กลองสังกะสี (Tin Drum)
เครื่องมือในการประท้วงและเยียวยาสังคมของ กรึนเทอร์ กราสส์
กลองสังกะสี (Tin Drum) วรรณกรรมชิ้นเอกของกรึนเทอร์ กราสส์ (Günter Grass) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1999 กลองสังกะสีเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกในชุดไตรภาคดานซิกของกราสส์ อันประกอบด้วยวรรณกรรมอีกสองเรื่องคือ แมวกับหนู (Cat and Mouse) และ ปีของหมา (Dog Years) วรรณกรรมทั้งสามเรื่องต่างใช้ฉากและนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองดานซิก ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นกับชื่อเมืองดานซิกนัก แต่จะรู้จักเมืองนี้ในฐานะ “ฉนวนโปแลนด์” ที่เป็นเหตุให้ฮิตเลอร์รุกรานโปแลนด์เพื่อที่จะนำ“เสรีนครดานซิก”กลับมารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีตามเหตุผลที่อ้างว่า “เชื้อชาติเดียวกันควรอยู่ร่วมกัน และคนเยอรมันในนครดานซิกก็ต้องการจะกลับไปรวมกับประเทศของตนตามเดิม”
กลองสังกะสี แปลจากวรรณกรรมต้นฉบับภาษาเยอรมันชื่อ Die Blechtrommel โดย อรัญญา โรเซนเบิร์ก พรหมนอก นฤมล ง้าวสุวรรณ และ ผสุดี ศรีเขียว วรรณกรรมเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในนวนิยายชุดไตรภาคนี้ นวนิยายเรื่องนี้เป็นเสมือนบันทึกชีวิตของออสคาร์ มัทเซราท ซึ่งขณะที่บันทึกนั้น เขาใช้ชีวิตเป็นผู้ป่วยในสถาบันบำบัดและฟื้นฟูสภาพจิต โดยเขาเล่าย้อนกลับไปถึงประวัติครอบครัวก่อนที่ออสคาร์เกิด ซึ่งบันทึกเริ่มเปิดเรื่องตั้งแต่ยายพบกับตาขณะทำไร่มันฝรั่ง และจบลงด้วยเหตุผลที่เขาต้องมาอยู่ในสถาบันแห่งนี้ โดยตลอดเรื่องนอกจากที่ผู้อ่านจะได้รู้ เห็น และเข้าใจวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของออสคาร์อย่างละเอียดแล้ว ผู้เขียนยังบรรยายให้เห็นถึงภาพความยุ่งเหยิงของสังคม ความฟอนแฟะ ความโหดเหี้ยมและการเสื่อมศีลธรรมของคนทั้งในเมืองดานซิก โปแลนด์ และเยอรมนีในช่วงก่อนเกิดสงคราม ช่วงสงคราม และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้วความรุ่งเรืองและหมดอำนาจของฮิตเลอร์ผ่านสายตาของออสคาร์ และตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง
ออสคาร์ มัทเซราท เด็กชายชาวเมืองดานซิกที่ปฏิเสธการเติบโตของตน เขาตัดสินใจที่จะหยุดการเติบโตทางร่างกายของตัวเองไว้ในวัย 3 ขวบ แต่จิตใจและความคิดของเขายังเติบโตขึ้นตามอายุที่เปลี่ยนไป เหตุผลสำคัญในการปฏิเสธการเติบโตของออสคาร์คือ เขาไม่ต้องการอยากเป็นผู้สืบทอดมรดกเป็นเจ้าของร้านค้าซึ่งเป็นของขวัญจากพ่อ แต่เขาอยากได้กลองสังกะสีที่เป็นของขวัญจากแม่มากกว่า นัยสำคัญในเรื่องนี้ที่กราสส์ต้องการเสนอคือ ออสคาร์ปฏิเสธที่จะเป็นทายาทของเยอรมันหรือฮิตเลอร์ตามฝ่ายพ่อ แต่เขาต้องการเป็นทายาทของโปแลนด์ตามฝ่ายแม่มากกว่า นั่นเท่ากับเป็นการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของเขาต่อสังคมอันเลวร้ายและฟอนแฟะที่เกิดขึ้นนี้ด้วย ตลอดเวลาที่เป็นคนแคระเขามีกลองสังกะสี คือกลองเด็กเล่นเป็นเพื่อนที่เขาจะนำติดตัวและตีกลองใบนั้นเกือบตลอดทั้งเรื่อง เราจะพบว่าในช่วงแรกๆ ออสคาร์ใช้กลองสังกะสีเป็นเสมือนเครื่องมือในการประท้วงและตีแผ่ความเลวร้ายต่างๆ ในสังคม ด้วยเหตุนี้ ภาพของออสคาร์คนแคระและการตีกลองจึงนับเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเลวร้ายของสังคมอย่างเป็นรูปธรรมของกราสส์ ซึ่งลักษณะทั่งสองจะปรากฏให้เห็นเกือบตลอดทั้งเรื่องก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านด้วยเช่นกัน
ในตอนท้ายเรื่องเมื่อสงครามยุติและเป็นช่วงเวลาที่ออสคาร์ตัดสินใจที่จะเติบโตตามปกติแล้ว การเติบโตของเขากลับไม่เป็นอย่างที่เขาต้องการ เพราะเมื่อเขาตัดสินใจที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อทำหน้าที่ปกป้องภรรยาและบุตรของตน และยอมรับอัลเฟรด มัทเซราทเป็นพ่อ แม้ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะปฏิเสธมาโดยตลอด นั่นเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเป็นลูกหลานของชาวเยอรมัน ดังนั้น ร่างกายของเขาจึงเติบโตอย่างผิดปกติ โดยมีโหนกงอกออกมาจากหลัง สิ่งนี้นับเป็นสัญลักษณ์ของความเลวร้ายของสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์ ซึ่งถือว่าเป็นบาปขั้นมหันต์ที่ออสคาร์และชาวเยอรมันต้องแบกรับตลอดไป แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ก่อสงครามหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่ร่างกายของออสคาร์เติบโตผิดปกตินั้น ช่วงแรกๆ เขาไม่สามารถที่จะตีกลองได้ ต่อมาเมื่อเขาตีกลองได้อีกครั้ง กลองของเขาก็มิได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องประท้วงสังคมอีกต่อไป เสียงเพลงจากกลองของเขากลับกลายเป็นการทำหน้าที่ประหนึ่งการชำระใจ (catharsis) หรือการเยียวยาชาวเยอรมันที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดและบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงคราม
กราสส์ไม่ได้วิพากษ์และนำเสนอแต่เฉพาะความโหดเหี้ยมและความเลวร้ายของมนุษย์ และสังคมในช่วงสงครามเท่านั้น แต่เขายังได้ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์และท้าทายต่อแนวคิดและความเชื่อทางคริสต์ศาสนาเป็นระยะๆ ไปโดยตลอดเรื่องด้วย การทำเช่นนี้ของกราสส์ดูประหนึ่งเป็นความต้องการที่เขาจะตอกย้ำความคิดเรื่อง “พระเจ้าตายแล้ว” ของนิชเชอร์ (Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ให้หนักแน่นขึ้น ทั้งนี้ กราสส์ได้ให้ออสคาร์วิพากษ์และท้าทายแนวคิดทางคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระเยซูที่ว่าพระองค์เพิกเฉยต่อสังคมที่วุ่นวาย ต่อสงครามและต่อโลกที่โหดเหี้ยม เพราะแม้ว่าออสคาร์จะนำกลองไปให้พระองค์ท่านตีเพื่อประท้วงสังคมและสงครามเหมือนที่เขาทำ แต่พระองค์ยังเพิกเฉย ดังตอนหนึ่งที่ว่า
“... ก่อนอื่นผมได้เอาไม้ตีกลองสอดใส่มือของพระเยซูที่มีช่องทำไว้ขนาดพอเหมาะตั้งตารอให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ ท่านจะตีกลองไหม หรือท่านสามารถตีกลองได้ไหม หรือท่านได้รับอนุญาตให้ตีกลองไหม ถ้าท่านไม่ตีกลอง ท่านก็ไม่ใช่พระเยซูแท้จริง และหากท่านไม่ตีกลอง ออสคาร์ก็จะเป็นพระเยซูแท้จริงยิ่งกว่าเขาเสียอีก” (หน้า 210-211)
ด้วยความหนาของตัวเล่มและความหนักแน่นของสารที่อัดแน่นในงานวรรณกรรมเล่มนี้ ประกอบกับการนำเสนอของกราสส์ที่ให้รายละเอียดในเรื่องของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านเวลาและสถานที่ ด้วยเหตุนี้ ผู้อ่านที่จะเข้าใจเรื่องราวโดยตลอดทั้งเรื่องต้องมีพื้นความรู้ ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ เยอรมนี และยุโรป ทั้งในช่วงก่อนสงคราม ช่วงสงคราม และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผู้อ่านยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุโรปด้วยเพื่อที่จะเข้าใจเหตุการณ์และสถานที่ต่างๆ ที่กราสส์กล่าวถึงในเรื่อง อีกทั้งกราสส์ยังได้สอดแทรกสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านตีความโดยตลอดเรื่อง การที่ผู้อ่านจะเข้าถึงและซาบซึ้งงานวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างดื่มด่ำ ผู้อ่านต้องอาศัยเครื่องมือที่จะช่วยอย่างหลากหลาย วรรณกรรมเรื่องนี้นำไม่ได้เสนอเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักและย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังวิพากษ์วิจารณ์คนในสังคมและเผยแก่นแท้ของมนุษย์ผ่านความโหดเหี้ยมและเลวร้ายต่างๆ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยสร้างมุมมองแก่ผู้อ่านในการเผชิญกับโลกอย่างลุ่มลึกขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มวุฒิภาวะของการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและเท่าทันมากขึ้นอีกด้วย
--------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น