วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code)




การสร้างและการไข รหัสลับดาวินชี ด้วยแนวคิดสหบท

เกริ่นนำ               

            การอ่านและเข้าใจผลงานวรรณกรรมเล่มหนึ่งๆ สามารถทำได้ในหลายลักษณะขึ้นอยู่กับแนวคิดหรือทฤษฎีอันเป็นเครื่องมือที่ผู้อ่านจะเลือกใช้ในการศึกษาและตีความผลงานชิ้นนั้นๆ  เมื่อเครื่องมือในการศึกษาเปลี่ยนไป มุมมอง แนวคิดและความหมายที่ผู้อ่านได้รับจากการอ่านงานวรรณกรรมก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย  ผลงานวรรณกรรมที่ผู้ศึกษานำมาพิจารณาในครั้งนี้ คือนวนิยายเรื่อง The Da Vinci Code เขียนโดยนักเขียนชาวอเมริกันชื่อแดน บราวน์ และผู้แปลนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทยคือ อรดี  สุวรรณโกมล  โดยให้ชื่อภาษาไทยว่า  รหัสลับดาวินชี
            นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของโรเบิร์ต  แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านศาสนวิทยาสัญลักษณ์  แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่จะต้องเข้ามาเป็นผู้คลี่คลายคดีฆาตกรรม ฌาร์ค ซินิแยร์ ภัณฑารักษ์ผู้มีชื่อเสียงของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ร่วมกับโซฟี  เนอเวอ หลานสาวของซินิแยร์  ซึ่งข้อมูลเพียงประการเดียวที่พวกเขามีคือ รหัสลับที่ฌาร์ค  ซินิแยร์ทิ้งไว้ที่ศพของเขาก่อนตายเท่านั้น  รหัสลับดังกล่าวมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับผลงานศิลปะชิ้นต่างๆของดาวินชี แนวคิดทางศาสนา ตำนานและความเชื่อต่างๆ ทั้งนี้ การคลี่คลายรหัสและปริศนาต่างๆ ของพวกเขาไม่ได้นำไปสู่ฆาตกรผู้ฆ่าซินิแยร์เท่านั้น  แต่ความจริงที่พวกเขารับรู้กลับมีความสำคัญยิ่งใหญ่กว่านั้น  เพราะพวกเขาต้องเข้าไปพัวพันกับเดอะไพรเออรี่ออฟไซออน สมาคมลับที่เก็บงำความลับอันยิ่งใหญ่มานานกว่าสองพันปี  ซึ่งความลับนี้มีอำนาจมากพอที่จะสั่นคลอนความเชื่อและศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาได้
เมื่องานวรรณกรรมถูกสร้างขึ้นโดยผู้แต่งมุ่งให้ความสำคัญไปที่รหัส  การถอดรหัส และความรู้ดั้งเดิมทั้งในเรื่องของตำนานและความเชื่อทางคริสต์ศาสนา  รวมไปถึงความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผลงานศิลปะของลีโอนาโด  ดาวินชี  ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกแล้ว จึงไม่อาจเลี่ยงได้ที่ผู้อ่านต้องนำข้อมูลทุกชิ้นที่ได้มาเชื่อมต่อและถักทอเพื่อแสวงหาเส้นทางอันนำไปสู่การไขความลับที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน ด้วยเหตุนี้  เมื่อตัวบทเรียกร้องความรู้จากผู้อ่านในด้านต่างๆอย่างมากเพื่อที่จะติดตาม เชื่อมโยงเส้นทางโดยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดที่ปรากฏอยู่ทุกช่วงของการแสวงหาความจริง ผู้ศึกษาจึงเห็นว่า เครื่องมืออันเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีที่เหมาะสมที่จะใช้ในการศึกษางานวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ สหบท (Intertextuality)
แนวคิดสหบทถือว่าผลงานทุกชิ้นล้วนหล่อหลอมขึ้นจากชิ้นส่วนต่างๆของผลงานศิลปะที่เคยมีมาก่อน ซึ่งแดน บราวน์ก็อาศัยหลักการนี้ในการสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน   ด้วยเหตุนี้  กระบวนการสหบทจึงกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้อ่านด้วย เนื่องจากผู้อ่านกลายเป็นผู้ให้ความหมายในตัวบทสามารถที่จะถักทอเครือข่ายของความสัมพันธ์ของตัวบทที่อ่าน (present text) หรือระหว่างตัวบทอื่น (inter-texts)   ทั้งที่เป็นวรรณกรรมที่มีมาก่อนหรือที่เคยอ่านมาก่อน (prior texts) กับตัวบทอื่นๆ ของผู้เขียน สหบทจึงนับเป็นแนวคิดที่ช่วยให้มองเห็นทั้งทิศทางในการสร้างงานของผู้เขียน ขณะเดียวกันผู้อ่านก็สามารถสกัดความหมายจากตัวบท เนื่องจากสหบทเชื่อว่าวรรณคดีสร้างขึ้นจากระบบสัญญะและขนบวรรณศิลป์ของวรรณคดีที่มีมาก่อน ดังนั้น ระบบสัญญะ ขนบวรรณศิลป์ และวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อความหมายของตัวบท  ด้วยเหตุนี้  การอ่านอันเป็นกระบวนการเคลื่อนผ่านตัวบทต่างๆจึงทำให้ผู้อ่านมองเห็นและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายของตัวบทอื่นๆที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน จนสามารถเข้าไปในเครือข่ายของความสัมพันธ์ของตัวบทได้

สหบท :  เครื่องมือในการสร้างเรื่องของผู้แต่ง
เครื่องมือสำคัญที่สุดที่พบในนวนิยายเรื่อง รหัสลับดาวินชี ที่ แดน บราวน์ให้ความสำคัญ คือ การสร้างรหัสและการตีความรหัส  จนอาจกล่าวได้วิธีการนี้นับเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างเรื่องและการคลี่คลายเรื่องเลยก็ว่าได้  ดังที่เราจะเห็นว่าบราวน์สร้างกลุ่มตัวละครหลักของเขาโดยแบ่งหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างรหัส ไม่ว่าจะเป็นลีโอนาโด ดาวินชี ศิลปินผู้ชอบซ่อนความลับต่างๆไว้ในงานของเขา กับฌาร์ค  โซนิแยร์ ภัณฑารักษ์ผู้อุทิศตนเพื่อศิลปะและการถอดรหัสลับที่ซ่อนอยู่ในภาพศิลปะ นอกจากนี้ ยังชอบเล่นเกมส์ถอดรหัส เกมส์ภาษา และหลงใหลการไขปริศนาต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัส  เช่น โรเบิร์ต  แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านศาสนวิทยาสัญลักษณ์  โซฟี  เนอเวอ เจ้าหน้าที่ถอดรหัสของฝรั่งเศส และ เซอร์ลี  ทีบบิง นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ  
ทั้งนี้  ผู้ศึกษาเห็นว่าลักษณะและความหมายของสัญญะที่ปรากฏในเรื่องมีความสอดคล้องกับสัญญะในความคิดของนักภาษาศาสตร์ชื่อ เฟอร์ดินาน เดอ เซอร์ซูส์ (Ferdinand de Saussure) ที่แบ่งความหมายของสัญญะ (sign) ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตัวหมาย (a signifier หรือ sound-image) และ ความหมาย (a signified หรือ concept)  ซึ่งสัญญะจะมีการแปรเปลี่ยน ไม่ใช่เพราะมีความหมายอยู่ในตัวเอง  แต่เปลี่ยนเพราะความสัมพันธ์กับระบบภาษาในช่วงเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ ความหมายในภาษาจึงมีลักษณะสัมพันธ์หรือขึ้นอยู่กับบริบทของสัญญะนั้น  สัญญะไม่มีความหมายในตัวเอง แต่สัญญะอยู่ในระบบและมีความหมาย เพราะมีความแตกต่างจากสัญญะอื่นๆ 
เมื่อแดน บราวน์กำหนดให้สัญญะหรือรหัสที่ปรากฏในเรื่องมีความหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งความหลากหลายที่ปรากฏช่วยทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์และความลึกลับเพิ่มมากขึ้น  เขามิได้สร้างรหัสหรือการตีความเพียงรูปแบบเดียว แต่เขาจงใจที่จะเล่นกับรหัสและการถอดรหัสอันหลากหลาย โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและนำเสนอการสร้างและถอดรหัสที่ผันแปรอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการถอดรหัสตัวเลขที่เรียงตัวกันอย่างกระจัดกระจาย คือ 13-3-2-21-1-1-8-5  เมื่อนำมาจัดเรียงใหม่ด้วยการถอดรหัสตัวเลขระบบฟิโบนัชชี[1]จะเปลี่ยนเป็น 1-1-2-3-5-8-13-21  การใช้อนากรามหรือการสลับอักษรในการพยายามสื่อสารข้อความอันเป็นความลับ เช่น ฌาร์ค  ซินิแยร์ ทิ้งรหัสลับไว้ที่ศพของเขาอันมีข้อความที่ว่า O, Draconian devil กับ O, Lame Saint ซึ่งเมื่อนำมาถอดด้วยอนากรามจะได้ความหมายใหม่ว่าLeonardo da Vinci กับ  The Mona Lisa หรือการถอดรหัสอักษรแอทแบช [2] โดยถอดรหัสคำว่า B-P-V-M-Th เป็น S-O-F-I-A เป็นต้น
            นอกจากนี้ เดน บราวน์ยังใช้สหบทเป็นเครื่องมือในการสร้างความหมายให้กับนวนิยายของเขาด้วย กล่าวคือเขาใช้การรวบรวมตัวบทอื่นๆหรือจากวาทกรรมที่เคยมีอยู่แล้ว  ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งความหมายดั้งเดิมติดมาด้วย  การผสานและการถักทอจนก่อให้เกิดสหบทใหม่นี้เป็นเหมือนภาพปะติดปะต่อแบบโมเสก (mosaic) ของคำพูดที่มาจากตัวบทอื่นๆในลักษณะการหลอมรวมและการแปรรูปของตัวบทอื่นๆ เราจะพบว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะประหนึ่งการตัดต่อข้อความหรือความคิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตำนานของสตรีศักดิ์สิทธิ์ แนวคิดทางคริสต์ศาสนา หรือการตีความเกี่ยวกับผลงานศิลปะต่างๆ มาจัดเรียงใหม่จนเกิดภาพโมเสกใหม่ขึ้นมา  ทั้งนี้ การนำข้อความและเรื่องราวต่างๆมาจัดเรียงใหม่ในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างหนักของแดน บราวน์ในการศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตำนานเกี่ยวกับเกรล ความเชื่อทางศาสนา ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาชีวิตและผลงานของดาวินชี และรวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบของรหัสและการถอดรหัสแบบต่างๆ  โดยนำความรู้ที่ได้มาคัดสรรและตัดตอนโดยการกำหนดและวางโครงเรื่องอย่างเป็นแบบแผนเป็นอย่างดี ในการสร้างปริศนาและคลายปริศนาต่อไปเรื่อยๆจนจบเรื่อง การวางแผนและจัดเรียงข้อความและความรู้ที่มีอยู่เป็นอย่างดีนี้ช่วยทำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหลและชวนติดตาม จนสามารถสร้างความสมจริงให้กับเรื่อง  และสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้ผู้อ่านได้ เพราะเรื่องราวที่ปรากฏในเรื่องเป็นประดุจเส้นทางแปลกใหม่ มหัศจรรย์ที่ชวนให้ร่วมค้นหาและเปิดเผยความลับร่วมกับตัวละคร
            สำหรับการเลือกตัวบทหรือวาทกรรมต่างๆที่แดน บราวน์นำมาประกอบสร้างในเรื่องนี้ บางครั้งเขาก็ใช้เพื่ออธิบายและการดำเนินเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่าน  แต่ขณะเดียวกันเขาก็จงใจที่จะนำตัวบทหรือวาทกรรมที่ตรงข้ามกันเหล่านี้มาไว้ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดการปะทะกันทางอุดมการณ์และคำพูดที่เคยมีมาในอดีต  อีกทั้งเขายังใช้เพื่อเป็นการล้อเลียน (parody) ซึ่งวิธีการต่างๆนี้นับเป็นความจงใจที่จะสร้างการท้าทายและไม่ให้ความร่วมมือกับสิ่งที่กำลังล้อเลียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพิจารณาตัวบทหรือวาทกรรมที่ปรากฏใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สัญญะของอดีตในมิติของการล้อเลียนของเขา 
ด้วยเหตุนี้ วิธีการดังกล่าวจึงเป็นวิธีการสำคัญที่แดน บราวน์นำมาใช้ในการสร้างการปะทะกันทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงระหว่าง 2 แนวความคิด คือ ความเชื่อเรื่องสตรีศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อของคริสต์ศาสนาที่พยายามจะลดคุณค่าของสตรีศักดิ์สิทธิ์ลง ซึ่งการปะทะกันในกระแสความคิด 2 สายนี้ปรากฏอยู่ตลอดเรื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยเป็นลำดับ  ตัวอย่างของการปะทะกันระหว่างความคิดทั้ง 2 แนวที่พบ เช่น  ตอนที่แลงดอน โซฟี และทีบบิงคุยกันเรื่องแมรี่  แม็กดาลีนที่ว่า

“…นี่คือผู้หญิงที่อาจบดขยี้คริสตจักรให้ราบคาบด้วยมือของเธอเพียงผู้เดียว …’เธอเป็นใครคะโซฟีถาม ผู้หญิงคนนั้นทีบบิงตอบ คือแมรี่ แม็กดาลีน ครับที่รักโซฟีหันกลับมา คนที่เป็นโสเภณีน่ะหรือคะทีบบิงหายใจขัดๆราวกับคำคำนี้ทำร้ายเขาโดยตรง แม็กดาลีนไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ ความเข้าใจผิดแย่ๆแบบนั้นเป็นผลตกทอดมาจากการรณรงค์ป้ายสีคริสตจักรยุคแรกๆได้เริ่มขึ้น  คริสตจักรจำเป็นต้องทำลายชื่อเสียงของแมรี่  แม็กดาลีน เพื่อปกปิดความลับที่เป็นอันตรายของเธอ - บทบาทของเธอในฐานะโฮลี่เกรล’ ” (หน้า 288) 

นอกจากนี้ วิธีการล้อเลียน (parody) ที่บราวน์ก็นำมาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ทางความคิด  อันเป็นวิธีการการสื่อความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยความลับของโฮลีเกรล  ซึ่งการล้อเลียนที่น่าสนใจในเรื่องคือ การล้อความเชื่อเกี่ยวกับภาพเดอะลาสซัปเปอร์ของดาวินชี ซึ่งบราวน์นำมาชี้ให้เห็นความหมายใหม่ที่ซ่อนอยู่ ดังตอนหนึ่งว่า

โซฟีเดินเข้าไปใกล้ภาพเขียนด้วยความงุนงง  กวาดตาดูร่างทั้งสิบสาม มีพระเยซูคริสต์อยู่ตรงกลาง สาวกหกคนอยู่ทางซ้ายของพระองค์ และอีกหกคนอยู่ทางขวา ผู้ชายทั้งนั้นโซฟียืนยัน โซฟีพินิจดูร่างที่นั่งทางขวาถัดจากพระเยซู  ขณะที่พิเคราะห์ใบหน้าและรูปร่างของบุคคลผู้นั้น  ความประลาดใจก็แผ่ซ่าน บุคคลผู้นั้นมีผมสีแดงปล่อยสยาย มือประสานกันอยู่ดูบอบบาง และมีร่องรอยบ่งชี้ว่ามีทรวงอก โดยไม่ต้องสงสัย นั่นคือผู้หญิงโซฟีไม่อาจละสายตาจากร่างผู้หญิงที่นั่งเคียงข้างพระคริสต์ได้  เดอะลาสต์ซัปเปอร์ต้องประกอบด้วยผู้ชายสิบสามคนนี่นะ ผู้หญิงคนนี้เป็นใครกัน ถึงแม้โซฟีเคยเห็นภาพเขียนคลาสสิกภาพนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เธอไม่เคยสังเกตเห็นความแตกต่างที่กระจ่างชัดอย่างนี้มาก่อนเลยสักครั้งเดียว” (หน้า 283) 

            อนึ่ง การปะทะกันของความคิดและอุดมการณ์ที่บราวน์นำเสนอนั้นจะสังเกตได้ว่าบราวน์ไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้ตัวละครในเรื่องส่วนใหญ่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับความเชื่อของคริสต์ศาสนาเพื่อทำหน้าที่ปกป้องและให้ข้อมูลที่เป็นจริง รวมทั้งเปิดเผยความลับของผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์และโฮลีเกรลที่ถูกบิดเบือนมาเป็นระยะเวลานาน แต่เขาสร้างให้ตัวละครเกือบทุกตัวทำหน้าที่ให้มุมมองและข้อมูลกับผู้อ่านที่ต่างกันออกไป เขาสลับหน้าที่ให้ตัวละครเกือบทุกตัวค่อยๆเผยความลับออกมา อีกทั้ง ชิ้นส่วนของความลับและเรื่องราวที่ผู้อ่านรู้มาจะค่อยๆเก็บรวบรวมและนำมาประกอบกันจนท้ายที่สุดจะได้ภาพความจริงที่สมบูรณ์ กระบวนการสร้างเรื่องในลักษณะนี้จึงนับเป็นวิธีที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลากับความลับอันใหม่ที่เปิดเผยเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้นและสำคัญขึ้น นอกจากนี้ แดน บราวน์ยังปรับเปลี่ยนการใช้น้ำเสียงของตัวละครที่นำเสนอการปะทะทางความคิดก็แตกต่างและหลากหลายออกไปมีทั้งการสอน การเกลี่ยกล่อม ความงุนงง  การตั้งคำถาม และความโกรธแค้น เป็นต้น  อาทิ  แลงดอนสอนโซฟีเกี่ยวกับเรื่องเดอะไพรเออรี่ว่า

โซฟีครับ แลงดอนพูด ธรรมเนียมของเดอะไพรเออรี่ที่บุชาเทพีเรื่อยมานั้นมีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า บุรุษทรงอำนาจในคริสตจักรยุคแรกเริ่ม หลอกลวงโลกด้วยการแพร่กระจายเรื่องโกหกหลอกลวงที่ลดคุณค่าของสตรีและสร้างเรื่องเข้าข้างฝ่ายบุรุษ .. เดอะไพรเออรี่เชื่อว่าพระเจ้าคอนสแตนตินและเหล่าผู้สืบทอดราชสมบัติของพระองค์ที่เป็นบุรุษได้เปลี่ยนแปลงโลกนี้จากลัทธิเพเกินที่สตรีเป็นใหญ่ไปเป็นคริสจักรที่บุรุษเป็นใหญ่  ด้วยการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์คือปีศาจและกำจัดเทพีออกไปจากศาสนายุคใหม่ตลอดกาล  (หน้า 144)          

หรือความงุนงงเมื่อโซฟีทราบความจริงเกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในภาพเดอะลาสซัปเปอร์ของดาวินชีว่า “…โซฟีมองลงไปที่ภาพ แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่องพบว่าทุกคนที่โต๊ะอาหารต่างมีแก้วไวน์ของตนเอง  รวมทั้งพระคริสต์ด้วยสิบสามแก้ว ยิ่งกว่านั้นแก้วที่ว่าเป็นถ้วยใบเล็กๆไม่มีก้าน  และทำด้วยแก้ว ไม่มีจอกในภาพเขียน  ไม่มีโฮลี่เกรล… ” (หน้า 276 )           
นอกจาก แดน บราวน์จะใช้สหบทในการสร้างเรื่องแล้ว ผู้ศึกษาพบว่า เขายังใช้สหบทเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมทิศทางการอ่านของผู้อ่านด้วย เนื่องจากหากพิจารณาอย่างละเอียดจากเรื่องจะพบว่ารหัสทุกตัวที่ปรากฏในงานวรรณกรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพ และรหัสของสหบทที่ปรากฏเหล่านี้ก็ช่วยควบคุมทิศทางการอ่านด้วย  บราวน์ได้สร้างตัวบทขึ้นมาจากรหัสและสัญญะเพื่อถ่ายทอดและสื่อสารความคิดของเขาไปยังผู้อ่าน  แม้บางครั้งเราจะพบว่ารหัสและสัญญะต่างๆที่ปรากฏมีความหลากหลาย แม้บางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็ดูประหนึ่งว่าไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างเด่นชัดมากนัก  หากเมื่อนำสัญญะหรือรหัสที่ได้มาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งจะพบว่า รหัสทั้งหมดไม่ได้นำมาใช้อย่างเสรีหรือไร้ขอบเขตควบคุม  แต่บราวน์ได้วางแผนในการกำหนดหน้าที่  ตำแหน่งและการปรากฏของสัญญะแต่ละตัวมาเป็นอย่างดี ผู้ศึกษาพบว่ารหัสและสหบทที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นสหบทโดยตรงหรือสหบทแอบแฝงไม่ได้ควบคุมให้ตัวละครเดินตามเพื่อไขความลับต่างๆเท่านั้น  แต่ควบคุมทิศทางการอ่านและการตีความของผู้อ่านไปพร้อมๆกันด้วย จึงทำให้ผู้อ่านไม่มีโอกาสที่จะแตกแถวออกไปจากกรอบที่บราวน์กำหนดได้  เพราะการตีความสัญญะตัวหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อไขความลับจากสัญญะตัวที่มาก่อนได้เท่านั้น  แม้ว่าบางครั้งจะดูประหนึ่งว่าแดน บราวน์ ให้อิสระแก่สัญญะแต่ละตัวให้มีความหมายในตัวเองและอิสระในตัวเอง  หากแต่เมื่อนำความหมายของสัญญะที่เป็นอิสระแต่ละตัวมาประกอบกันก็จะก่อให้เกิดภาพที่เป็นเอกภาพอย่างสมบูรณ์  เนื่องจากสัญญะทั้งหมดนั้นบราวน์สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความคิดหลักของเรื่องในการเสนอความลับของโฮลี่เกรล และการมีตัวตนในความหมายใหม่ของแมรี่  แม็กดาลีน ซึ่งต่างจากความเชื่อเดิมที่ปรากฏในคริสต์ศาสนาอย่างสิ้นเชิง
เมื่อพิจารณาและวิเคราะห์ให้ลึกลงไปในเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอเรื่องของแดน  บราวน์จะพบว่าเกือบตลอดทั้งเรื่องเขาพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญหรือคุณค่าของสรรพสิ่งในโลกนี้ว่าถูกกำหนดโดยผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่สร้างจินตนาการความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงว่า  วัฒนธรรมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรหัสคู่ตรงข้ามของผู้มีอำนาจ  แต่ละการเลียนแบบที่แบ่งเป็นเพศชายและเพศหญิงที่เป็นกฎเกณฑ์นั้น  ผู้ชายมักมีรหัสของผู้ชาย  ในขณะที่ผู้หญิงไม่มี  ดังตอนหนึ่งที่ว่า

“…พลังและศักยภาพในการสร้างชีวิตของเพศหญิงนั้น  ครั้งหนึ่งเคยนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  แต่มันเป็นการคุกคามต่อการก้าวขึ้นสู่อำนาจของคริสตจักรซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  ดังนั้นสตรีผู้ศักดิ์จึงถูกตราหน้าว่าเป็นปีศาจและถูกเรียกว่าเป็นผู้มีมลทิน ผู้ชายต่างหาก  ไม่ใช่พระเจ้า ที่เป็นผู้สร้างแนวคิดเรื่อง บาปดั้งเดิมขึ้นมา โดยอ้างว่าอีฟลิ้มรสแอ๊ปเปิ้ลและเป็นเหตุให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ตกต่ำ  ผู้หญิงซึ่งครั้งหนึ่งเป็นผู้ให้ชีวิตผู้ศักดิ์สิทธิ์  ขณะนี้กลายเป็นศัตรู” (หน้า 278)

การนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆที่ถูกกำหนดผ่านวาทกรรมหรือมุมมองของผู้ชายเป็นหลักดังที่ให้อรรถาธิบายไปแล้วข้างต้น นับเป็นความพยายามของแดน  บราวน์ที่จะเปิดพื้นที่และสร้างความสำคัญให้กับแมรี่  แม็กดาลีน การกระทำของเขาในครั้งนี้จึงเป็นการถักทอตัวบทในส่วนนี้ขึ้นมาใหม่โดยการอ้างตำนานและความเชื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับแมรี่ แม็กดาลีน ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างภาพและเรื่องราวของผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์ในความหมายพิเศษ รวมทั้งให้ความสำคัญและอาจนับเป็นการสถาปนาความเชื่อในเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่  เช่น  การอ้างถึงพระประวัติ ฉบับของฟิลิป เพื่อแสดงให้เห็นว่าแมรี่ แม็กดาลีน เป็นภรรยาของพระเยซูดังตอนที่ว่า

และเพื่อนแห่งพระผู้ช่วยให้รอดคือ แมรี่ แม็กดาลีน พระคริสต์รักเธอมากกว่าอัครสาวกอื่นทั้งมวล และทรงเคยจุมพิตเธอที่โอษฐ์อยู่บ่อยครั้ง อัครสาวกอื่นขุ่นเคือง ด้วยเหตุนี้ พวกเขากล่าวกับพระองค์ว่า ทำไมพระองค์จึงรักเธอมากกว่าพวกเราทุกคน’… คำว่า เพื่อน ในยุคนั้น หมายถึงคู่แต่งงาน  (หน้า 286-287)

หรือในตอนที่ทีบบิงอธิบายให้โซฟีฟังถึงนักบุญปีเตอร์อิจฉาแมรี่ แม็กดาลีนที่เธอเป็นคนสำคัญในคริสต์จักรมากกว่าเขา ดังข้อความที่ว่า

“…แมรี่  แม็กดาลีน  ปีเตอร์อิจฉาเธอ การเดิมพันครั้งนี้ใหญ่กว่าความรัก ตรงช่วงนี้ในพระประวัติพระเยซูทรงสงสัยว่าพระองค์คงจะทรงถูกจับและตรึงไม้กางเขนในไม่ช้า จึงทรงให้คำแนะนำกับแมรี่  แม็กดาลีน ถึงวิธีการดูแลศาสนจักรของพระองค์หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ ด้วยเหตุนี้ปีเตอร์จึงแสดงความไม่พอใจที่จะต้องมารับบทรองจากผู้หญิง ผมกล้าพูดได้เลยว่า  ปีเตอร์เป็นพวกดูหมิ่นเพศตรงข้าม” (หน้า 288)

แม้ว่ากลวิธีที่บราวน์นำมาใช้มีทั้งการอ้างถึงตำนานหรือบันทึกเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังมีการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยความคิดใหม่  หรือการแสดงให้เห็นว่าสัญญะ รหัสและความหมายของผู้หญิงที่ปรากฏส่วนใหญ่ถูกให้ค่าโดยผู้ชายเป็นหลักก็ตาม  กลวิธีดังกล่าวข้างต้นได้สร้างความไม่คุ้นชินและความแปลกให้กับผู้อ่าน ซึ่งความพยายามสร้างความแปลกใหม่อันไม่คุ้นชินของบราวน์นี้อาจส่งผลกระตุ้นให้ผู้อ่านโดยเฉพาะผู้อ่านสตรีเริ่มตั้งคำถามและกลับมาทบทวนถึงสถานภาพของตนในปัจจุบัน  อันรวมไปถึงระบบคุณค่าที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่ามีความเป็นธรรมเพียงพอแล้วหรือไม่  หรือสิ่งที่เราถูกบังคับให้ยอมรับนี้สร้างขึ้นมาจากอคติของเพศชายที่ต้องการสร้างความชอบธรรมเชิงอำนาจในการปกครองเพศหญิง

สหบท  :  กุญแจสำหรับไขปริศนาของผู้อ่าน

                เมื่อรหัสและสัญญะต่างๆเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้แต่งในการสร้างเรื่องและให้ความหมายต่างๆในนวนิยายเรื่องนี้ การอธิบายและตีความสัญญะหรือรหัสลับที่ซ่อนไว้ในเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ จึงเป็นกุญแจสำหรับผู้อ่านด้วยเช่นกัน ผู้ศึกษาเห็นว่าความหมายของรหัส หรือสัญญะหนึ่งๆ จะมีความหมายไม่เหมือนกัน  แต่จะปรับเปลี่ยนความหมายไปตามบริบทที่แวดล้อมอยู่หรือเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น ความหมายของเพนทาเคิล (รูปดาว 5 แฉก) ที่โซนิแยร์วาดไว้บนหน้าท้องของเขา โดยใช้สะดือเป็นจุดศูนย์กลาง  จะพบว่าแต่เดิมเพนทาเคิลเป็นตัวแทนของเพศหญิง ซึ่งหมายถึง หญิงศักดิ์สิทธิ์หรือ เทพีแห่งสวรรค์  แต่ต่อมาเมื่อภาพยนตร์ฮอลลิวูดนำสัญญะนี้ไปใช้ทำให้ความหมายดั้งเดิมถูกเปลี่ยนไปมาก จนกลายเป็นสัญญะของปีศาจไป  และต่อมาเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกานำไปติดไว้ที่ปีกขอเครื่องบินรบในช่วงสงครามโลก ความหมายของเพนทาเคิลจึงเปลี่ยนไปเป็นตัวแทนของสงครามและความรุนแรง  
ในที่นี้ความหมายของรหัสและสัญญะมิได้ปรับเปลี่ยนความหมายไปเฉพาะเมื่อเวลาหรือบริบทแวดล้อมเปลี่ยนไปเท่านั้น  แต่เมื่อสัญญะตัวหนึ่งปรากฏตัวอย่างโดดเดี่ยวอาจสื่อความหมายหนึ่ง  แต่เมื่อปรากฏประกอบกับสัญญะอื่น  ความหมายก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน  ด้วยเหตุนี้ การศึกษาและให้ค่าความหมายหรือแปลความหมายของสัญญะที่ปรากฏ  ผู้ศึกษาจึงจำเป็นต้องพิจารณาและตีความบริบทหรือสัญญะแวดล้อมอื่นๆ ก่อนที่จะแปลความหรือถอดรหัสสัญญะเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตีความ ดังตัวอย่างในเรื่องนี้เช่นภาพดอกกุหลาบ ในที่นี้หมายถึงโรซา รูโกซา กุหลาบพันธ์เก่าแก่ที่สุด ซึ่งอาจมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ลาเฟลอร์เดอเซอเกรส์” (ดอกไม้แห่งความลับ) แต่เมื่อดอกกุหลาบมีตัวอักษร P.S. ประกอบจะมีความหมายต่างออกไป ซึ่งแลงดอนอธิบายว่า เฟลอร์เดอลิส์ เมื่ออยู่รวมกับอักษรย่อ P.S. เป็นเครื่องหมายทางการของกลุ่มภารดร เป็นตราของเขา เป็นโลโกของเขา (หน้า 130)
อนึ่ง  การสร้างหรือการถักทอตัวบทเล็กๆและวาทกรรมอันหลากหลายเป็นจำนวนมากในการสร้างเรื่องของแดน บราวน์ นับเป็นการเรียกร้องความรู้พื้นฐานจากผู้อ่านอย่างมากเพื่อจะได้ติดตามและเข้าใจเรื่องได้โดยตลอด  แต่ข้อสังเกตอันน่าสนใจที่พบ คือ เขาก็ทราบเช่นเดียวกันว่านวนิยายเรื่องนี้ของเขาเรียกร้องความรู้จากผู้อ่านอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับความเชื่อและตำนานของสตรีศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อทางคริสต์ศาสนา และรวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งเขาเองก็ทราบเช่นเดียวกันว่ามีผู้อ่านน้อยคนที่จะมีความรู้เพียบพร้อมในด้านต่างๆครบถ้วน  ดังนั้นจึงพบว่าหากเรื่องราวส่วนใดที่เขาคิดว่าอยู่นอกเหนือความรู้ของผู้อ่านทั่วไปเขาจะให้อรรถาธิบายในเรื่องนั้นๆอย่างละเอียด เช่น การอธิบายเรื่อง “PHI” หรือสัดส่วนแห่งสวรรค์ เรื่องสมาคมลับไพรเออรี่ออฟไซออน ความเป็นมาและความเชื่อของโอปุสเดอี หรือเรื่องโฮลี่เกรล เป็นต้น  แต่ถ้าเรื่องใดที่เขาเห็นว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ของเขาทราบเป็นอย่างดีแล้ว  เขาก็จะกล่าวถึงเพียงสั้นๆ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซู  การทำเช่นนี้ของเขานับว่าช่วยปรับพื้นความรู้ของผู้อ่านให้มีเท่ากันและมากพอที่จะเข้าใจและสนุกไปกับเรื่องราวที่เขาต้องการนำเสนอได้
นอกจากนี้ กลวิธีการนำเสนออันแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความคิด 2 กระแส  แม้ว่าบราวน์จะเลือกให้ความสำคัญไปที่อีกกระแสหนึ่งมากกว่าก็ตาม  แต่การปะทะทางความคิดต่างๆนั้นช่วยสร้างโลกทัศน์และมุมมองที่แปลกไปจากเดิมให้กับผู้อ่าน  ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเกิดคำถามขึ้นในใจขณะอ่านด้วยว่า ความเชื่อใหม่ที่บราวน์นำเสนอในที่นี้ ซึ่งแตกต่างจากที่เคยรับรู้และเชื่อถือมานานกว่าสองพันปี คงไม่มีอำนาจมากพอที่จะลบล้างความเชื่อเดิม  แต่ก็ก่อให้เกิดคำถามและความเคลือบแคลงสงสัยบางอย่างขึ้น ทั้งนี้  ข้อสรุปของการปะทะสังสรรค์ทางความคิดนั้นบราวน์มอบให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านของเขาว่าเลือกที่เชื่อแนวทางใดมากกว่ากัน  แต่ทั้งนี้การตัดสินใจเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผู้อ่านอาจจำเป็นต้องอาศัยวิจารณญาณของตนในการเลือก  โดยอาจต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าที่ได้จากบราวน์เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่เป็นธรรมในแนวคิดทั้ง 2 กระแสก่อนที่จะตัดสินใจก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ศึกษาพบว่าแม้สหบทจะเป็นทั้งเครื่องมือในการสร้างงานของผู้เขียนและเป็นกุญแจในการทำความเข้าใจตัวงานวรรณกรรมของผู้อ่าน แต่เนื้อหา เรื่องราว และระดับของความเข้าใจระหว่างผู้เขียน หรือแม้แต่ในหมู่ของผู้อ่านเรื่องอาจแตกต่างกันออกไป เพราะเรื่องราวที่ประกอบสร้างด้วยตัวบทเล็กๆและวาทกรรมย่อยๆเหล่านี้ยังคงผูกพันกับความหมายที่แฝงมาพร้อมกับสังคม วัฒนธรรม และแนวคิดที่มาจากต้นกำเนิดอย่างไม่อาจเลี่ยงได้  ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้อ่านที่มีภูมิหลังที่ต่างกัน อาจตีความหรือเข้าถึงความหมายของเรื่องได้ต่างกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้อ่านชาวไทยที่อยู่ในวัฒนธรรม และสังคมที่ต่างจากแดน บราวน์ และหากผู้อ่านมิได้เป็นผู้ที่มีภูมิหลังหรือขาดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ของดาวินชี  ขาดความเข้าใจในความเชื่อและตำนานทางคริสต์ศาสนา หรือแม้แต่ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องราวของตำนานจอกศักดิ์สิทธิ์และแมรี่  แม็กดาลีน  วรรณกรรมเรื่องนี้อาจเป็นเพียงบทเรียนหนึ่งที่เปิดโลกของผู้อ่านออกไปสู่เรื่องราวที่แปลกใหม่และน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ถ้าผู้อ่านเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมต้นกำเนิด หรือมีภูมิหลังและความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่แดน บราวน์อ้างถึง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ประวัติศาสตร์ศิลป์ และตำนานต่างๆ ก็อาจจะเกิดปฏิกิริยาต่องานวรรณกรรมเรื่องนี้ต่างออกไป เพราะนวนิยายเรื่องนี้มีประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆเหล่านื้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุนี้ ความรู้ของผู้อ่าน่อตัวบทหรือวาทกรรมต่างๆที่แดน บราวน์คัดสรรมาเรียงร้อยและสรรค์สร้างนวนิยายเรื่องนี้ จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้อ่านใช้เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมต่อและร้อยรัดเพื่อลบช่องว่างระหว่างตัวบทและวาทกรรมต่างๆเหล่านี้  ในการสร้างภาพความเข้าใจของตนขึ้นมาใหม่ ซึ่งภาพโมเสกที่เกิดขึ้นใหม่ของผู้อ่านเหล่านี้อาจมิใช่ภาพเดียวกัน หรืออาจไม่ได้เป็นภาพเดียวกับที่แดน บราวน์ต้องการนำเสนอในทุกรายละเอียดก็เป็นได้ เนื่องจากสหบทเปิดโอกาสให้ผู้อ่านมีอิสระในการเชื่อมต่อถักทอตัวบทและวาทกรรมต่างๆที่ปรากฏในตัวบทในแนวทางใหม่ๆอยู่เสมอ  
การศึกษานวนิยายเรื่องนี้โดยใช้แนวคิดสหบทก่อให้เกิดมุมมองความคิดและมิติอันหลากหลายที่ซ่อนอยู่ในตัวบท ทั้งในด้านการสร้างงานและทิศทางการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาตัวงานคงจะไม่สามารถพิจารณาแต่เฉพาะเพียงภาพรวมเท่านั้น  แต่ต้องให้ความสำคัญไปในทุกส่วนประกอบของตัวบทไม่ว่าจะเป็นสัญญะ คำ ตัวบทที่มีมาก่อน  เพื่อที่จะพิจารณาและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวบทหรือสหบทที่เปิดเผยและสหบทที่ซ่อนเร้น ซึ่งส่วนประกอบต่างๆเหล่านี้ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างงาน ขณะเดียวกันก็ช่วยในการตีความตัวบท  และเผยแสดงคุณค่าและความหมายที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในเรื่องทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  กลวิธีการศึกษางานโดยแนวคิดสหบทนับเป็นวิธีการอ่านละเอียดที่นอกจากทำให้มองเห็นและเข้าถึงแนวคิดที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอแล้ว  ยังช่วยให้ผู้อ่านผูกพันใกล้ชิดกับตัวบทมากขึ้น จนสามารถดื่มด่ำกับเข้าถึงกระบวนการสร้างงานของผู้เขียนอย่างลุ่มลึกมากขึ้นด้วย  

--------------------------------------------





[1] การเรียงแบบฟิโบนัชชี คือ เลขแต่ละตัวจะเท่ากับจำนวนรวมของตัวเลข 2 ตัวที่มีมาก่อน
[2] รหัสแอทแบชเป็นรหัสอักษรที่มีอายุย้อนไปถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล และปัจจุบันนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนเรื่องวิธีแทนที่แบบหมุนเวียนขั้นพื้นฐาน  รหัสอักษรแอทแบชเป็นรหัสของยิวที่ใช้โดยทั่วไป เป็นรหัสแทนที่แบบง่ายๆ ที่ใช้ตัวอักษรฮีบรูยี่สิบสองตัว ในรหัสอักษรแอทแบช ตัวอักษรแรกจะถูกแทนที่ด้วยอักษรตัวสุดท้าย ตัวที่สองจะถูกแทนที่ด้วยตัวรองสุดท้าย และเป็นเช่นนี้ต่อๆไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น