วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จินตนาการไม่รู้จบ (The Neverending Story)



 
The Neverending Story:  จุดเริ่มต้นแห่งการแสวงหาตำนานไม่รู้จบ

            ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคอมพิวเตอร์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างภาพเสมือนจริงในสื่อสมัยใหม่  ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกม  นับเป็นหนทางหนึ่งที่บั่นทอนการสร้างจินตนาการของคน  จนอาจเป็นเหตุให้คนส่วนหนึ่งละความสนใจที่จะอ่านงานวรรณกรรม  ประเด็นปัญหานี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง The Neverending Story ของ มิฆาเอ็ล  เอ็นเด้ (Michael  Ende)  วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความนิยมและแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยในชื่อ จินตนาการไม่รู้จบ  แปลโดย  รัตนา  รัตนดิลกชัย  ตั้งแต่ปี 2537 และได้รับความนิยมจนมีการพิมพ์ซ้ำกว่า 5 ครั้ง
มิฆาเอ็ล  เอ็นเด้ เป็นนักเขียนชาวเยอรมันที่มีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเป็นที่รู้จักทั้งในวงวรรณกรรมไทยและนานาชาติหลายเรื่อง  เช่น โมโม่ (Momo), จิม กระดุม กับลูคัส คนขับหัวรถจักร (Jim Knopf and Lukas the Engine Drive), จิมกระดุม กับ 13 ป่าเถื่อน (Jim Knopf und die Wilde 13), Juggler’s Tale Mirror in The Mirror และ Ophelia’s Shadow Theater  นอกจากเขาจะเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนแล้ว  เอ็นเด้ยังเป็นนักแสดง  นักเขียนบทละคร  ผู้จัดการโรงละคร ในเมืองมิวนิค  และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของบริษัท Bavarian Broadcasting เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 65 ปี  หลังจากที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งมาเป็นเวลานาน
จินตนาการไม่รู้จบ  เป็นเรื่องราวการผจญภัยของบาสเตียน  บัทธาซาร์  บูกซ์  เด็กชายวัยสิบขวบ  ร่างอ้วน  อ่อนแอ และขี้ขลาด  ผู้ที่คิดว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการของใคร  ไม่ว่าจะเป็นพ่อผู้ซึมเศร้าและหมกมุ่นอยู่กับงานตั้งแต่แม่เสียชีวิตไป  ครู หรือเพื่อน  การผจญภัยของเขาเริ่มต้นตั้งแต่เขาได้อ่านหนังสือเรื่อง ตำนานไม่รู้จบ  ที่ขโมยมาจากร้านหนังสือแห่งหนึ่ง  ในตอนแรกเขารู้สึกเหมือนกำลังอ่านตำนานการผจญภัยของอันเทรอู  เด็กชายผู้กล้าหาญที่ได้รับภารกิจสำคัญในการตามหาวิธีการรักษาอาการประชวรของยุวจักรพรรดินี  แต่ต่อมาบาสเตียนได้กลายเป็นตัวละครสำคัญที่โลกเล่นอยู่ในเรื่องเพื่อช่วยอาณาจักรจินตนาการไม่ให้ล่มสลาย
ในวรรณกรรมเรื่องนี้  เอ็นเด้  กระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงความมหัศจรรย์ในการอ่านหนังสือนับตั้งแต่เปิดเรื่อง  เขาชี้ให้เห็นว่าการอ่านหนังสือเป็นเสมือนการเปิดไปสู่โลกที่แปลกและแตกต่างออกไป  ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งความจริงหรือโลกแห่งจินตนาการ  สำหรับเอ็นเด้นั้น  โลกทั้งสองนี้ไม่ต่างกันสักเท่าใด  โดยเขาชี้ให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแห่งจินตนาการนั้นบางมากจนบางครั้งก็สามารถข้ามไปถึงกันหรือเชื่อมต่อกันได้  ดังเช่นที่บาสเตียนได้ข้ามจากโลกความจริงไปสู่โลกจินตนาการมาแล้ว  จากการที่เอ็นเด้เชื่อว่าโลกทั้งสองจะต้องดำเนินไปคู่กัน  ส่งผลสะท้อนซึ่งกันและกัน  ทำให้เขาทำนายผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นหากคนในปัจจุบันขาดจินตนาการและไม่เชื่อว่ามีอาณาจักรแห่งจินตนาการอยู่  ยิ่งมนุษย์ทำลายล้างจินตนาการมากเท่าใด  ความเท็จก็ยิ่งหลั่งไหลสู่โลกมนุษย์มากเท่านั้น  เพราะมนุษย์ไม่สามารถแยกแยะความจริงกับความลวงออกจากกันได้
อีกทั้งโลกจินตนาการในเรื่องนี้มิได้เป็นเพียงการประกอบขึ้นจากตัวละครและสถานที่อันแปลกประหลาดเพื่อสร้างความน่าสนใจและน่าตื่นเต้นให้กับผู้อ่านเท่านั้น  แต่ตัวละครที่โลกแล่นในโลกจินตนาการยังสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมและลักษณะนิสัยอันหลากหลายของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันด้วย  เมื่อเป็นเช่นนี้  การผจญภัยในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการแสวงหาผู้ที่จะช่วยเหลืออาณาจักรจินตนาการของอัทเทรอู  หรือการเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับบาสเตียนเท่านั้น  แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมายังช่วยสอนให้พวกเขาเข้าใจผู้คน  เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ดีขึ้น  ด้วยความสามารถในการมองเห็นตัวเองและคนอื่นๆ ด้วยสายตาใหม่ที่เกิดขึ้นนี้เองที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนตัวตนของพวกเขาไปพร้อมกัน   ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางานความคิดและจิตวิญญาณด้วย  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวละครเท่านั้น  แต่ส่งผลต่อผู้อ่านด้วย  จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางเพื่อแสวงหาโลกภายในทั้งของตัวละครและผู้อ่าน  โดยที่แต่ละคนก็อาจะมีจุดมุ่งหมายในการแสวงหาที่ต่างกันออกไป
นอกจากนี้  ความคิดและประสบการณ์ที่อัทเทรอูและบาสเตียนผ่านพบตลอดทั้งเรื่อง  ยังสามารถที่จะตีความได้ในหลายระดับขึ้นอยู่กับวัยวุฒิและวุฒิภาวะของผู้อ่านเป็นสำคัญ  ผู้อ่านวัยเยาว์อาจจะได้รับเพียงแค่ความสนุกสนานและตื่นเต้นไปกับโลกจินตนาการ  อันรวมถึงสัตว์และสถานที่แปลกๆ  อาทิ  ภูตเรืองแสง  ยักษ์เขมือบหิน  ทะเลทรายแห่งสีสัน  และอารามดาว  นอกจากนี้ยังได้เห็นความกล้าหาญ  มุ่งมั่นและมีน้ำใจของอัทเทรอู  พร้อมทั้งอาจนำความผิดพลาดของบาสเตียนมาเป็นบทเรียนของตน  ในขณะที่ผู้อ่านสูงวัยอาจจะเข้าถึงปรัชญาความคิดอันลุ่มลึกที่เอ็นเด้แฝงไว้โดยตลอดทั้งเรื่อง  เช่น  ความตายของสิงโตโกรกราแมนทุกคืนก่อให้เกิดเพอริลินป่าแห่งราตรีกาล  แฝงปรัชญาอันลุ่มลึกที่ว่า ความตายก่อให้เกิดชีวิต  และในขณะเดียวกันชีวิตก็ก่อให้เกิดความตายด้วย  หรือน้ำตาของอคาริสเผ่าพันธุ์ที่อัปลักษณ์ที่สุดก่อให้เกิดเมืองอมาร์แก็นท์ที่สวยงามที่สุดในอาณาจักรก็ช่วยทำให้ผู้อ่านตระหนักว่าความอัปลักษณ์ช่วยสร้างสรรค์สิ่งสวยงามได้  ด้วยเหตุนี้  วรรณกรรมเรื่องนี้จึงมิได้เหมาะสมสำหรับเด็กเท่านั้น  หากแต่เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกเพศทุกวัยด้วย
วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง The Neverending Story  ยังเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางไปสู่ตำนานอันไม่รู้จบให้แก่ผู้อ่านทุกคน  โดยมีหนังสือและจินตนาการเป็นหนทางหรือสะพานเชื่อม  ดังที่คุณโคเรแอนเดอร์เจ้าของร้านขายหนังสือพูดกับบาสเตียนในตอนท้ายเรื่องว่า

“เรื่องอันแท้จริงทุกเรื่องก็คือตำนานไม่รู้จบ ... มีประตูไปสู่อาณาจักรจินตนาการมากมายหลายบานนักเจ้าหนูยังมีหนังสือวิเศษอื่นๆ อีกมากเหลือเกิน  คนส่วนใหญ่อ่านผ่านมันไปโดยไม่สังเกตเห็น  มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนอ่านหนังสือเล่มนั้นต่างหาก ... ตำนานไม่รู้จบก็ต่างกันไปตามความสามารถความแตกต่างของแต่ละคน...  อีกอย่างหนึ่ง  มันก็ไม่ใช่แค่หนังสือด้วย  มันเป็นหนทางหนึ่งในการไปและกลับอาณาจักรจินตนาการ” (หน้า 547)

            เมื่ออาณาจักรแห่งจินตนาการกำลังรอคอยการแสวงหาอยู่แล้ว  เพียงแต่คุณกล้าที่จะหยิบหนังสือเล่มต่อไปขึ้นมาเพื่อเปิดประตูและท่องไปสู่โลกแห่งจินตนาการตามแต่ใจปรารถนา  แล้วคุณก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่สร้างตำนานไม่รู้จบอย่างที่บาสเตียนได้กระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว

------------------------------

       


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น