ชวนติดตาม ซึ่งการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของเรื่องเช่นนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านทำความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆทั้งของผมและของมาโคโตะ ร่วมค้นหาและเป็นกังวลไปพร้อมๆกับตัวละคร โดยเฉพาะในตอนท้ายของเรื่องที่ผมจะต้องระลึกให้ได้ว่าเขาเป็นใครและทำผิดอะไรไว้ในชาติก่อน โดยมีเวลาให้ทบทวนเพียง 24 ชั่วโมง อีกทั้งลูกเล่นที่น่าสนใจของผู้แต่งอีกประการคือ การให้ซาโนะ โชโกะ ตัวละครที่มีบทบาทและมีความสำคัญต่อมาโคโตะน้อยที่สุดเป็นผู้ถือกุญแจสำคัญของเรื่อง โดยรับหน้าที่เป็นผู้ไขปัญหาและปริศนาของเรื่องที่ว่า แท้จริงแล้วผมคือใครและก่อนตายได้ทำความผิดอะไรไว้ แม้ว่าในขณะที่อ่านผู้อ่านบางท่านคงจะพอเดาได้แล้วว่าผมคือใครและมีความเกี่ยวพันธ์กับมาโคโตะอย่างไร ตั้งแต่ยังอ่านเรื่องไม่จบ แต่การปรับเปลี่ยนอารมณ์ของเรื่องและการผูกเรื่องที่ลื่นไหลของโมริ เอโตะ ก็ดึงดูดให้ผู้อ่านยังคงติดตามและอ่านนวนิยายเรื่องนี้จนจบแม้ว่าจะเดาตอนจบได้แล้วก็ตาม
นวนิยายแฝงข้อคิดที่สอดแทรกอารมณ์ขันเรื่องนี้ ไม่เคร่งเครียดเกินไป เพราะผู้แต่งมิได้มุ่งที่จะสั่งสอน แต่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจชีวิตไปร่วมกับผม อีกทั้ง เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม ไม่ใช่นวนิยายที่เหมาะสำหรับนักอ่านวัยรุ่นโดยเฉพาะที่จะใช้เป็นบทเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเองและชีวิตมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผู้แต่งพยายามชี้ให้ผู้อ่านรับรู้ถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น ที่นับเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังคงมีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย จึงนับว่าเป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจและควรให้ความสำคัญไม่น้อยทีเดียว สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้วัยรุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตาย คือ ความไม่เข้าใจกับคนในครอบครัว เพื่อน และการผิดหวังในความรัก ประกอบกับพฤติกรรมบางประการของวัยรุ่นที่มีแนวโน้มในการฆ่าตัวตายสูง ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้น เก็บตัว โดดเดี่ยว แปลกแยก เข้ากับคนอื่นไม่ได้ อ่อนแอ และขี้ขลาด ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นไว้แล้วอย่างชัดเจนในตัวของมาโคโตะ จึงนับได้ว่ามาโคโตะเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ผู้แต่งจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้อ่าน ในเรื่องนี้โมริ เอโตะ มิได้สร้างให้เห็นเพียงเฉพาะมูลเหตุของปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นเท่านั้น หากแต่เธอยังเสนอทางออกของปัญหาไว้ในเรื่องด้วย โดยชี้ให้ผู้อ่านตระหนักว่าทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกต้องเผชิญกับปัญหาทั้งสิ้น จึงไม่ควรหมกมุ่นเพียงเฉพาะปัญหาของตน โดยคิดแต่เพียงว่าตัวเองกำลังเผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์ที่ใหญ่ที่สุด หนักที่สุดแล้ว แต่ควรที่จะเปิดใจให้กว้าง มองปัญหาอย่างรอบด้าน พร้อมที่จะกล้าเผชิญปัญหา ซึ่งเมื่อกล้าที่จะเผชิญปัญหาแล้ว เราอาจจะเห็นว่าปัญหาที่แต่เดิมคิดว่าใหญ่อาจจะเล็กลงก็ได้ เมื่อเทียบกับคนอื่นที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่า ดังเช่นที่ผมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า “ผมละอายใจเหลือเกิน ผมมัวแต่คิดถึงบาดแผลในใจของมาโคโตะเสียจนมองข้ามบาดแผลในใจของคนอื่นไป ไม่ใช่มาโคโตะเพียงคนเดียว ในโลกที่แสนโหดร้ายนี้ ทุกคนเจ็บปวดพอๆกัน” (หน้า 165)
หนังสือเล่มนี้มิได้เหมาะสำหรับเยาวชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเหมาะสำหรับนักอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย เนื่องจากเนื้อหาในเรื่องอาจช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมอง พฤติกรรมของวัยรุ่นเพิ่มขึ้น อีกทั้งส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่คือ ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้หากเป็นไปได้ที่คนสองวัยเปิดใจทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันอย่างไม่ปิดกั้นตัวเองจนเกินไป ก็จะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนสองวัยได้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจที่ซ้ำรอยอย่างเช่นในกรณีของมาโคโตะ
นอกจากนี้ แง่คิดประการสำคัญที่ผู้แต่งนำเสนอไว้ตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องว่า "Colorful" นับเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ เนื่องจากในตลอดทั้งเรื่องผู้แต่งพยายามที่จะให้ผู้อ่านตระหนักถึงความหลากหลายในชีวิตของคนในสังคม เราจะพบว่าคนในสังคมต่างมีชีวิตและมุมมองที่ต่างกัน คนแต่ละคนอาจให้ค่าและความหมายในสิ่งเดียวกันต่างกัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สังเกตได้จากการอ่านนวนิยายเรื่องนี้คือ มุมมองของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อมาโคโตะจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ มาโคโตะเป็นคนปิดกั้นและแปลกแยก จน “เพื่อนหลายคนคิดว่าเขาเป็นคนแบบนั้น มาโคโตะเป็นคนเก็บตัว ซื่อเกินไป แทบจะไม่เคยพูดจากับเพื่อนๆในห้อง ความจริงแล้วเขาคิดไปเองว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้น คิดว่าตัวเองแปลกประหลาด เข้ากับใครไม่ได้ เลยสร้างกำแพงกันตัวเองออกจากทุกคน” (หน้า 31) แต่ในขณะเดียวกันนั้น โชโกะกลับเป็นคนเดียวที่มีความรู้สึกและให้ค่าต่อมาโคโตะที่ต่างไปจากคนอื่น โชโกะชื่นชมและเฝ้ามองมาโคโตะอยู่ตลอดเวลา เธอเห็นว่ามาโคโตะ “… จะมองเห็นสิ่งซึ่งลึกสุดอยู่เสมอ … เป็นเด็กบริสุทธิ์และใสซื่อ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพวกผู้ชายที่ทำตัวเป็นเด็กและหยาบคาย มาโคโตะแบกรับความเศร้าทั้งหมดในโลกนี้ไว้ และทุกข์ทรมานกับมันมาตลอด” (หน้า 89 - 90) ชีวิต แนวคิดและมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องนี้อาจเปรียบเทียบได้กลับสีสันอันหลายหลากที่มีอยู่ในโลกใบนี้ ผู้แต่งพยายามที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงความเป็นจริงในข้อที่ว่า "… ทุกคนมีความหลากสีสัน ทั้งสีสวยงามและสีสกปรก … คนเราอาจช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่รู้ตัว และอาจทรมานคนอื่นโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน โลกที่มีสีสันหลากหลาย จนคนเราต้องลังเลอยู่เสมอ ไม่รู้ว่าสีใดคือสีอันแท้จริง ไม่รู้ว่าสีใดคือสีของตัวเอง" (หน้า 139) สังคมหลากสีสันนี่แหละที่ทำให้คนประสบความทุกข์และความสุขอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข หากเราเรียนรู้ เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความหลากหลายของสีสันที่อยู่รอบตัวเรา
ด้วยเหตุนี้ นวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้และตระหนักในคุณค่าของการมีชีวิตอยู่สำหรับมาโคโตะเพียงลำพัง แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของคนทุกคนในเรื่องนับตั้งแต่ พ่อ, แม่, มาโคโตะ, มิท์ซึรุ, ฮิโรโกะ, โชโกะ หรือแม้แต่ผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านญี่ปุ่นหรือผู้อ่านไทยที่อยู่ต่างสังคมและต่างวัฒนธรรมก็สามารถรับรู้ความคิดอันเป็นสากลที่ผู้แต่งสื่อผ่านนวนิยายเรื่องนี้ได้ อีกทั้งยังสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเรียนรู้ เข้าใจกับปัญหาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็อาจกำหนดเส้นทางการดำเนินชีวิตของตนได้เป็นอย่างดี โลกของเราก็จะไม่มีเพียงแต่สีดำเท่านั้น แต่ทุกวันที่ผ่านไปก็จะสามารถปรับเปลี่ยนสีอันหลากหลายได้ตามความต้องการ ซึ่งคงจะดีไม่น้อยเลยที่เราจะเป็นผู้แต่งแต้มและแต่งเติมสีสันอันสดใสให้กับชีวิตเราด้วยตัวของเราเอง
-----------------------------------------
5/17/2019 ดูhomestayเสร็จก็มาหาอ่านเรื่องราวของ โมริ เอโตะ หน้าสนใจมากครับ
ตอบลบ